ถอดวิธีคิดและการปรับตัวธุรกิจเกสต์เฮาส์ในภูเก็ต “มีตั่งนั่งนอน” หลังโควิดระบาด

อ๋อง นิธิพันธ์ วิประวิทย์ (สุดยอดแฟนพันธุ์แท้ราชวงศ์จีน) และกุ๊กไก่ อลิสสา แซ่ซิม (นักล่าฝันแห่งบ้าน AF2) เล่าให้เราฟังว่า พวกเขาเริ่มทำธุรกิจเกสต์เฮาส์มาได้ 5 ปีก่อนที่โควิด-19 จะระบาดจนต้องพลิกมุมหาทางทำมาหาเลี้ยงชีพที่เปลี่ยนไปจากเดิม 

เดิม กุ๊กไก่ก็ทำร้านชาญแอนติก เฮาส์กับครอบครัว เป็นร้านขายของเก่า ขายสินค้าที่มีคุณค่าทางศิลปะ จากนั้นทั้งอ๋องและกุ๊กไก่ก็เริ่มคิดกันว่าจะหาอะไรทำที่ภูเก็ตได้บ้าง ทั้งคู่ก็เลือกหาทำเลเพื่อทำที่พัก เป็นเกสต์เฮาส์มีห้องพักจำนวน 11 ห้อง กุ๊กไก่เล่าว่าบริเวณที่เลือกนี้ หาของกินง่าย จะเดินทางไปแหลมพรมเทพ ไปหาดป่าตองก็ขับรถวิ่งตรงขึ้นไป เดินทางได้สะดวกไม่ว่าจะออกไปทะเลหรือจะเข้าไปในเมือง

นิธิพันธ์ วิประวิทย์ (อ๋อง) (ซ้าย), อลิสสา แซ่ซิม (กุ๊กไก่) (ขวา) เจ้าของธุรกิจเกสต์เฮาส์และบ้านเช่ามีตั่งนั่งนอน

ด้านฝั่งตรงข้ามเกสต์เฮาส์นี้ เป็นที่โล่งให้จอดรถได้ แต่ปัจจุบันกลายเป็นตลาดนัดชีวาที่เปิดขึ้นหลังจากทำเกสต์เฮาส์ได้ราว 6 เดือน ปกติคนที่มาพักส่วนใหญ่เป็นคนที่ทำงานในภูเก็ต บ้างก็พักเพื่อจะเดินทางไปสนามบิน พอมีตลาดมาเปิด นักท่องเที่ยวก็หลั่งไหลมาด้วย มักมีคนบอกว่าตลาดนัดชีวาเป็นตลาดนัดตู้คอนเทนเนอร์ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ คนก็มาเยี่ยมเยือนเพราะว่าชอบกิน-เที่ยว 

หลังจากนั้น อ๋องและกุ๊กไก่ก็ขยายกิจการด้วยการทำบ้านให้เช่าพร้อมที่จอดรถ ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นในราคาที่ย่อมเยาว์ กิจการในช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดจึงกลายเป็นเกสต์เฮาส์ 11 ห้อง บ้าน 5 หลัง คนสามารถเข้าพักได้ตั้งแต่ 2-8 คนต่อ 1 หลัง

โควิดระบาดต้องปรับตัว คืนบ้านเช่า เปลี่ยนห้องพักให้เช่าแบบรายวันเป็นรายเดือน

การท่องเที่ยวในภูเก็ต 2 ปีก่อนหน้านี้ถือว่ามีภาพรวมที่ดี แต่ธุรกิจรายย่อยก็มีการแข่งขันสูงขึ้น โรงแรมสร้างเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กุ๊กไก่เล่าว่ากรณีของบ้านให้เช่าและทำเกสต์เฮาส์นี้ ผลกำไรไม่ได้อยู่ที่ค่าโรงแรมโดยเฉพาะ เนื่องจากเมื่อมีรายได้ส่วนหนึ่งก็นำมาผ่อนบ้าน มีทั้งของกงสี ส่วนตัว และเช่าคนอื่น ตอนโควิดระบาดก็คืนบ้านที่เช่าไว้หมดเลย จากเดิมที่เคยให้พักเป็นรายวัน ก็ปรับมาเป็นให้เช่าแบบรายเดือน รายได้ก็พอให้จ่ายแบบไม่ให้ขาดสภาพคล่อง ไม่ให้เป็นภาระและก็หาอาชีพอื่นทำเพิ่ม 

ตัวอย่างห้องพัก มีตั่งนั่งนอน

มีการลดค่าเช่าเกสต์เฮาส์ ตอนนี้กลายเป็นต้องทำธุรกิจห้องเช่ารายเดือน คนที่เคยจ่ายได้ 5,000 บาทต่อเดือน ก็จ่ายได้แค่ 3,500 รายได้ผู้บริโภคลดลง รายได้คนทำธุรกิจก็ลดลงเช่นกัน แต่เมื่อมีกระแสไลน์แมน กระแส food delivery เข้ามา มีคนค้าขายออนไลน์เพิ่มขึ้น ทางกุ๊กไก่และอ๋องก็เริ่มรีโนเวทห้องข้างนอก เปิดพื้นที่ให้คนเช่าเพิ่มขึ้น คนที่มาเช่าส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ถูกปลดจากงานที่พร้อมจะลงทุนแต่ก็ไม่ได้มีทุนสูงมากนัก 

กุ๊กไก่เล่าถึงร้านขายของเก่าที่เธอทำอยู่ว่า คนเดี๋ยวนี้ลำบากมาก เช่น ซากปั๊มน้ำก็มีคนนำมาขาย เธอขายของในราคาที่ถูกลงมากในช่วงที่ภูเก็ตมีการปิดตำบล ซึ่งค้าขายออนไลน์ก็ถือว่ายังมีทางรอดอยู่ ตอนนี้ก็พอมีลูกค้าประจำอยู่บ้าง ปัจจุบันก็เหลือให้พักเป็นรายวัน 1 ห้อง กับบ้าน 1 หลัง ที่เหลือให้พักเป็นรายเดือน ทำให้รายได้พออยู่ได้ แค่เพียงครอบคลุมค่าใช้จ่าย ค่าเช่า 3,500 บาท มี 11 ห้อง พนักงานที่ชาญแอนติก เฮาส์ก็สลับมาทำงานที่นี่ด้วย

ตลาดนัดชีวา Cheeva ฝั่งตรงข้ามมีตั่งนั่งนอน

ทั้งสองคนมองว่ากว่าสถานการณ์จะกลับมาเป็นปกติ น่าจะใช้เวลาราว 3 ปี นโยบายที่น่าจะช่วยสำหรับนักท่องเที่ยวเมืองไทย น่าจะคิดถึงระยะ 3 ปีหลังจากนี้ ภูเก็ตยังมีหลายอย่างที่เป็นปัญหา ทั้งเรื่องการขนส่ง ถ้ามีขนส่งมวลชนดีๆ เข้ามา คนภูเก็ตก็สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ค่าโรงแรมตอนนี้บางแห่งยังมีราคาถูกกว่าค่าแท็กซี่ ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำ ที่จะเปลี่ยนแปลงได้ 

เคยมีการนำ Grab เข้ามา ก็มีข้อตกลงกันว่าจะต้องกำหนดราคาให้เท่ากับค่าแท็กซี่ในพื้นที่ ตอนนี้ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี ถ้าจะสร้างความเปลี่ยนแปลง โครงการที่รัฐควรเข้ามาปรับปรุงคือ ระบบขนส่งมวลชนให้คนในภูเก็ตทำ ให้สัมปทานบริษัททำขนส่งมวลชนเพื่อให้มีราคาที่ถูกลงและคนมาช่วยง่ายขึ้น 

มีตั่งนั่งนอน ภาพจาก Facebook meetangnangnon

รัฐควรส่งเสริมให้คนมีงานทำ มีรายได้เพิ่มขึ้น เปลี่ยนแปลงภูเก็ตในวันที่ไร้นักท่องเที่ยว

กุ๊กไก่มองว่า รัฐควรผลักดันนโยบายที่ส่งเสริมให้คนมีงานทำมากขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เพื่อให้เกิดการผลิตและการบริการที่แท้จริง ตัวอย่างจากร้านชาญแอนติก เฮาส์ เปิดมา 30 ปี ถ้ามีแท็กซี่พาลูกค้ามา ก็ต้องให้ค่าคอมมิชชั่น 10% เนื่องจากสินค้าเราคุณภาพสูง บางครั้งลูกค้าติดต่อมาเอง ก็ยังต้องเสียค่าคอมมิชชั่นอยู่เพราะใช้บริการเดินทางด้วยแท็กซี่ เพราะระบบเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่นานมากแล้ว

ขณะที่อ๋องเห็นว่า หากรัฐฯ คิดจะเปลี่ยนแปลงภูเก็ต ช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมเพราะไม่มีนักท่องเที่ยวหนาแน่นแบบก่อนหน้าโควิดระบาด ภูเก็ตในหน้าแล้งก็ประสบปัญหาหนัก เพราะเกาะภูเก็ตมีขนาดเล็กเล็ก ซัพพลายน้ำน้อย คนอยู่เยอะ รัฐบาลควรกระจายอำนาจในการบริหารประเทศ ปัญหาที่คนท้องถิ่นต้องเผชิญ คนส่วนกลางก็อาจคิดไม่ถึง เช่น ถ้าฝนตก ไฟจะดับบ่อย เครื่องใช้ไฟฟ้าต้องคอยระวังต้องมีไฟสำรองเสมอ 

ส่วนโครงการพักชำระหนี้ รัฐบาลควรยืดเวลามากขึ้น ต้องให้รู้ว่าแต่ละคนจะสามารถประหยัดได้ระดับไหน อย่าไปคิดว่าธุรกิจนี้ถ้าไม่รอด อย่าทู่ซี้ว่าถ้าไม่รอด ไม่ไหว ก็ต้องช่วยให้เปลี่ยน หากจะมีองค์การแห่งชาติมาช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพื่อให้อยู่รอด ก็ต้องช่วยสนับสนุนให้เขาอยู่ได้ด้วยตัวเอง  

ตอนที่จีนเป็นโรงงานแห่งโลก เขาก็คิดว่าทำแบบเดิมต่อไปไม่ได้ เขาคิดว่าธุรกิจภาคบริการ เป็น value added ถ้าภูเก็ตมีการท่องเที่ยว เช่น ยกระดับการท่องเที่ยวให้ดีขึ้น ขณะที่ยังรักษาทรัพยากรได้ต่อไป อนาคตก็ต้องทำให้ดีขึ้น ถ้าโควิดมันหายจะเกิดอะไรขึ้น เราจะทำอะไรดี คุณภาพงานบริการช่วยได้ 

นิธิพันธ์ วิประวิทย์ (อ๋อง) (ขวา), อลิสสา แซ่ซิม (กุ๊กไก่) (ซ้าย) เจ้าของธุรกิจเกสต์เฮาส์มีตั่งนั่งนอน

ภูเก็ตอยู่ด้วยธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอยู่รอดด้วยธุรกิจอื่นๆ ด้วย ถ้าพูดถึง ภูเก็ต สุขภาพ วัยชรา ให้คนมาอยู่ระยะยาว เช่น เป็นระดับพรีเมียม ไม่ต้องใช้ทรัพยากร ไม่ต้องแข่งกับจีน การผลิตเป็นแรงงานของโลกไม่ยั่งยืน สุดท้ายค่าแรงจะสูงขึ้น ทรัพยากรจะถูกใช้ไป เช่น ทำยังไงให้คนมาเรียนเยอะขึ้น ทำให้เรื่องการบริการด้านสุขภาพดีขึ้น ผู้นำมีหน้าที่สร้างขวัญและกำลังใจ รัฐราชการของไทยมันเสื่อม วิกฤตทุกวิกฤตมันช่วยได้ ถ้ามีศักยภาพก็จะสามารถแก้ปัญหาได้

นอกจากเกสต์เฮาส์ บ้านเช่า ร้านขายของเก่า ยังมีเขียนหนังสือด้วย

นอกจากทำธุรกิจเกสต์เฮาส์และมีร้านขายวัตถุโบราณแล้ว อ๋องยังเขียนหนังสืออีกด้วย เขาเขียนหนังสือชื่อ มองตะเกียบเห็นป่าไผ่ ชื่อหนังสือสื่อว่าเนื้อหาที่เขียนคือการได้รับรู้สิ่งใหญ่จากการพิจารณาสิ่งเล็กๆ เขาบอกว่าคนสมัยนี้เน้น Big data แต่ที่จริงแล้วสมองของคนเราเป็น small data ซึ่งสังเกตอะไรเล็กๆ แล้วนำมาทำความเข้าใจภาพใหญ่ ทำให้เห็นและรู้ว่ามีอะไรอยู่เบื้องหลัง

นอกจากนี้ ยังมีผลงานแปลหนังสือ พิเคราะห์สามก๊ก ฉบับอี้จงเทียน ซึ่งเป็นหนังสือที่อยากแปลมาเป็น 10 ปีแล้ว หนังสือเล่มนี้ พูดถึงประวัติศาสตร์สามก๊ก เชิงวิเคราะห์ปัจจัยเบื้องหลัง รวมถึงสิ่งที่นิยายสามก๊กนำมาเสริมแต่ง ต้องยอมรับว่าเนื้อหาของหนังสือและสื่อจีนในยุคนี้นิยมวิเคราะห์ประวัติศาสตร์ไปไกลกว่าข้อมูลที่พูดถึงกันในไทย

ในเรื่องวัฒนธรรมเช่นเรื่องไหว้พระจันทร์เขาก็เอาวิชาการมาแทรกในตำนานมากขึ้น อ่านแล้วสนุก หนังสือพิเคราะห์สามก๊ก ฉบับอี้จงเทียน ก็เป็นทำนองนี้เช่นกัน ซึ่งจะทำให้เราเห็นอะไรกว้างขึ้น ที่จริงหนังสือเล่มนี้มีเนื้อหาจากรายการบรรยายทางทีวีมาก่อน อ๋องได้เคยนำมาใส่ subtitle ภาษาไทย รายการพิเคราะห์สามก๊ก เป็นรายการที่คนจีนติดตามมาก เพราะนอกจากเนื้อหาน่าสนใจ อาจารย์ที่มาบรรยายยังพูดได้เก่ง เดิมตั้งใจจะแปลแค่ 3-4 ตอนให้เพื่อนๆ ที่รู้จักกันได้ดู แต่ทำไปทำมาก็แปลจนจบรายการครบ 52 ตอน ซึ่งใช้เวลาแปลหนึ่งปีเต็ม

พิเคราะห์สามก๊ก ฉบับอี้จงเทียน

จึงอยากฝากหนังสือพิเคราะห์สามก๊ก ฉบับอี้จงเทียน หนังสือเล่มนี้ขายได้มากกว่า 2 ล้านเล่มในจีน เป็นหนังสือที่แปลยากพอควร เพราะมีภาษาจีนโบราณแทรก และสิ่งพิเศษคือในเล่มจะมีคลิปอธิบายเรื่องราวข้างเคียงโดยใช้วิธีสแกนคิวอาร์โค้ด เนื้อหาที่นำมาอธิบายก็มีพวก มุกตลก บทกลอนซึ่งจะทำให้เราได้ฟังเสียงร่ายกลอนซึ่งแฝงอารมณ์ของบทกลอนเอาไว้อีกด้วย เป็นหนังสือที่หวังว่าจะช่วยยกระดับการมองประวัติศาสตร์สามก๊กในวงนักอ่านไทยอีกเล่มหนึ่ง

ตัวอย่างหนังสือ มองตะเกียบเห็นป่าไผ่

แง่คิดหลังโควิดระบาด: มองให้ไกลกว่าช่วงโรคระบาด หาทางทำกินที่สร้างสรรค์มากขึ้น

กุ๊กไก่มองว่า สิ่งที่เห็นตั้งแต่ก่อนโควิดระบาด คือการสร้างโรงแรมบูมมาก อาจเป็นเพราะคนไม่เห็นหนทางที่จะทำอย่างอื่น ควรมีช่องทางให้คนทำอะไรที่ไม่ซ้ำกันมากขึ้น

ขณะที่อ๋องกล่าวว่า ทุกคนต้องหาทางรอดของตัวเองให้ได้ก่อน คนที่มาจากครอบครัวลำบาก ไม่มีหนี้สิน ไม่มีเงินเก็บ ตอนนี้ตัวเขาเองก็อยู่ได้ด้วยเงินกู้ แต่ก็ยังมีสินทรัพย์ ขายของจากพันหนึ่งเป็นสองร้อย ก็เพื่อเอาตัวรอด ถ้าไม่มีของที่บ้านก็ติดลบเหมือนกัน

อยากให้ทุกคนเวลามอง มองไปที่ห้าปีข้างหน้า มองเฉพาะปัจจุบันจะทรมาน มองห้าปีข้างหน้าดีกว่า ถ้าไม่รอดจะเปลี่ยนเป็นอะไรดี ก็อาจจมีโรคอุบัติใหม่มาเรื่อยๆ ลองคิดดูว่าถ้าเราต้องอยู่กับโรคระบาดไปอีก 3-5 ปี เรามองตัวเองว่าจะอยู่ยังไง อนาคตจะเป็นยังไง จะได้เห็นภาพที่กว้างมากขึ้นและอาจจะเห็นทางออกใหม่ๆ มากกว่าเดิม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา