Amazon ไม่ได้ต้องการแค่คนเก่ง: เปิด 3 วิธีคัดเลือกคนทำงานตามสไตล์ Jeff Bezos

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon บริษัทด้าน e-Commerce ที่เป็นที่รู้จักกันดี พ่วงด้วยตำแหน่งบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของโลก ด้วยมูลค่าทรัพย์สินกว่า 1.13 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.58 ล้านล้านบาท

Jeff Bezos
SEATTLE, WA – JUNE 18: Amazon.com founder and CEO Jeff Bezos presents the company’s first smartphone, the Fire Phone, on June 18, 2014 in Seattle, Washington. The much-anticipated device is available for pre-order today and is available exclusively with AT&T service. (Photo by David Ryder/Getty Images)

การได้รับการจัดอันดับให้กลายเป็นบุคคลที่มีทรัพย์สินมากที่สุดในโลก คงหนีไม่พ้นจากความสำเร็จของ Amazon ที่ Jeff Bezos เป็นผู้ก่อตั้งมากับมือ และความสำเร็จของ Amazon นี้ “คน” ก็เป็นปัจจัยสำคัญในฐานะผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเช่นกัน

คำถามที่เกิดขึ้นคือ Amazon มีวิธีในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานอย่างไร เพราะบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Amazon แค่ความเก่งอย่างเดียว คงยังไม่ใช่คุณสมบัติที่เพียงพอที่จะทำให้ได้งาน

3 วิธีคัดเลือกคนเข้าทำงานแบบ Amazon

Jeff Bezos เคยอธิบายวิธีการคัดเลือกพนักงาน ในจดหมายถึงผู้ถือหุ้น ว่า Amazon ตั้งมาตรฐานในการคัดเลือกคนเข้ามาทำงานสูง ในฐานะปัจจัยสร้างความสำเร็จของ Amazon และตัว Bezos เอง ก็เคยบอกเช่นกันว่า การจะเข้ามาทำงานกับ Amazon ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยวิธีการคัดเลือกพนักงานของ Amazon ที่ทำกันมาตั้งแต่ปี 1998 พนักงานของ Amazon จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้

ต้องเป็นคนที่น่านับถือ น่าชื่นชม

ครั้งหนึ่ง Jeff Bezos เคยเล่าว่า การคัดเลือกพนักงาน ไม่ได้เลือกแค่ความเก่งเท่านั้น แต่ต้องเลือกคนที่ Bezos รู้สึกว่าน่านับถือ และน่าชื่นชม เพราะหากเรารู้สึกว่าคนใดคนหนึ่งน่านับถือ และน่าชื่นชม แสดงว่าเราสามารถเรียนรู้ตัวอย่างจากคนๆ นั้นได้

โดยคนที่ Bezos จะชื่นชม คือคนเก่ง แต่ต้องเป็นผู้ฟังที่ดี และพร้อมที่จะเปลี่ยนความคิดเสมอ เพราะคนเก่ง “จะเป็นคนที่ทบทวนความเข้าใจ ทบทวนถึงปัญหาที่เคยหาทางออกไปได้แล้วเสมอ เป็นคนที่ยอมเปิดมุมมอง หาข้อมูล ความคิด และความท้าทายใหม่ๆ ให้กับวิธีการคิดของตัวเอง”

หนึ่งในคำถามที่สามารถวัดความน่านับถือ และน่าชื่นชม ได้ คือ “ให้เล่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่คุณได้รับ Feedback จากคนอื่นๆ และทำให้คุณเปลี่ยนกลยุทธ์ในการทำงาน” ซึ่งคำถามนี้จะวัดได้ว่า ผู้สมัครแต่ละคนพร้อมที่จะเปิดใจยอมรับไอเดียใหม่ๆ และสามารถทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้หรือไม่

ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับทีม

Jeff Bezos มองหาพนักงานที่จะมีส่วนในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Amazon เหมือนกับการสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นเรื่อยๆ

ในช่วงเวลาสัมภาษณ์งาน Amazon จะคัดเลือกผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ เพื่อประเมินว่า ผู้สมัครคนนั้นๆ จะสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรได้อย่างไร โดยเทียบกับค่านิยมผู้นำ 14 ประการของ Amazon เช่น การให้ความสนใจกับความต้องการของลูกค้า มีความเป็นผู้นำ และชอบการเรียนรู้ เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของ Amazon)

ผู้สมัครที่เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี สามารถตอบคำถามโดยอ้างอิงกับค่านิมยมผู้นำ 14 ประการได้ ซึ่งจะทำให้ช่วยเพิ่มโอกาสที่จะทำให้ได้งาน

ฉายความเป็นดาว สร้างความแตกต่างจากคนอื่นๆ

ลักษณะนิสัยสุดท้ายที่ Amazon มองหาจากผู้สมัคร ที่จะเข้ามาเป็นพนักงาน นั่นคือ “ความเป็นดาว” ที่แตกต่างจากคนอื่นๆ Jeff Bezos อธิบายว่า แต่ละคน มีทักษะ ความสนใจ และมุมมองที่แตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยสร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีได้ และบางครั้งความแตกต่าง และความโดดเด่นของพนักงานแต่ละคน อาจไม่ใช่ทักษะที่เกี่ยวกับเรื่องานเลยด้วยซ้ำ เหมือนครั้งหนึ่งที่ Amazon เคยจ้างพนักงานที่ได้รับรางวัลการแข่งขันสะกดคำระดับประเทศ (Spelling Bee)

คำถามที่ Amazon มักใช้ คือ “Amazon เป็นบริษัทที่แตกต่าง ไม่เหมือนใคร แล้วความแตกต่างของตัวคุณ ที่ไม่เหมือนใครคืออะไร” หรือ “หาก Jeff Bezos เดินเข้ามาในห้อง และให้เงิน 1 ล้านดอลลาร์ คุณจะมีไอเดียในการทำธุรกิจอย่างไร” ซึ่งคำถามเหล่านี้ ผู้สมัครที่เตรียมตัวมาดี จะสามารถฉายแววความโดดเด่น สร้างความแตกต่างจากผู้สมัครคนอื่นๆ ได้อย่างชัดเจนที่สุด

ชวนมาหาคำตอบความต่างที่นายจ้างต้องการ

ความจริงแล้วปัจจัยที่จะทำให้ได้งาน หรือไม่ได้งาน ยุคนี้แค่ความเก่งคงยังไม่พอ เพราะต้องมีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานที่จำเป็นกับยุคปัจจุบันด้วย การสร้างความแตกต่าง และความโดดเด่นเหนือผู้สมัครคนอื่นๆ จึงสำคัญ ถ้าอยากรู้ว่าทักษะ หรือความโดดเด่นอะไรที่นายจ้างต้องการ ชวนมาหาคำตอบกันได้ที่งาน Brand Inside Forum 2020: New Workforce

จากผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานที่หลากหลาย ทั้งในมุมของนายจ้าง และลูกจ้าง ซึ่งงานจะจัดขึ้นวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่ 9.00 – 16.00 น. ที่สามย่านมิตรทาวน์

โดยสามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ https://forum.brandinside.asia/newworkforce-2020

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา