เปิดกลยุทธ์ OKR ของ Google: ทำอย่างไรให้ Chrome ประสบความสำเร็จที่สุดในโลก

หนึ่งในข่าวที่ได้รับความสนใจเมื่อช่วงกลางปี 2018 คือ การยกเลิกวิธีประเมินผล KPI ในองค์กรของ dtac แล้วหันไปใช้สิ่งที่เรียกว่า OKR เนื่องจาก KPI “เป็นนวัตกรรมการวัดผลการทำงานของศตวรรษที่แล้ว”  และไม่ตอบโจทย์องค์กรในยุคดิจิทัล

หลายคนเริ่มรู้จักกับ OKR หรือ Objectives and Key Results มากขึ้น แต่อาจยังมองไม่เห็นภาพอย่างเป็นรูปธรรม บทความนี้จึงจะพาไปสำรวจการใช้ OKR ของ Google ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกๆ ของโลกที่นำเอา OKR มาใช้ในองค์กร และเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

Google ใช้ OKR อย่างไร จึงทำให้ Chrome ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของตลาดได้?

รู้หรือไม่ว่า ฉากหน้าของ Chrome บราวเซอร์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก จนครองส่วนแบ่งตลาดไว้เกินครึ่งนั้น เบื้องหลังของเรื่องนี้คือการใช้ OKR

Chrome คือเบอร์ 1 ของตลาด เพราะครองสัดส่วนเกินครึ่ง ลองดูสัดส่วนการใช้บราวเซอร์ (Browser) ของคนทั้งโลกในปัจจุบัน แบ่งเป็น

  • Chrome 58.94%
  • Safari 13.7%
  • UC Browser 7.46%
  • Firefox 5.17%
  • Opera 3.5%
  • IE 3.12%
  • Samsung Internet 2.67%
  • Edge 1.89%
  • Android 1.56%
  • อื่นๆ 2.01%

คำถามก็คือ Google ใช้ OKR อย่างไร จึงทำให้ Chrome ขึ้นมาเป็นเบอร์ 1 ของตลาดได้?

ย้อนไปในปี 2006  ปีที่เป็นจุดเริ่มต้นไอเดียการสร้าง Chrome จากความคิดของ Google ที่ว่า ต้องการสร้างบราวเซอร์ที่ดีที่สุดในตลาดให้ได้ คือต้องทั้งเร็วกว่าและดีกว่าบราวเซอร์อื่นๆ ทั้งหมด เพราะถ้าทำไม่ได้แบบนั้น ไม่ต้องทำเสียยังดีกว่า

ต่อมาในปี 2008 Google ปล่อย Chrome ออกสู่ตลาดด้วยการตั้ง OKR ไว้ว่า ในส่วน objective จะต้องสร้างบราวเซอร์ยุคใหม่ออกมาสู่ตลาดให้ได้ ส่วน key results (สุดโหด) ที่ใช้ในการวัดผลคือ ใน 1 สัปดาห์จะต้องมีผู้ใช้งาน (active users) จำนวน 20 ล้านคน

ผลปรากฏว่าในช่วงแรก Chrome ไม่สามารถทำได้ตามเป้าของ OKR ที่ตั้งไว้ โดยในขณะนั้นมีส่วนแบ่งตลาด (market share) เพียง 3% เท่านั้น แต่ Google ได้รับ feedback ว่า ผู้ที่ได้ใช้งาน Chrome ส่วนใหญ่ชื่นชอบและพึงพอใจ

เอาเข้าจริงแล้ว Google รู้ดีว่า OKR ที่ตั้งไว้สำหรับ Chrome นั้นยากเกินไป แต่หัวใจสำคัญของการตั้ง OKR คือการทำให้พนักงานรู้สึกตื่นตัวกับสิ่งที่ทำตลอดเวลา และมากกว่านั้นทำให้พนักงานรู้สึกว่าไม่ปลอดภัยที่จะอยู่ใน comfort zone เพราะถ้าคิดจะอยู่แต่ใน comfort zone ต่อไป เป้าหมายของ OKR ที่ตั้งไว้ ก็ไม่มีวันไปถึง

ในปีเดียวกันนั้นเอง Larry และ Sergey ผู้ก่อตั้ง Google ได้เขียน OKR ไว้อย่างน่าสนใจว่า “เราควรสร้างเว็บที่เปลี่ยนหน้าราวกับพลิกนิตยสาร”

OKR ตัวนี้เองที่ทำทั้งบริษัทกลับมาคิดใหม่อีกครั้งว่า จะทำเว็บไซต์ที่ทั้งดีและทั้งเร็วได้อย่างไร?

สำหรับทีม Chrome ได้รับแรงบันดาลใจจากจุดนี้พอสมควร เลยสร้าง OKR รองของทีมขึ้นมาใหม่ โดยตั้งไว้ว่า ต้องทำให้แอพพลิเคชั่นต่างๆ บน Chrome ใช้งานได้รวดเร็วเหมือนกำลังอยู่บนหน้า Desktop (แต่การจะทำแบบนี้ได้ ทีม Chrome ต้องไปจับมือกับทีมอื่นนอกบริษัทอย่าง Lars Bak เพื่อทำให้ OKR เป็นจริง)

  • ผ่านไป 4 เดือน Chrome สามารถรัน JavaScript ได้ไวกว่าบราวเซอร์ในตลาดอย่าง Firefox ได้ถึง 10 เท่า
  • ผ่านไป 2 ปี Chrome สามารถรัน JavaScript ได้ไวกว่า Firefox ถึง 20 เท่า
  • หลังจากนั้น Google Chrome ก็สามารถพิชิต OKR ได้สำเร็จ โดยมีผู้ใช้งานเกิน 20 ล้านคนต่อสัปดาห์

ต่อมาในปี 2009 Google เล่นใหญ่กว่าเดิม ด้วยการตั้งเป้า OKR ผู้ใช้งาน Chrome ที่ 50 ล้านคนต่อสัปดาห์ แต่ผลปรากฏว่าล้มเหลว เพราะมีผู้ใช้งานเพียง 38 ล้านคนเท่านั้น

ในปี 2010 แทนที่ Google จะทำตามเป้าเดิม กลับตั้ง OKR ให้ทีม Chrome ใหม่ว่า ต้องมีผู้ใช้งานต่อสัปดาห์ที่ 100 ล้านคน แต่ผลปรากฏว่าครั้งนี้ Google ทำได้สำเร็จ

ครั้งนี้ Google ที่มาพร้อมกับ OKR ที่ใหญ่กว่าเดิม ลงมือทำทุกวิถีทางเพื่อไปให้ถึงเป้า โดยเริ่มตั้งแต่ปรับแนวทางธุรกิจ ทำแคมเปญ “Chrome Fast” ในสหรัฐอเมริกาเพื่อสร้างการรับรู้ในวงกว้างมากขึ้น ตามด้วยเปิดตัว Chrome สำหรับระบบปฏิบัติการ iOS และ Linux เพื่อขยายตลาดออกไปให้มากกว่าระบบ Windows ที่มีอยู่

นอกจากนั้นยังทำสิ่งเล็กๆ บางอย่าง เช่น แจ้งเตือนผู้ใช้งานที่มี Chrome อยู่ในมือแต่ไม่ได้ใช้ และที่น่าเหลือเชื่อคือวิธีการนี้ได้ผลมากกว่าที่คิด เพราะในไตรมาสนั้น (ไตรมาส3/2010) Chrome มีผู้ใช้งานจาก 87 ล้านคนเป็น 107 ล้านคน และไม่นานหลังจากนั้น Chrome ก็มีผู้ใช้งานถึง 111 ล้านคนต่อสัปดาห์ และทะยานต่อไปเรื่อยๆ

ล่าสุด ในปี 2018 นี้ นับสถิติเพียงแค่บนมือถืออย่างเดียว พบว่า Chrome มีผู้ใช้งานเกิน 1 พันล้านคนต่อวัน เรียกได้ว่า Google ต้องขอบคุณ OKR อย่างแท้จริง

ถึงที่สุดแล้ว เรื่อง OKR กับ Chrome ของ Google ได้สอนให้รู้ว่า

  1. เป้าหมายที่คิดว่ายาก อาจจะไม่ได้ยากขนาดนั้นก็ได้ ดังนั้น จงอย่าดูถูกฝีมือตัวเอง
  2. การเล่นใหญ่ (ขึ้นเรื่อยๆ) ของ Google ที่ใช้ OKR นำทาง ทำให้ทีมงานและบริษัทเห็นภาพเดียวกัน และพร้อมทำทุกอย่างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นๆ

ที่มา – Techinasiaสัดส่วนตลาดบราวเซอร์ในโลก

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา