มหาเศรษฐีรวยกว่าที่เราและรัฐบาลรับรู้
ในความเป็นจริงแล้ว เหล่ามหาเศรษฐีร่ำรวยกว่าที่เราคิดไว้มากพอสมควร อย่างน้อยที่สุด บรรดามหาเศรษฐีในสหราชอาณาจักรก็รวยกว่าที่ทางการรับรู้ราวๆ 800,000 ล้านปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 32.6 ล้านล้านบาท
เลขความเหลื่อมล้ำคลาดเคลื่อน เพราะความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีถูกปกปิด
รายงานจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรระบุว่า เมื่อนำรายได้จากทุนเข้ามาอยู่ในสมการของการคิดคำนวนความเหลื่อมล้ำ พบว่าความเหลื่อมล้ำมีมากกว่าที่เข้าใจกันก่อนหน้า
ดัชนีความเหลื่อมล้ำ (สัมประสิทธิ์จีนี่) ในสหราชอาณาจักร สูงกว่าเดิม 0.024 หลังคำนวนใหม่ โดยค่าสัมประสิทธิจีนี่มีคะแนนอยู่ระหว่าง 0-1 ยิ่งมีคะแนนสูงยิ่งหมายถึงความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น
ซึ่งนั่นอาจดูน้อย แต่หากนึกให้เห็นภาพ ประเทศไทยซึ่งมีความเหลื่อมล้ำสูง มีค่าดังกล่าวสูงกว่าแคนาดาที่มีความเท่าเทียมกว่ามากที่ 0.033 คะแนน
รายงานของ Resolution Fondation เรื่อง The Missing Billions ที่เพิ่งตีพิมพ์หลังปีใหม่ปี 2021 ซึ่งทำการสำรวจความมั่งคั่งของมหาเศรษฐีจากข้อมูลหลายแหล่ง แสดงให้เห็นข้อเท็จจริงแบบเดียวกับสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรว่า ในความเป็นจริง ความเหลื่อมล้ำมีมากกว่าที่คิดไว้เศรษฐีที่รวยที่สุด 1% ในสหราชอาณาจักร มั่งคั่งกว่าที่เรารับรู้ถึง 800,000 ล้านปอนด์
โดยรายงานที่ทำการศึกษาพื้นที่อื่นๆ ในโลกก็ให้ผลสรุปออกมาในทางเดียวกัน
- ในเยอรมนี คนรวยที่สุด 1% ครอบครองสินทรัพย์ 1 ใน 3 ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ 1 ใน 5
- ในนอร์เวย์ คนรวยที่สุด 1% ครอบครองสินทรัพย์ 1 ใน 5 ของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่ 1 ใน 10
- ในแคนาดา คนที่รวยที่สุด 1% ครอบครองสินทรัพย์มากกว่าที่ทางการรับรู้ กว่า 3 ล้านล้านดอลลาร์แคนาดาหรือประมาณ 70.8 ล้านล้านบาท
นี่สะท้อนให้เห็นว่ามหาเศรษฐีสามารถใช้เทคนิคทางการเงินบางอย่างปกปิดรายได้ที่แท้จริง ซึ่งทำให้มองเห็นภาพความเหลื่อมล้ำได้ต่ำกว่าความเป็นจริง
มหาเศรษฐีทำอย่างไร ความมั่งคั่งจึงหลุดรอดสายตาไปได้
รายงานหลายชิ้นชี้ว่า มหาเศรษฐีในหลายประเทศมักรายงานความมั่งคั่งและรายได้ที่น้อยกว่าความเป็นจริง
นอกจากนี้ ความมั่งคั่งและรายได้ของเศรษฐีในระดับบนเป็นสิ่งที่ผสมปนเปกัน สามารถใช้กลเม็ดทางการเงินหลบเลี่ยงการตรวจสอบได้ ขึ้นอยู่กับว่านโยบายในแต่ละประเทศจะเน้นเก็บภาษีในส่วนไหนมากกว่า
ในประเทศมีการเก็บภาษีจากรายได้สูง เศรษฐีโดยเฉพาะในระดับ CEO อาจะเลือกรับค่าตอบแทนต่ำมาก และรับรายได้จากปันผลหุ้นที่มีจำนวนมากในบริษัทแทน
เช่น ในปี 2018 Larry Page จาก Google และ Jack Dorsey จาก Twitter กลายเป็น CEO ที่มีรายได้น้อยที่สุดที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งก่อนหน้านี้ Mark Zuckerberg จาก Facebook และ Elon Musk จาก Tesla ก็เคยรับเงินเดือนที่ 1 ดอลลาร์เช่นกัน
แต่ 2 ปัจจัยนี้ยังไม่ใช่ปัญหาใหญ่เท่าไหร่นักเพราะในปัจจุบันมีวิธีการทางสถิติมากมายที่สามารถดึงข้อมูลจากหลายแหล่งมาคิดคำนวนและแปรผลเป็นความมั่งคั่งที่แท้จริงได้เที่ยงตรงมากขึ้น
ปัญหาการหลีกเลี่ยงภาษีจึงเป็นปัญหาที่ชวนปวดหัวมากที่สุด เพราะความมั่งคั่งของเศรษฐีสามารถหนีพ้นสายตาและเงื้อมมือของสถิติและเทคนิคทางข้อมูลด้วยการใช้บริการที่สร้างช่วยสร้างความลับทางการเงิน
งานวิจัยที่ทำการศึกษาเอกสารที่หลุดออกมาของ HSBC และ Panama Paper รายงานว่า ยิ่งคนรวยเท่าไหร่ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะหนีภาษีมากขึ้น ซึ่งก็จริงตามนั้นเพราะคนที่รวยกว่าย่อมมีแรงจูงใจและความสามารถที่จะปกปิดข้อมูลและหลีกหนีภาษีมากขึ้น
ความสำเร็จในการหนีภาษีเกิดจากการที่สถาบันการเงินใหญ่ๆ และประเทศสวรรค์ภาษี (เช่น นิวซีแลนด์) เอาด้วย โดยให้ความช่วยเหลือลูกค้ามหาเศรษฐีปกปิดความลับทางการเงิน รวมถึงให้บริการช่วยหลบเลี่ยงภาษีเพื่อแลกกับรายได้ก้อนโต
ที่มา – Tribune Magazine UK
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา