T-POP อาร์ตทอย คอนเทนต์ครีเอเตอร์ ซอฟต์พาวเวอร์ อาจเป็น 4 คำที่เราคุ้นเคยและได้ยินบ่อยมากๆ ในปีที่ผ่านมา แต่คุณคิดว่าตนเองเข้าใจพวกมันดีขนาดไหน?
Brand Inside มีโอกาสเข้าร่วมงาน ‘iCreator Conference 2024’ งานมหกรรมรวมกลุ่มคอนเทนต์ครีเตอร์ครั้งใหญ่ของไทย
อย่างไรก็ตาม วันนี้เราไม่ได้มาแนะนำทริกในการเป็นนักสร้างคอนเทนต์ แต่อยากนำเสนอมุมมองใหม่ๆ ของอุตสาหกรรมต่างๆ ในไทย ที่แม้จะได้รับความนิยม ทว่าคนยังไม่ค่อยเข้าใจ
จะมีวงการอะไรบ้าง มาดูเลย
ศิลปิน ‘T-POP’ พร้อมไประดับโลกแล้ว คนไทยพร้อมหรือยัง?
ช่วงหลังๆ มานี้ จะเห็นว่า กระแส ‘T-POP’ กำลังกลับมาโด่งดังอีกครั้ง ด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่เชื่อมต่อคนทั้งโลก ทำให้ศิลปินไทยเข้าถึงง่ายกว่าเดิม ประกอบกับเพลงไทยตามซีรีส์หรือภาพยนตร์ต่างๆ ที่ถูกถ่ายทอดออกไป จนดึงคนต่างชาติเข้ามาฟังได้
‘พัฒนี จรียะธนา’ กรรมการผู้จัดการ บริษัท EXIT 365 เชื่อว่า ปัจจุบัน วงการ T-POP สามารถก้าวไปข้างหน้า โดยไม่มีกำแพงด้านวัฒนธรรมหรือภาษามากีดกันแล้ว และศิลปินไทยก็เก่งจริงๆ เพียงแค่ยังขาดพื้นที่โชว์ศักยภาพ
ด้วยเหตุนี้ พัฒนีจึงซื้อลิขสิทธิ์รายการ ‘Thailand Music Countdown’ เข้ามา เพื่อตอบโจทย์และเปิดโอกาสให้ศิลปิน T-POP แสดงความสามารถ พร้อมจับมือกับ ‘Spotify’ ให้เป็นแพลตฟอร์มในการโหวตศิลปินขึ้นโชว์ในแต่ละเดือนด้วย
อย่างไรก็ตาม พัฒนีมองว่า อุตสาหกรรม T-POP ยังขาดโอกาสในการร่วมงานกับศิลปินต่างประเทศ รวมถึงไม่เป็นที่ยอมรับในหมู่คนไทยบางส่วน หมายความว่า หากจะผลักดันวงการ T-POP ให้เป็นที่ประจักษ์ในสายตาโลกได้ แค่แรงสนับสนุนจากภาคเอกชนคงไม่พอ แต่ต้องมีความร่วมมือจากผู้ฟังและรัฐบาลด้วย
ด้าน ‘อารี อารีจิตเสถียร’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท True CJ Creations และผู้จัดรายการ Thailand Music Countdown ได้กล่าวบนเวทีว่า ศิลปินไทยพร้อมมากๆ แล้ว ส่วนฝั่งผู้ผลิตก็มีความเชื่อมั่นอย่างเต็มที่ สิ่งที่ขาดอยู่คือ คนฟังเต็มที่กับ T-POP มากแค่ไหน และรัฐบาลจะมีโอกาสสนับสนุนวงการนี้ในแง่ใดบ้าง
‘อาร์ตทอย’ คือแพชชันไม่ใช่เครื่องมือหาเงิน
ท่ามกลางกระแสของ Labubu, CryBaby และอื่นๆ อีกมากมายที่คนแห่ไปซื้อเพื่อเก็งกำไร รู้หรือไม่ว่า จริงๆ แล้ว นักสะสม ‘อาร์ตทอย’ ที่มาก่อนกาล เขามองอุตสาหกรรมนี้อย่างไร?
‘กนต์ธร เตโชฬาร’ เจ้าของเพจ Art of Hongtae เผยบนเวที ‘The Art Toy Revolution’ ว่า จริงๆ แล้วอาร์ตทอยเป็นงานที่ต้องอาศัยแพชชัน มากกว่ามูลค่าทางเม็ดเงิน และลูกค้าที่ซื้อตามเทรนด์อย่างเดียวไม่ใช่พฤติกรรมของนักสะสมอาร์ตทอยที่เขารู้จัก
ปัจจุบัน หลากหลายมหาวิทยาลัยในไทยเริ่มเปิดหลักสูตรอาร์ตทอย โดยกนต์ธรแสดงความกังวลว่า ฝั่งผู้ใหญ่เล็งเห็นแค่ความนิยมเท่านั้น แต่ยังไม่เข้าใจอุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน จึงอาจทำให้นักศึกษาจบไปแล้วไม่มีงานทำ หรือทำด้วยความทุกข์
กนต์ธรแนะนำว่า ถ้าอยากเป็นศิลปินอาร์ตทอย ขอให้ทำด้วยแพชชัน และอย่าทำเพียงเพราะคนอื่นทำแล้วอยู่รอด เนื่องจากตอนนี้ ใครๆ ก็ทำอาร์ตทอยจนล้นตลาด แต่คนที่ขายออก มีเพียงแค่เจ้าเดิมๆ เท่านั้น
กนต์ธรเชื่อว่า หากจะให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอดอย่างยั่งยืน ความมีใจรัก ความพร้อมด้านการเงิน และทัศนคติในการสร้างงานที่ดีของศิลปิน คือแรงสำคัญในการผลักดันวงการอาร์ตทอยต่อไป
เส้นเบลอๆ ระหว่าง ‘สำนักข่าว’ และ ‘Content Creator’
ในยุคนี้ ใครๆ ก็เป็น Content Creator ได้ ขอแค่มีอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ก็พร้อมสร้างบัญชีผู้ใช้มาเป็นสื่อคอยเล่าเรื่องหรือรายงานข่าวสารต่างๆ แต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่า คนไหนคืออินฟลูเอนเซอร์ หรือ สำนักข่าว?
‘ณัฏฐา โกมลวาทิน’ ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของ The STANDARD กล่าวว่า ตอนนี้เส้นแบ่งระหว่างครีเอเตอร์กับสำนักข่าวมันเบลอไปหมดแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้นักข่าวต่างจากอินฟลูฯ ทั่วไป คือ จริยธรรมขั้นพื้นฐานและความน่าเชื่อถือ เพราะต่อให้ชื่อตำแหน่งงานจะเปลี่ยนไปตามยุคดิจิทัล แก่นของการสื่อข่าว ยังเป็นการตรวจสอบข้อเท็จจริงให้สาธารณชนรับรู้เช่นเดิม
ด้าน ‘ธัญวัฒน์ อิพภูดม’ บรรณาธิการบริหารของ The MATTER เสริมว่า หากนิยามของคอนเทนต์และข่าวมันทับซ้อนกัน เราไม่จำเป็นต้องสนก็ได้ว่าเส้นแบ่งคืออะไรกันแน่ แต่มาโฟกัสว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรดีกว่า
ในมุมมองของธัญวัฒน์ ไม่ว่าคุณจะเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์หรือนักข่าว ต่างก็สามารถหยิบยืมจุดเด่นของกันและกันมาปรับใช้ได้ เช่น ครีเอเตอร์อาจรู้จักวิธีเข้าหาผู้ชมมากกว่า ในขณะที่นักข่าวอาจเข้าถึงแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ หรือคุ้นเคยกับการนำเสนอเนื้อหาในหลากหลายแง่มุมกว่า
หากทั้งสองฝ่ายรู้จักเรียนรู้การทำงานของกันและกัน ผลงานที่ออกมาจะดีต่อทั้งตนเองและผู้ชม เพราะสุดท้ายแล้ว ในยุคสมัยใหม่ สำนักข่าวสามารถนำเสนอคอนเทนต์ที่ไม่เกี่ยวข้องกับข่าวได้ และคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็สามารถรายงานข่าวตามช่องทางตนเองได้เช่นกัน
‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ในวงการบันเทิงไทยไปถึงไหนแล้ว?
เวที ‘Soft Power From Thailand To The World’ ถือเป็นอีกทอล์กที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะรวมคนดังจากแต่ละวงการบันเทิงแล้ว ยังมีตัวแทนจาก ‘Thailand Creative Culture Agency’ (THACCA) ผู้ดูแลนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของประเทศมาอีกด้วย
‘ธนายุทธ ฐากูรอรรถยา’ อนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านละครและซีรีส์ของ THACCA เผยว่า แม้หลายคนเริ่มเอียนกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ แต่เขาดีใจที่คำๆ นี้บูมขึ้นในไทย เพราะหลายๆ ประเทศ อย่าง สหรัฐฯ จีน หรือเกาหลีใต้ ได้นำ ‘Creative Economy’ มาเป็นยุทธศาสตร์พัฒนาชาติกว่าหลาย 10 ปีแล้ว
ธนายุทธยอมรับว่า หลายๆ อุตสาหกรรมในไทยโตขึ้นขนาดนี้ได้ ก็เพราะภาคเอกชนผลักดันกันเอง แต่ปัจจุบัน THACCA พร้อมแล้วที่จะสนับสนุนและต่อยอดความสร้างสรรค์ที่มีอยู่ให้ต่อเนื่องมากขึ้น ผ่านโปรเจกต์ต่างๆ เพื่อถ่ายทอดซอฟต์พาวเวอร์ไทยสู่สายตาชาวโลก เช่น
- โครงการ Music Exchange เปิดพื้นที่ให้ศิลปินไทยได้โชว์ในเวทีต่างประเทศ
- Thailand Night เทศกาลหนังไทยในปูซาน ประเทศเกาหลีใต้
- Thailand International LGBTQIA+ Film เทศกาลภาพยนตร์ที่จะเฉลิมฉลองการผ่านร่างสมรสเท่าเทียมของไทย
ธนายุทธต้องการให้ประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ที่คนทั้งโลกอยากมาเยือน ดังนั้น มันจะไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมบันเทิงที่พวกเขาต้องผลักดัน แต่รวมถึงอุตสาหกรรมแวดล้อมอื่นๆ อย่าง เทศกาล การขนส่ง ที่พัก และร้านอาหาร ที่ต้องเติบโตไปพร้อมๆ กันด้วย
อ่านมาถึงตรงนี้ อาจเห็นได้ว่า ทั้ง 4 ทอล์กก็สามารถนำมาเป็นบทเรียนที่เอามาปรับใช้กับชีวิตประจำวันและธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการใช้แพชชันในการทำงาน การรู้จักปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ หรือแม้กระทั่งการเรียนรู้ว่า บางทีความสำเร็จอาจมาจากความร่วมมือของหลายๆ ภาคส่วน
คุณล่ะ คิดเห็นอย่างไรบ้าง?
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา