ดอกเบี้ยแบงก์ชาติ 1.5% แต่ทำไมเราฝากเงินได้ ดอกเบี้ยแค่ 0.5% ส่วนกู้บ้านต้องเสียดอกสูง 6-7%

ฟังข่าวช่วงนี้คงได้ยินคำว่าดอกเบี้ยนโยบายเงินเฟ้อกันบ่อย ทั้งทางสหรัฐฯ ที่จะเริ่มขยับขึ้นทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกเตรียมขยับขึ้นตาม แต่วิถีชีวิตคนทั่วไปอย่างเรา มนุษย์เงินเดือน พ่อค้าแม่ค้า ฯลฯ จะเกี่ยวข้องกับตัวเลขพวกนี้อย่างไร?

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติคืออะไร? เกี่ยวกับดอกเบี้ยฝาก-กู้ยังไง?  

Brandinside มีโอกาสคุยกับ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย บอกว่าธนาคารกลางแต่ละประเทศ หรือ แบงก์ชาติ จะเป็นคนกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเกิดมาเพื่อป้องกันเงินเฟ้อที่ต่ำหรือสูงเกินไป หัวใจของเขาคือนำมาสร้างสมดุลในเศรษฐกิจ

อย่างไทยเราอัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติอยู่ที่ 1.5% เมื่อธนาคารพาณิชย์เงิน (สภาพคล่อง) ขาดมือสามารถกู้เงินจากแบงก์ชาติได้ในอัตราดอกเบี้ย 1.5% ซึ่งแบงก์ชาติก็รักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจผ่านธนาคารพาณิชย์

เช่น หากเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูง จะเกิดสถานการณ์คนไล่กักตุนซื้อสินค้าต่างๆ ไว้ เพราะเขากลัวว่าอนาคตข้าวของจะแพงขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจชะลอตัว ดังนั้นธนาคารกลางต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อดึงให้คนอยากออมเงิน ลดการเก็งกำไรลง

แต่ถ้าเงินเฟ้อต่ำ ราคาสินค้าต่ำมาก ราคาไม่ขึ้น ธนาคารกลางต้องลดดอกเบี้ยลง เพื่อให้คนคิดว่าฝากเงินที่ธนาคารแล้วได้น้อย นำไปลงทุนอย่างอื่นที่มีผลตอบแทนดีกว่า จะช่วยให้เม็ดเงินกระจายไปหมุนเวียนในเศรษฐกิจ

แบงก์ชาติปรับขึ้น-ลงดอกเบี้ยมีผลต่อดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ทันที?

ที่สหรัฐฯ เมื่อธนาคารกลางเขาขึ้นดอกเบี้ย ดอกเบี้ยเงินกู้-เงินฝากก็ปรับสูงขึ้นตาม เพราะว่าสภาพคล่องในระบบเขาต่ำ ไม่ค่อยมีเงินสดเหลือ คนส่วนใหญ่เอาไปลงทุน และอื่นๆ กันหมด

ต่างจากไทยเราที่เงินฝากเยอะ สภาพคล่องเยอะ ดังนั้นเมื่อแบงก์ชาติประกาศปรับขึ้น หรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่ได้แปลว่า ธนาคารพาณิชย์ต้องขยับดอกเบี้ยตาม เพราะแบงก์พาณิชย์ต้องดูสภาพคล่องในระบบ ภายในแบงก์ ดูฐานเงินฝากของตัวเองก่อน เช่น หากฐานเงินฝากเขาน้อยมีไม่พอที่จะปล่อยกู้ลูกค้า แบงก์พาณิชย์ต่างๆ อาจจะแข่งขันกันขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อดึงให้คนเข้ามาฝากเงิน

แต่ถ้าแบงก์พาณิชย์มีสภาพคล่องเหลือ มีเงินฝากเหลือเยอะ เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ถ้าเขาอยากจะทำตลาด แย่งลูกค้าเขาก็ไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามา 

“แบงก์พาณิชย์สามารถกู้กับแบงก์ชาติได้ไม่จำกัดก็จริง แต่การกู้แบงก์ชาติก็ไม่ยั่งยืนกับธุรกิจ เพระเขาเขาไม่สามารถต่อยอดไปผลิตภัณฑ์อื่นๆ ได้ เช่น การขายบัตรเครดิต ฯลฯ”

ภาพจาก shutterstock

ทำไมฝากเงินได้ดอกเบี้ย 0.5% แต่ดอกเบี้ยแบงก์ชาติ 1.5% ส่วนดอกเบี้ยพาณิชย์สูง 6-7%

สาเหตุที่ดอกเบี้ยแบงก์พาณิชย์ให้รายย่อยอย่างเรา ต้องแพงกว่าธนาคารพาณิชย์กู้มา เพราะเรามีความเสี่ยงมากกว่า และมีระดับความเสี่ยงแตกต่างกันแต่ละบุคคล แม้ว่าแบงก์พาณิชย์สามารถกู้แบงก์ชาติได้ดอกเบี้ยที่ 1.5% แต่ต้นทุนของธนาคารยังมีอีกหลายปัจจัยได้แก่

  • การประเมินและตั้งสำรองตามความเสี่ยง เช่น ตัวเลขหนี้เสีย (หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้-NPL) ฯลฯ
  • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ เช่น ค่าบุคลากร ค่าสถานที่ ฯลฯ
  • ต้นทุนทางการเงิน เช่น ต้นทุนเงินฝาก ฯลฯ
  • สภาพคล่อง ซึ่งต้องดูสถานการณ์ในระบบการเงิน ภายในแบงก์ ทั่วโลกฯลฯ
  • อื่นๆ

หลักๆ ต้นทุนดอกเบี้ยแบงก์มาจาก ต้นทุนเงินฝากที่เขาได้มา ความเสี่ยงรายบุคคล ดูเรื่อง NPL ของแต่ละแบงก์ เช่น NPL อยู่ที่ 2% สมมติปล่อยกู้ 100% เจ๊ง 2% ถ้าคิดดอกเบี้ยลูกค้าที่ 1.5% ก็ไม่โอเค เพราะเขายังมีค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจดำเนินกิจการ ตั้งสำรองความเสี่ยงตามเกณฑ์แบงก์ชาติ ต้นทุนทางการเงิน  สภาพคล่องในตลาดและอื่นๆ อีกมากมาย” 

ส่วนสาเหตุที่ดอกเบี้ยเงินกู้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน ก็เพราะความเสี่ยงแต่ละคนไม่เท่ากัน เช่น คนที่มีเงินเก็บเยอะเป็นสิบล้านในแบงก์ แบงก์อาจจะให้ดอกเบี้ยถูก เพราะมองว่าลูกค้ามีเงินใช้คืนแน่ๆ แต่ถ้าเป็นคนมีภาระหนี้สูง แบงก์ก็ต้องคิดว่าเขาจะได้เงินคืนไหม หรืออาจจะดูประเภทของสินเชื่อเช่น สินเชื่อมีหลักประกันไหม เป็นต้น

ภาพจาก Shutterstock

ช่วงนี้สินเชื่อบ้านไม่มีแบบคงที่ (Fixed) แล้ว เพราะอะไร? เราจะกู้เสียดอกเบี้ยเยอะขึ้นไหม?

อัตราดอกเบี้ยเป็นตัวกระตุ้นให้คนอยากซื้อของมากขึ้นอยู่แล้ว เช่น บ้าน รถ มือถือ อย่าง IPhone ถ้าไม่มีโปรโมชั่นผ่อน 0% เป็นตัวกระตุ้นให้คนช็อปคนก็อาจจะซื้อน้อยลง

ช่วงนี้เราเห็นสินเชื่อของไทยดอกเบี้ย Fixed น้อยลง อย่าง สินเชื่อบ้าน ฯลฯ เพราะแบงก์ไม่อยากรับความเสี่ยงเมื่อต่อไป ดอกเบี้ยนโยบายเป็นช่วงขาขึ้น แบงก์ก็ปล่อยกู้ตามอัตราดอกเบี้ยตลาด ซึ่งที่จริงแล้วลูกค้าจะชอบดอกเบี้ยแบบ Fixed เพราะรู้อัตราดอกเบี้ยที่ตัวเองต้องจ่ายแบบแน่นอน 

หลังจากนี้ถ้าเทรนด์ดอกเบี้ยทั่วโลกจะปรับลง แบงก์พาณิชย์จะกลับมาแข่งกันให้ดอกเบี้ย Fixed กับลูกค้าอีกครั้งเพื่อเป็นการ Lock ต้นทุนที่แน่นอน ไม่ว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาดจะลดลงหรือไม่ธนาคารก็คิดอัตราดอกเบี้ยตามสัญญา

“สุดท้ายแล้ว การเงินคือการประเมินมูลค่า ถ้าแบงก์ประเมินได้ดีที่สุด มองในระยะยาวว่าเศรษฐกิจดีขึ้น แบงก์ดู NPL แล้วไม่สูง แบงก์พาณิชย์ก็กล้าที่จะสู้ กล้าที่จะลดดอกเบี้ย”

สรุป

อัตราดอกเบี้ยนโยบายของแบงก์ชาติมีผลกระทบต่อ การคิดดอกเบี้ยเงินฝาก-เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ แต่ก็ขึ้นอยู่กับสถานการณ์อื่นๆ เช่น ต้นทุนการเงิน สภาพคล่อง กลยุทธ์ทางการตลาด ฯลฯ ที่สำคัญอยู่ที่ความเสี่ยงของตัวลูกค้าเอง

แต่ถ้าดอกเบี้ยนโยบายเป็นขาขึ้นยังกระทบอีก 2 ด้านคือ 1. ผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะปรับตัวลง เช่น ปัจจุบันพันธบัตรระยะสั้นไทยให้ผลตอบแทน 1.3% ขณะที่ดอกเบี้ยนโยบายแบงก์ชาติอยู่ที่ 1.5% ถ้าอนาคตปรับขึ้นเป็น 1.75% ผลตอบแทนในพันธบัตรอาจจะลดลง เพราะในตลาดการเงินมี ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ดีกว่า คือมีความเสี่ยงต่ำกว่า และได้ผลตอบแทนมากขึ้น และ 2. อาจส่งผลกระทบให้คนซื้อหุ้นน้อยลง เพราะการฝากเงินมีความเสี่ยงต่ำกว่าแต่มีผลตอบแทนมากขึ้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา