ใครจะไปคิดว่าการถ่ายรูปคู่กับสัตว์เลี้ยงจะส่งผลต่อมุมมองของคน
ล่าสุด ผลของการที่ผู้ชายถ่ายรูปคู่กับแมวมีผลต่อการตัดสินใจของผู้หญิงว่าเธอจะสนใจผู้ชายคนนี้หรือไม่ ผลการศึกษาสรุปออกมาแล้วว่า ผู้หญิงให้ความสนใจผู้ชายที่ไม่ถ่ายรูปคู่กับแมวมากกว่า
ผลการศึกษานี้จัดทำโดย Lori Kogan และ Shelly Volsche จากวิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์และชีวเวชศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยโคโลราโด ทั้ง Kogan และ Volsche สำรวจจากผู้หญิงจำนวน 708 คน อายุระหว่าง 18-24 ปี โดยให้ผู้หญิงดูรูปผู้ชายสองรูป รูปหนึ่งเป็นผู้ชายที่ถ่ายคู่กับแมว อีกรูปหนึ่งเป็นผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับแมว พบว่า ผู้หญิงมีความสนใจผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับแมวมากกว่า
ผู้หญิงเทคะแนนความสนใจให้กับผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับแมวมากกว่า โดยการให้คะแนนนี้ จะให้คะแนนทั้งด้านบุคลิกภาพ ความเป็นชาย โอกาสในการนัดเดท และความเป็นไปได้ในการมีความสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ผลการศึกษาพบว่า ผู้หญิงให้ความสนใจผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับแมวมากกว่า เพราะการถ่ายรูปคู่กับแมวทำให้พวกเธอมองเขาว่ามีความเป็นชายน้อยกว่า น่าเดทน้อยกว่าสำหรับการสานต่อความสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว นอกจากนี้ เธอยังมองว่าพวกเขาอาจจะกังวลง่าย เครียดง่าย แต่ในแง่บวก เธอก็มองว่าเขาน่าจะเป็นมิตรและเป็นคนเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ มากด้วย
ขณะที่ผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายรูปคู่กับแมวนั้น ผู้หญิงมองว่า มีความเป็นผู้ชายมากกว่า น่าเดทด้วยมากกว่า น่าสานสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวมากกว่า
หลังจากที่เห็นภาพผู้ชายที่ไม่ได้ถ่ายภาพคู่กับแมว พบว่า 38% ผู้หญิงระบุว่า พวกเขาดูน่าสนใจที่จะออกเดทด้วย ขณะที่ 37% มองว่า อาจจะเดทกับพวกเขาจริงจัง ส่วนอีก 9% ไม่คิดที่จะเดทกับพวกเขา แต่เมื่อดูภาพผู้ชายคนเดียวกันที่ถ่ายรูปคู่กับแมว พวกเขาได้รับความสนใจน้อยกว่า มีเพียง 33% ที่อาจจะเดทกับพวกเขา ซึ่งก็เป็นอัตราเดียวกับพวกที่คิดจะเดทกับเขาจริงจัง และมี 14% ไม่คิดจะเดทกับเขาเลย
เรื่องนี้ Kogan และ Volsche แนะนำว่า ผลการศึกษาดังกล่าวน่าจะมาจากผลผลิตทางวัฒนธรรมที่มีลักษณะเหมารวม ที่พูดถึงคนบุคลิกแมวและบุคลิกหมา (cat person และ dog person) ในวัฒนธรรมอเมริกันจะแบ่งแยกเป็น cat men และ dog men โดย cat men จะมีลักษณะที่มีความเป็นชายน้อยกว่า ขณะที่ dog men มักสื่อถึงผู้ชาย ที่มีความสนใจ หรือชอบเพศตรงข้ามมากกว่า
ผลการศึกษาดังกล่าว เขาก็อ้างถึงงานศึกษาเมื่อปี 2015 เรื่อง Personalities of Self-Identified “Dog People” and “Cat People” ที่ศึกษาโดย Samuel D Gosling จาก University of Texas at Austin ซึ่งพบว่า มีการกำหนดตัวเองว่าเป็น dog people และ cat people ที่มีบุคลิกภาพแตกต่างกัน ซึ่งงานศึกษานี้ มีกลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัคร 4,565 คน มีอายุตั้งแต่ 10 ปี – 95 ปี อายุเฉลี่ยส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 23.4 ปี เป็นผู้หญิง 63.3%
แบ่งเป็นสัญชาติอเมริกัน 66.7% แคนาดา 5.1% อังกฤษ 3.5% ออสเตรเลีย 2.4% อินเดีย 1.6% ฟิลิปปินส์ 1.6% สัญชาติอื่นๆ 11.1% และไม่ระบุ 8%
เขาแบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อบุคลิกภาพ 5 ข้อ คือ ชอบมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น (Extraversion), เข้าใจคนอื่น เป็นมิตร (Agreebleness), มีระเบียบวินัย พึ่งพาได้ (Conscientiousness), กังวลต่อหลายสิ่งโดยที่ไม่จำเป็น เครียดง่าย (Neuroticism) และเปิดใจรับสิ่งใหม่ๆ (Openness)
โดย dog people จะมีลักษณะที่มีความสนใจต่อสิ่งภายนอก นึกถึงใจคนอื่น เข้าใจคนอื่น และมีระเบียบวินัย พึ่งพาได้ ขณะที่ cat people นั้นมีลักษณะที่จะกังวลง่าย เครียดง่าย แต่ก็จะเปิดกว้าง ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุมมองของแต่ละพื้นที่ด้วย
นอกจากนี้งานศึกษานี้ยังอ้างถึงบุคลิกแบบ canine person (ความหมายเดียวกับ dog people) ด้วยว่า มีลักษณะซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา ใจดี ยึดถือผลประโยชน์เป็นสำคัญ ให้ความช่วยเหลือ มีลักษณะทำงานเป็นทีม
อย่างไรก็ตาม Kogan และ Volsche ก็ระบุไว้ก่อนหน้าแล้วว่า มันอาจจะอิงจากการศึกษาที่เหมารวมมุมมองที่มีต่อ dog people และ cat people หากแบ่งตามสัญชาติที่งานนั้นศึกษาก็เน้นไปที่ชาติตะวันตกมากกว่าตะวันออก อาจกล่าวได้ว่า ถ้าเอาภาพดังกล่าวให้คนในชาติตะวันออกหรือเอเชียมองก็อาจจะมีแนวคิดที่แตกต่างออกไป
ที่มา – VICE, Taylor & Francis Online, MDPI
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา