มาตรการ “โกดังเก็บหนี้” ทางช่วยธุรกิจโรงแรมหลังเจอโควิดลากยาว

รัฐเตรียมออกมาตรการ โกดังเก็บหนี้ ช่วยธุรกิจโรงแรมหลังโควิดลากยาวทั้งในและต่างประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดธุรกิจโรงแรมในไทยใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ปีในการฟื้นตัว โรงแรมจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 4,000 รายวิกฤตหนักต้องช่วยเหลือเร่งด่วน

Bangkok Silent Night COVID-19 โกดังเก็บหนี้
ภาพจาก Shutterstock

สถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ทำให้ความหวังในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวต้องหยุดชะงักเนื่องจากประเทศยังไม่สามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อย่างที่เคยคาดการณ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าการท่องเที่ยวไทยในปี 2564 จะไม่กลับมาดีขึ้นและทำการปรับประมาณค่าคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 2-4.5 ล้านคนจากที่เคยประมาณไว้ 4.5-7 ล้านคนในปี 2563

แม้ว่าในปี 2564 จะมีการคาดการณ์ปริมาณการท่องเที่ยวในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 90-120 ล้านครั้งแต่ขนาดของรายได้ที่เกิดจากการท่องเที่ยวในประเทศก็ยังไม่สามารถทดแทนรายได้ส่วนที่หายไปจากการสูญเสียนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เนื่องจากธุรกิจโรงแรมและที่พักมีสัดส่วนรายได้ที่เกิดจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงถึง 70% ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 5 แสนล้านบาท

ธุรกิจโรงแรมโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติสูงอย่างโรงแรมและที่พักในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ สุราษฎร์ธานี สงขลา กรุงเทพฯ ชลบุรี และเชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก รวมถึงกลุ่มที่พักราคาประหยัดซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดเนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านการแข่งขันและสร้างรายได้

โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่ามีกิจการโรงแรมและที่พักจดทะเบียนจำนวนกว่า 4,000 แห่งที่ต้องการความช่วยเหลือและเยียวยาอย่างเร่งด่วนในสถานการณ์นี้

ตรัง Trang Covid-19 13
ภาพโดย Brand Inside

แม้ที่ผ่านมารัฐบาลจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือทั้ง Soft Loans การขยายเวลาชำระหนี้ ยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมโรงแรม กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน แต่มาตรการเหล่านั้นเป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อเยียวยาผลกระทบระยะแรกและไม่เพียงพอต่อผลกระทบที่มากขึ้นจากการระบาดระลอกใหม่

เพื่อเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นรัฐบาลและธนาคารพาณิชย์เตรียมออกมาตรการโกดังเก็บหนี้ หรือ Asset Warehousing ซึ่งอยู่ระหว่างการสรุปรายละเอียดเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยวัตถุประสงค์ของมาตรการนี้คือการที่ผู้ประกอบการขายหรือโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของให้กับสถาบันการเงินตามราคาและเงื่อนไขที่ตกลงกันโดยที่ผู้ประกอบการยังมีสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้โดยการเช่าและทำการซื้อคืนกิจการในภายหลัง

มาตรการโกดังเก็บหนี้นี้จะทำให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากการที่ภาระหนี้และต้นทุนในการจัดการโรงแรมลดลง ขณะเดียวกันก็ยังเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับสถาบันทางการเงินในการลดความเสี่ยงจากภาวะหนี้เสียและลดภาระในการตั้งกองทุนและสำรองหนี้

อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ยังอยู่ระหว่างการสรุปเงื่อนไข เช่น

  • กลุ่มผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมโครงการและการประเมินศักยภาพลูกค้าของธนาคาร
  • ราคาในการขาย-โอนกรรมสิทธ์/ราคาซื้อคืน-ค่าประกัน
  • ภาระภาษีและค่าธรรมเนียมในการโอนหนี้
  • ระยะเวลาของโครงการ
  • เกณฑ์การจัดชั้นหนี้และตั้งสำรองหนี้/ทรัพยสินรอการขายสำหรับสถาบันการเงิน
  • การเพิ่มสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการในการรักษาสภาพโรงแรม

สรุป:

การระบาดระลอกใหม่ทำให้การท่องเที่ยวไทยปี 64 ไม่ฟื้นตัว เสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โรงแรมและที่พักที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับผลกระทบหนักโดยเฉพาะที่พักราคาประหยัดที่ไม่มีทางเลือกในการสร้างรายได้มาก ภาครัฐเตรียมดันนโยบายโกดังเก็บหนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและช่วยลดความเสี่ยงหนี้เสียให้กับธนาคาร

อย่างไรก็ตามนโยบายนี้เน้นช่วยธุรกิจโรงแรมและที่พักที่จดทะเบียนเป็นหลัก ธุรกิจโรงแรมที่ไม่ได้จดทะเบียนอาจต้องรอการช่วยเหลือจากมาตรการอื่นๆ ต่อไป

ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา