ปัจจุบัน Cashless Society หรือสังคมไร้เงินสดกำลังเป็นที่นิยมอย่างมาก ซึ่งตอนนี้หลายๆ ประเทศก็เริ่มเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันแล้ว ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดอย่างหนึ่งคือจีน ส่วนฮ่องกงซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษนั้นแม้จะยังไม่ได้เข้าสู่สังคมไร้เงินสดเร็วเท่าจีน แต่อัตราการใช้จ่ายแบบไร้เงินสดของฮ่องกงก็เยอะขึ้นอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะบัตรเครดิต
จากผลการสำรวจของ TransUnion ในไตรมาสสามปีที่แล้วพบว่า คนฮ่องกงถือบัตรเครดิตกันเฉลี่ยแล้วอย่างน้อย 3 ใบต่อคน โดยจำนวนบัญชีบัตรเครดิตในฮ่องกงสูงขึ้น 1.2% อยู่ที่ 18.58 ล้านบัญชีในระยะเวลาเพียง 3 เดือนสิ้นสุดในเดือนกันยายนปีที่แล้ว
วันนี้ทีมงาน Brand Inside จะนำบทสัมภาษณ์ที่น่าสนใจของ Hong Kong Economic Journal โดยเป็นการสัมภาษณ์ผู้บริหารเว็บไซต์ให้บริการเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์การเงิน MoneyHero.com.hk มาเล่าให้ฟังว่า ทุกวันนี้ผู้คนในเขตปกครองพิเศษฮ่องกงของจีนมีพฤติกรรมเลือกใช้บัตรเครดิตเป็นอย่างไร
Rachel Lam ผู้อำนวยการจัดการของ MoneyHero.com.hk กล่าวว่า ลูกค้าชาวฮ่องกงเมื่อต้องการหาผลิตภัณฑ์และบริการธนาคารอย่างเช่นบัตรเครดิต, ประกัน, บัญชี และสินเชื่อส่วนบุคคล จะเดินทางไปยังธนาคารที่ใช้บริการมาเป็นระยะเวลานาน แต่ลูกค้าต้องการสิ่งที่สะดวกและจัดการง่าย ผู้คนจำนวนมากจึงใช้เวลาในการเปรียบเทียบเพื่อเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตัวเองน้อย
แพลตฟอร์ม MoneyHero.com.hk ก็ช่วยให้ชาวฮ่องกงเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตัดสินใจเลือกได้ง่ายขึ้น โดยตอนนี้ MoneyHero ให้บริการในฮ่องกงมาแล้ว 4 ปี ก็มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับการใช้บัตรเครดิตของคนฮ่องกงดังนี้
ชาวฮ่องกงต้องการอะไร
บริษัทที่ให้บริการเว็บไซต์ MoneyHero.com.hk นั้นเปิดตัวเว็บไซต์ในทั้งหมด 7 ประเทศ โดยสำหรับในไทยมาในชื่อ MoneyGuru.co.th ซึ่งแต่ละเว็บก็จะเน้นให้ลูกค้าเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินของผู้ให้บริการท้องถิ่นแต่ละรายในแต่ละประเทศ โดยบริษัทบอกว่าความต้องการของลูกค้าเกี่ยวกับบัตรเครดิตในแต่ละพื้นที่นั้นแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ชาวเยอรมันต่อต้านการใช้บัตรเครดิตเพราะว่ามีทัศนคติที่ไม่ดีเกี่ยวกับการใช้เงินอนาคต, ชาวสหรัฐฯ เคยชินกับการใช้บัตรเครดิต การจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายไม่ใช่เรื่องง่าย
คนประเทศอื่นมักจะมองถึงผลประโยชน์จากบัตรเครดิตในระยะยาว แต่ Lam ให้ความเห็นว่าชาวฮ่องกงอยากได้ผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่า อย่างเช่น welcome gift หรือของขวัญต้อนรับ
ความต้องการแตกต่างไปตามอายุ
เรื่องกลุ่มอายุที่แตกต่างก็มีผลต่อการเลือกใช้บัตรเครดิตด้วยเช่นกัน จากข้อมูลพบว่าคนกลุ่ม millennials จะชอบเปรียบเทียบรางวัลเกี่ยวกับการท่องเที่ยวจากบัตรเครดิตแต่ละใบเนื่องจากคนกลุ่มนี้มักจะท่องเที่ยวบ่อย ทำให้ธนาคารเริ่มออกบัตรเครดิตที่เน้นเรื่องรางวัลที่ได้จากการท่องเที่ยวในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แถมรางวัลการท่องเที่ยวก็แตกต่างกันไปตามผู้ให้บริการบัตรเครดิตแต่ละราย ตั้งแต่ 2.78 ไปจนถึง 25 ดอลลาร์ฮ่องกงต่อไมล์ ยกตัวอย่างเช่นยอดใช้จ่ายเพื่อการแลกตั๋วเครื่องบินฮ่องกง-โอซาก้าอยู่ที่ 83,400-750,000 ดอลลาร์ฮ่องกง
แต่เมื่อมองไปที่กลุ่มวัยกลางคนนั้น จะพบว่าส่วนมากมักจะไม่ค่อยใช้เวลาในการเปรียบเทียบอะไรมากนัก คนกลุ่มนี้ไม่ต้องการขั้นตอนการรับรางวัลที่ยาวและยุ่งยาก แต่ต้องการเงินคืนมากกว่า ทำให้ธนาคารหลายแห่งออกบัตรเครดิตจับตลาดกลุ่มคนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทำให้บัตรเครดิตเงินคืนกระแสหลักในฮ่องกงเฉลี่ยแล้วให้อัตราเงินคืนเพิ่มขึ้นเป็น 2% จากเดิม 1%
Contactless สมรภูมิถัดไปของผู้ให้บริการบัตรเครดิตฮ่องกง
สมรภูมิถัดไปของบัตรเครดิตคือ contactless โดย Lam ให้ความเห็นว่า เมื่อบริการอย่าง Apple Pay เป็นที่นิยมมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะเก็บบัตรเครดิตไว้ในมือถือแทนการถือบัตรเครดิตนับสิบใบ และการทำธุรกรรมไม่ใช่แค่จะสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่จะเร็ว ปลอดภัย และดูข้อมูลย้อนหลังได้ง่ายด้วย
Lam บอกว่าธนาคารและบริษัทบัตรเครดิตจำนวนมากทุกวันนี้เริ่มรุกการโปรโมตการจ่ายเงินแบบ contactless สำหรับโทรศัพท์มือถือมาก บางรายถึงขั้นให้เงินคืนเต็มจำนวนสำหรับยอดใช้จ่าย 50 ดอลลาร์ฮ่องกงเลยทีเดียว บริษัทมักจะไม่สนใจเรื่องการสูญเสียรายได้ในตอนเริ่มต้นเพราะรู้ว่าพฤติกรรมลูกค้านั้นไม่ได้เปลี่ยนวิธีจ่ายเงินกันง่าย ๆ ดังนั้นบริษัทจึงลองทุกวิถีทางในการดึงดูดลูกค้าและเก็บส่วนแบ่งตลาดให้เยอะที่สุดในตอนแรกให้ได้
นอกจากนี้ Lam ยังให้ความเห็นว่าฮ่องกงนั้นเริ่มบุกเบิกในการปรับตัวเองเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว โดยคนฮ่องกงใช้บัตรเครดิตในการใช้จ่ายหลายที่ ยกเว้นตลาดสด และตอนนี้ 50% ของการใช้จ่ายในฮ่องกงไม่ใช้เงินสดแล้ว ซึ่ง Lam ให้ความเห็นว่าฮ่องกงนั้นน่าจะเข้าสู่การเป็นสังคมไร้เงินสดแล้ว
สรุป
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับฮ่องกงทุกวันนี้คือการจ่ายเงินแบบ contactless โดยเฉพาะผ่านโทรศัพท์มือถือ เพราะจะช่วยให้สังคมไร้เงินสดเกิดได้ง่ายขึ้น และผู้บริโภคก็จะให้ความสำคัญในการเลือกบัตรตามความต้องการของตัวเองมากยิ่งขึ้น ส่วนฝั่งผู้ให้บริการบัตรก็พยายามแข่งขันเพื่อมอบโปรโมชั่นโดนใจให้ผู้บริโภคเลือกบัตรเครดิตของตัวเองได้อยู่เรื่อย ๆ
ส่วนฝั่งไทยนั้น ตอนนี้ธนาคารก็ตั้งกลุ่มแยกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือ KBANK และ BBL ส่วนกลุ่มที่สองคือ SCB พร้อมกับธนาคารอื่น ๆ ทั้งสองกลุ่มนี้แข่งขันกันค่อนข้างดุเดือดและจะรุกตลาดวางเครื่อง EDC สำหรับรูดบัตรให้ได้ และน่าจะเห็นผลชัดเจนมากขึ้นในอนาคต
ที่มา – EJ Insight
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา