Homeprise (โฮมไพร์ส) แพลตฟอร์มตกแต่งบ้านที่ใช้เทคโนโลยี AR/VR เข้ามาลัดขั้นตอนการทำงาน ลูกค้าไม่ต้องเสียเวลาในการค้นหาของแต่งบ้าน ลดเวลาดีไซเนอร์ ลดต้นทุนผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ฝีมือคนไทยที่บอกว่าเป็นรายแรกของเอเชีย
“ผมไม่เข้าใจ ทำไมมีแต่คนรวยเท่านั้นที่แต่งบ้านสวย”
ในงานเปิดตัว Homeprise แพลตฟอร์มตกแต่งบ้านน้องใหม่ของวงการอสังหาริมทรัพย์ (Homeprise อ่านว่า โฮมไพร์ส มาจากคำว่า โฮม ที่แปลว่าบ้าน ส่วน ไพร์ส มาจากคำว่า entreprise หรือที่แปลว่า บริษัท)
พรชัย แสนชัยชนะ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Homeprise ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท โฮมไพร์ส จํากัด ได้ขึ้นให้ข้อมูลบนเวทีในวันเปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยเริ่มต้นจากการเล่าถึง Pain Point ของเขาในฐานะผู้บริโภค
“หนึ่งในปัญหาใหญ่ของการซื้อของตกแต่งบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเฟอร์นิเจอร์ ตู้เย็น เตียง หรือตู้ โดยเฉพาะถ้าไปเลือกซื้อมาจากงานแฟร์เฟอร์นิเจอร์ที่ปีหนึ่งจะจัดกันไม่กี่ครั้ง ปัญหาคือพอเราเลือกแล้ว จ่ายเงินซื้อแล้ว แต่ของมาส่งไม่ตรงกัน ตู้เย็นมาวันนี้ เก้าอี้มาอีกวัน ส่วนเตียงค่อยตามมา”
พรชัย บอกต่อว่า “ปัญหาสินค้ามาไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดอีกปัญหาใหญ่ที่ตามมาคือ ผู้บริโภคตกแต่งบ้านไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงในแง่การใช้งานด้วยซ้ำไป เพราะถ้าของมาไม่ถึงก็ใช้งานไม่ได้ เช่น สั่งชุดซื้อเตียงนอนไปจากงานเดียวกัน แต่วันนี้เตียงมาส่ง ฟูกยังไม่มา ผู้บริโภคก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี”
“ทีนี้จะตกแต่งบ้านทีหนึ่ง คนรวยๆ คนที่เขามีเงิน เขาก็เลยไปจ้างดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบ ช่วยซื้อของ ช่วยตกแต่ง แต่มันมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะกว่าจะได้แปลนมาครั้งหนึ่ง ต้องเอาไปปรึกษาดีไซเนอร์อีกทีเพื่อออกแบบ ขั้นตอนเหล่านี้ใช้เวลาทั้งสิ้น แล้วหลังจากนั้นต้องพากันไปซื้อเฟอร์นิเจอร์ตามงานอีก ไม่แปลกที่ค่าใช้จ่ายต่อครั้งจะสูง”
“แต่คำถามของผมคือ ทำไมต้องมีแต่คนรวยเท่านั้นที่แต่งบ้านสวย ทำไมคนไทยทั่วๆ ไปจะแต่งบ้านสวยไม่ได้ ผมสร้าง Homeprise ขึ้นมาไม่ใช่แค่เพื่อทำธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องตอบโจทย์ในการเป็น Marketplace ให้ผู้ขายกับผู้ซื้อมาเจอกันได้ ซื้อของเสร็จ แล้วต้องมาส่งพร้อมกัน รวมถึงมีดีไซเนอร์มาช่วยออกแบบตลอด 24 ชั่วโมง ในด้านหนึ่งผมทำธุรกิจเพื่อเป็นการ educate คนไทยในเรื่องการตกแต่งบ้านด้วย เพราะผมไม่เข้าใจ ทำไมมีแต่คนรวยเท่านั้นที่แต่งบ้านสวย คนไทยทั่วๆ ไป ทำไม่ได้หรือ?”
Homeprise คืออะไรกันแน่?
พรชัย เล่าให้ฟังถึงแอพพลิเคชั่นที่เปิดตัวในวันนี้ว่า Homeprise คือแพลตฟอร์มตกแต่งบ้านที่ผสานเอาเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) ร่วมกับ 3D Interactive
ลูกค้าสามารถตกแต่งและออกแบบบ้านได้ด้วยตนเองผ่านแอพพลิเคชั่นและเว็บไซต์ของ Homeprise ได้ตลอด 24 ชั่วโมง บนแพลตฟอร์มของ Homeprise จะมีดีไซเนอร์ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบบ้านไว้คอยให้คำปรึกษา หากลูกค้าต้องการคำแนะนำ และเมื่อเลือกสินค้ามาวางในห้องหรือในบ้านได้อย่างพึงพอใจแล้ว ของทุกชิ้นที่ลูกค้าตกแต่งบนแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ จะสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงเลย
เขียนไปอาจจะไม่เห็นภาพ ลองดูตัวอย่างการใช้งาน Homeprise จากวิดีโอนี้
เมื่อเห็นภาพแล้ว จะเข้าใจว่า Homeprise จะมีประโยชน์กับกลุ่มคนเหล่านี้
- Homeprise จะเป็น Marketplace สำหรับคนที่ต้องการตกแต่งบ้าน เชื่อมต่อผู้ซื้อกับผู้ขาย ทั้งรายใหญ่ รายเล็ก ไปจนถึง SME เป็นการขยายช่องทางในการขายสินค้า
- จะลด Pain Point ในการสั่งของแล้วมาไม่พร้อมกันทุกชิ้น โดย Homeprise รับประกันว่าหากสั่งของไป ไม่ว่าจะชิ้นเล็กชิ้นใหญ่จะได้ภายใน 30 วัน ส่วนของจะส่งถึงบ้านพร้อมกันทุกชิ้นพร้อมกันในวันเดียว (ขึ้นอยู่กับการตกลงของลูกค้ากับทางทีมงาน) เพื่อเป็นการไม่สร้างปัญหาให้กับผู้บริโภค ทาง Homeprise จะดีลกับผู้ประกอบการด้วยการตั้งทีม Customer Service มาดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ (ความท้าทายของ Homeprise ต่อจากนี้ไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากการสร้าง ecosystem ให้เกิดขึ้นจริง หรือพูดง่ายๆ คือ ทำให้มีร้านค้ารายใหญ่ รายเล็ก รายย่อยมาใช้งานบนแพลตฟอร์มนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อจะทำให้เกิดการใช้งานที่มีประสิทธิภาพ)
ปัจจุบันพาร์ทเนอร์ด้านสินค้าที่ Homeprise จับมือมีอยู่ด้วยกัน 50 แบรนด์ โดยมีจำนวนสินค้ามากกว่า 4,000 รายการ ครอบคลุมทุกกลุ่มสินค้าเกี่ยวกับบ้าน ได้แก่ ชุดครัวจากแบรนด์ Starmark, ผลิตภัณฑ์และสุขภัณฑ์จากแบรนด์ Mogen, เฟอร์นิเจอร์ของ LIFESTYLE, Philos, Niiq, DEMA, PDM, Filobula, Son’Amore, Hawaii Thai, Tokyo Parawood, Fur-9, กระเบื้อง Duragress, ผลิตภัณฑ์ Pasaya, ที่นอน Omazz, Lotus, Dunlopillo และ Simmons เป็นต้น
- Homeprise จะเป็น Designer Service Hub หรือแหล่งรวมดีไซเนอร์ Homeprise ต้องการให้แพลตฟอร์มนี้เป็นพื้นที่รวบรวมนักออกแบบและตกแต่งภายในรวมตัวกัน โดยหากดีไซเนอร์มาร่วมงานกับทาง Homeprise จะสามารถทำงานที่ไหนบนโลกก็ได้ เพราะทุกอย่างจะทำผ่าน Cloud Desigh Techology ขอแค่ดีไซเนอร์มีอินเทอร์เน็ตก็ทำได้ และที่สำคัญจะเป็นการลดต้นทุนให้กับเหล่าบรรดาดีไซเนอร์ เพราะไม่ต้องเสียเวลาเหมือนในอดีตที่ต้องพาลูกค้าไปซื้อของ หรือไปวัดขนาดแปลนของบ้าน จากนี้ทุกอย่างจะทำผ่านแพลตฟอร์มของ Homeprise ทั้งหมดแบบครบวงจร
- Homeprise จะเป็นประโยชน์กับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพราะการออกแบบโครงการบ้านในอนาคตจะตรงใจผู้บริโภคมากขึ้น เพราะผู้บริโภคเป็นคนเลือกเอง นอกจากนั้นยังใช้ Homeprise ในแง่ของการช่วยงานบริการหลังการขายได้ด้วย เช่น Exclusive Interior Service
เบื้องต้นพาร์ทเนอร์ของ Homeprise ที่เป็นสายนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์คือ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จํากัด (มหาชน) แต่ก็ได้ตั้งเป้าไว้ว่า ในปี 2018 นี้จะเพิ่มความร่วมมือมากขึ้นในระดับ B2B และกลุ่มนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม 10 อันดับเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทย
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ มองวงการ PropTech
ผู้ร่วมงานที่น่าสนใจคือ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ เฮ้าส์ จำกัด มหาชน หนึ่งในพาร์ทเนอร์สายนักพัฒนารายล่าสุดของ Homeprise
ชัชชาติ มองว่า วงการอสังหาริมทรัพย์ในแง่ของความต้องการของลูกค้ายังไม่เปลี่ยน รวมถึงตัวของสินค้าเองก็ยังไม่เปลี่ยน แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือ “แพลตฟอร์ม” และการเปลี่ยนตรงนี้เองคือการทำให้ทุกอย่างไวขึ้น เร็วขึ้น สะดวกขึ้น เวลาคือสิ่งสำคัญ เพราะมันคือต้นทุนที่มีค่า
ต่อจากนี้ไป ชัชชาติ ย้ำว่า ลูกค้าที่ต้องการตกแต่งบ้านจะไม่ต้องมาเสียเวลากับการค้นหาของตกแต่งบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป จับจุดไม่ได้ แต่ทุกอย่างรวมอยู่ในแพลตฟอร์มของ Homeprise แล้ว เป็นการลดต้นทุนที่สำคัญมาก ส่วนในด้านของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะลดต้นทุนในการทำบ้านตัวอย่างให้กับลูกค้าได้สูงมาก เพราะลูกค้าจะเป็นคนเลือกเอง
กลางปีนี้จะระดมทุนผ่าน ICO (?)
ในข่าวประชาสัมพันธ์ของ Homeprise ย่อหน้าสุดท้ายมีการระบุถึง แผนการระดมทุนของ Homeprise ที่จะทำการ ICO มูลค่ากว่า 15 – 20 ล้านดอลลาร์ในเดือนพฤษภาคนี้
อย่างไรก็ดี จากการสอบถามเบื้องต้นยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม คงต้องรอดูในเดือนพฤษภาคมนี้ว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร และ Brand Inside จะรายงานให้ทราบต่อไป
เป้าหมายของ Homeprise
พรชัย ระบุว่า ในตลาดเฟอร์นิเจอร์ไทยที่มีมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี Homeprise ได้ลองตลาดในปีที่ผ่านมาและทำรายได้ถึง 40 ล้านบาท ส่วนปีนี้เมื่อมีแอพพลิเคชั่นเข้ามาเสริม ตั้งเป้าว่าจะทำรายได้ถึง 400 ล้านบาท หรือถ้าคิดแบบเปรียบเทียบคือ จะโตขึ้น 10 เท่า หรือ 1,000% นั่นเอง
พรชัย บอกว่า นี่คือแอพพลิเคชั่นของคนไทยที่คิดขึ้นมาเอง เป็นรายแรกของเอเชีย “มันน่าจะถึงวันที่เราเป็น Creator ได้แล้ว หลายคนบอกว่า คนไทยไม่สามารถสร้างเทคโนโลยีได้หรอก แต่เราทำได้”
ผู้อ่านที่สนใจแพลตฟอร์มของ Homeprise ไปดูกันได้ที่ Homeprise
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา