อย่าด่วนสรุป ฮ่องกงพบไวรัส COVID-19 แบบอ่อนๆ ในสุนัข อาจเป็นการปนเปื้อน?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาหน่วยงานที่ดูแลเรื่องสาธารณสุขของฮ่องกง ตรวจพบเชื้อไวรัส COVID-19 แบบอ่อนๆ (Weak positive) ในสุนัขพันธ์ุปอมเมอเรเนียนที่เจ้าของป่วยเป็นโรค COVID-19 เช่นกัน

สุนัขสวมใส่หน้ากากอนามัย ภาพจาก shutterstock

ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยฮ่องกง และองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ได้ยืนยันว่าสุนัขนี้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 แบบอ่อนๆ และเป็นการติดต่อจากมนุษย์สู่สัตว์ แต่ในขณะนี้ยังไม่พบว่าสัตว์เลี้ยงจะสามารถป่วยและเป็นพาหะแพร่เชื้อไวรัส COVID-19 ได้ ดังนั้นเจ้าของสัตว์เลี้ยงควรใส่ใจรักษาความสะอาด ล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสกับสัตว์เลี้ยง หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหากกังวล

เนื่องจากเชื้อไวรัส COVID-19 สามารถมีชีวิตอยู่บนพื้นผิวต่างๆ ได้ รวมถึงขนสัตว์ บางครั้งสัตว์เลี้ยงอาจไม่ได้ติดเชื้อไวรัส แต่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่ที่ขนสัตว์ได้ ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้มีการตรวจแอนติบอดีในเลือดของสัตว์เลี้ยง ซึ่งจะยืนยันได้ว่าพวกมันติดชื้อไวรัส COVID-19 จริงๆ หรือไม่

แผ่นรองปัสสาวะสุนัข ภาพจาก fourpaws.com

ไม่ใช่แค่ที่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ความกังวลดังกล่าวทำให้เจ้าของสัตว์เลี้ยงหลายรายในประเทศญี่ปุ่น Ken Tsuchiya ผู้อยู่อาศัยในเมืองเซะตะงะยะ ใกล้กับโตเกียว เล่าว่าเขาเริ่มกังวลและไม่กล้าพาสัตว์เลี้ยงออกนอกบ้านแล้ว และแผ่นรองซับปัสสาวะสัตว์เลี้ยงขาดตลาด แม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะยืนยันว่าไม่ต้องกังวล แต่ให้หลีกเลี่ยงการพาสัตว์เลี้ยงออกไปยังสถานที่ๆ มีคนจำนวนมาก

อย่างไรก็ตามการพบเชื้อไวรัส COVID-19 ในสุนัขไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะที่ผ่านมาในช่วงการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรง หรือซาร์ส ในปี 2003 ก็มีรายงานเช่นกันว่ามีการค้นพบเชื้อซาร์สในสุนัข 1 และแมวอีก 8 ตัว แต่อย่างใดก็ตามในสมัยนั้นไม่ได้มีการตรวจแอนติบอดีในเลือดของสุนัขและแมว จึงยืนยันไม่ได้ว่ามีการติดเชื้อจริง หรือเป็นเพียงการปนเปื้อนของเชื้อซาร์สที่ขนของมัน

ที่มา – scmp, japantoday, time

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา