ฮ่องกงกำลังหลงทาง หรือวางแผนมาดี กรณียกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้า

หลังจากที่ฮ่องกงยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว พอจบปีสรุปตัวเลข ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจากหลักพันคันต่อปีเหลือเพียงหลักสิบเท่านั้น ส่วนรถยนต์เชื้อเพลิงกลับเติบโต ขายดีมากขึ้น สรุปแล้วฮ่องกงยังอยากเป็นเมืองสีเขียวจริงๆ ใช่หรือไม่?

Photo: Shutterstock

ฮ่องกงยกเลิกนโยบายสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า ยอดขายตกระนาว

ย้อนประวัติกันก่อน ฮ่องกงเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวนโยบายผลักดันให้ขนส่งประเทศเป็นสีเขียวมาตั้งแต่ปี 1994 และนับตั้งแต่เดือนเมษายนปี 2011 ที่มีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ที่ 69 คัน พุ่งสูงขึ้นในเดือนเมษายนปี 2018 ที่ 10,588 คัน (รถยนต์ทั้งฮ่องกงมีอยู่ประมาณ 590,000 คัน)

แต่หลังจากที่รัฐบาลฮ่องกงยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2017 ซึ่งจะมีผลจนถึงวันที่ 1 มีนาคม 2018 เล่นเอาบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าหลายรายเข่าทรุดไปตามๆ กัน รายที่อาการหนักสุดคือ Tesla ที่ทำเอายอดลงทะเบียนสั่งซื้อสะดุด เพราะการยกเลิกนโยบายตัวนี้

นอกจากนั้นยังมีข่าวว่า หากรัฐบาลไม่กลับมาสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอีกครั้งในเร็วๆ นี้ Tesla จะลดขนาดของบริษัทในฮ่องกงลง เพราะหลังจากยกเลิกนโยบายในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในฮ่องกงในปี 2017 เหลือเพียง 99 คันในฮ่องกง ถือเป็นตัวเลขที่ต่ำมาก เพราะปีก่อนหน้านั้นมียอดขายสูงถึง 2,078 คันทั้งประเทศ

Photo: Shutterstock

หั่นนโยบาย ช่วยเหลือแต่รถยนต์คันแรก แต่ดูเหมือนไม่ได้ช่วยอะไร

อย่างไรก็ตาม การยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าของฮ่องกง จะอนุโลมเหลือให้เพียงผู้ที่ซื้อรถยนต์คันแรกเท่านั้น แต่นั่นดูเหมือนว่าไม่ได้ช่วยอะไร เพราะจะลดหย่อนภาษีได้เพียง 97,500 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 400,000 บาทเท่านั้น เป็นตัวเลขช่วยเหลือที่ต่ำมาก เพราะภาษีรถยนต์ในฮ่องกงมีราคาสูง อัตราภาษีเริ่มต้นที่ 40% ในทุกๆ 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกง

ลองคำนวณภาษีรถยนต์หรูของ Mercedes รุ่น E200 ที่วางขายในเกาะฮ่องกงกันดู

  • ราคารถ Mercedes รุ่น E200 อยู่ที่ 600,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 2.4 ล้านบาท
  • พอนำเข้าไปขายในฮ่องกง จะถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่ม 400,000 ดอลลาร์ฮ่อง หรือ 1.6 ล้านบาท
  • ดังนั้น ราคาของรถ Mercedes รุ่น E200 ในฮ่องกงจะอยู่ที่ 1 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง หรือ 4 ล้านบาท
Photo: Shutterstock

ทำยอดขายรถยนต์เชื้อเพลิงกลับมาดี สวนทางนโยบายสีเขียวประเทศ

หลังจากที่ฮ่องกงยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้า ทำให้ยอดขายรถยนต์เชื้อเพลิงกลับมาขายดีอีกครั้ง

ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือนเมษายนจนถึงธันวาคม 2017 ในขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ายอดตกจาก 2,078 เหลือเพียง 99 คัน แต่รถยนต์เชื้อเพลิงขายดี เติบโต 4.3% มียอดขายทั้งหมด 30,764 คัน

ค่ายรถยนต์อย่าง Audi บอกว่า ยอดขายดีขึ้น 11.5% จากปีก่อนหน้า ส่วน Mercedes-Benz ก็มียอดขายเพิ่มขึ้น รวมแล้วอยู่ที่ 480 คัน สูงกว่าปีที่แล้วที่ขายได้ 373 คัน

แต่ปัญหาคือ ฮ่องกงรู้ตัวหรือไม่ว่ากำลังเดินหน้าไปในทิศทางนี้ การยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าดูเหมือนจะสวนทางกับนโยบายสีเขียวของประเทศ เพราะต้องไม่ลืมว่า ปัญหามลพิษเป็นหนึ่งในปัญหาใหญ่ของฮ่องกงที่คร่าชีวิตผู้คนไปกว่าปีละ 20,000 ราย

คำถามใหญ่ : ฮ่องกงกำลังหลงทาง หรือวางแผนมาดี

Donald Tsang Yam-kuen อดีตผู้บริการสูงสุดของฮ่องกงเคยระบุไว้ในนโยบายของประเทศช่วงปี 2009 – 2010 ว่า เขาต้องการให้ฮ่องกงเป็นประเทศแรกในเอเชียที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างกว้างขวางที่สุด

ในปี 2011 ฮ่องกงตั้งเป้าไว้ว่า จะเป็นประเทศที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าและไฮบริดถึง 30% ภายในปี 2020

แต่หลังจากการยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงปีที่ผ่านมา ตัวเลขไม่โกหก และเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ในระดับหนึ่งว่า ฮ่องกงดูเหมือนจะไม่ได้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อไป

ฮ่องกงกำลังหลงทาง หรือวางแผนมาดี?

ศาสตราจารย์ Eric Cheng Ka-wai แห่งมหาวิทยาลัย Polytechnic มองต่อประเด็นนี้ว่า การยกเลิกนโยบายลดหย่อนภาษีครั้งนี้ จะทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายราย ต้องส่งรุ่นที่ราคาถูกลงมาแข่งกันมากขึ้น

“เพราะถ้าจุดประสงค์คือ ต้องการทำให้มลพิษเป็นศูนย์จริงๆ รถยนต์ไฟฟ้าในฮ่องกงก็ไม่จำเป็นต้องใส่ฟีเจอร์หรูๆ แพงๆ” ศาสตราจารย์ Cheng มองว่า เอาเข้าจริงแล้ว ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสามารถผลิตให้อยู่ในราคา 150,000 ดอลลาร์ฮ่องกง หรือประมาณ 600,000 บาทได้ “และด้วยราคานี้ จะทำให้ผู้คนหันมาสนใจรถยนต์ไฟฟ้า และยอดขายจะพุ่งแซงรถยนต์แบบเชื้อเพลิงอย่างแน่นอน” และเมื่อเวลานั้นมาถึง รัฐบาลอาจจะทำนโยบายคืนภาษีให้กับประชาชนที่หันมาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าราคาถูกใช้งาน

  • ถึงที่สุดแล้ว อาจสรุปได้ว่า หากมองนโยบายของรัฐบาลฮ่องกงขณะนี้จะดูเหมือนว่ากำลังหลงทาง แต่ถ้ามองแบบที่ศาสตราจารย์ท่านนี้บอก ก็ถือว่าฮ่องกงกำลังวางแผนด้านรถยนต์ไฟฟ้าในระยะยาว

อ้างอิง – South China Mornig Post [1], [2][3]Ejinsight

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา