ยุคดิจิทัลแล้ว Home Shopping ขายสินค้าผ่านทีวีไม่พอ ขยายขึ้นออนไลน์เพิ่มฐานลูกค้า

มูลค่าการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ในปี 59 คาดว่าอยู่ที่ 2 แสนล้านบาทและยังมีการเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีผู้ประกอบการ e-Commerce เข้ามาแข่งขันกันทำตลาดเพียบ ผู้บริโภคก็เรียนรู้แล้วว่า การสั่งซื้อของทางเน็ตไม่ได้น่ากลัว ได้รับของถึงบ้านและเลือกจ่ายเงินได้หลายวิธี ใครๆ ก็เลยกระโดดเข้ามาทำเปิดบริการซื้อขายออนไลน์กันทั้งนั้น รวมถึงกลุ่ม Home Shopping

สำหรับธุรกิจ Home Shopping คือ การขายสินค้าผ่านทางทีวี ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกับ “จอร์จ และ ซาร่า” จาก TV Direct หรือผู้ดำเนินธุรกิจอีกรายอย่าง OShopping ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 และ 2 ของตลาดอยู่ ขณะที่อันดับที่ 3 คือ True Select ซึ่งมีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องการ ขึ้นเป็นอันดับ 2 ให้ได้ภายใน 1 ปีจากนี้ไป

ba5a8223

องอาจ ประภากมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูจีเอส จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจ Home Shopping ภายใต้แบรนด์ True Select บอกว่า ตลาด Home Shopping ในประเทศไทย มีมูลค่าประมาณ 8,000 ล้านบาท และมีการเติบโตเฉลี่ยประมาณ 20% ทุกปี แสดงว่า การนำเสนอสินค้าผ่านทีวี หรือการเลือกผู้นำเสนอ มีผลต่อความน่าเชื่อถือ และการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้น True Select จึงพยายามขยายช่องทางเพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด

ปัจจุบัน True Select มีการนำเสนอผ่านทีวีดาวเทียมหรือทีวีเคเบิล ทาง PSI, DTV และ ทรูวิชั่นส์ ทีวีดิจิทัล เช่น True4You, Gmm, ไทยรัฐทีวี และล่าสุดได้เปิดบริการ e-Commerce ผ่านทาง www.trueselect.com เพิ่มขึ้นมา เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคยุคปัจจุบัน ที่มีทั้งดูทีวี โดยเฉพาะในต่างจังหวัด หรือการดูผ่านทางออนไลน์ แต่แน่นอนว่า คู่แข่งรายสำคัญทั้ง TV Direct และ OShopping ก็มีเช่นเดียวกัน

trueselect1

สร้างความแตกต่างที่เนื้อหา และวิธีการนำเสนอ

องอาจ บอกว่า เมื่อช่องทางที่มีถึงผู้บริโภคมีเหมือนกัน ดังนั้นก็ต้องแตกต่างกันที่คอนเทนต์หรือเนื้อหาภายในรายการ อันดับแรก สิ่งที่จะดึงดูดใจให้ผู้บริโภคซื้อผ่าน True Select มากกว่า ต้องมีสินค้า Exclusive คือไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือน ดังนั้นจึงมีการคัดสรรสินค้าทั้งในประเทศและต่างประเทศทุกวัน ในช่วงเวลาประมาณ 3 ทุ่มมานำเสนอผ่านทางทีวี โดยมีสินค้ากว่า 1,300 รายการ

นอกจากนี้ ทรูจีเอส เป็นการร่วมทุนระหว่าง ทรู, จีเอส ช็อป จากเกาหลี, ซีพีออลล์ และ เดอะมอลล์ กรุ๊ป ทำให้มีสินค้าจากเกาหลีและญี่ปุ่นที่ไม่มีที่ไหนมาจำหน่าย และมีแผนลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อเพิ่มจำนวนสินค้าเป็น 5,000 รายการ

ส่วนสำคัญคือ คอนเทนต์ ระหว่า งทีวี กับออนไลน์ ต้องสามารถขยายผล เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสเห็นสินค้ามากขึ้น ไม่ใช่แค่ Copy จากทีวีมาลงออนไลน์ เช่น สามารถ Live ได้ หรือ ดูไฮไลท์สำคัญได้

อีกสิ่งที่ดึงดูดใจผู้บริโภคคือ การได้ดารานักแสดงมาเป็น Shopping Host เช่น จุ๋ย วรัทยา, เป้ย ปานวาด, สุนิสา เจทส์, บุ๋ม ปนัดดา เป็นต้น เป็นผู้นำเสนอสินค้าที่สอดคล้องกับตัวเอง เพื่อทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นและตัดสินใจได้ง่ายขึ้น

สุดท้าย True Select มีอาคารคลังสินค้าย่านบางนา เพื่อช่วยให้สามารถจัดส่งสินค้าให้กับผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และมีบริการ Drop Ship ไปรับสินค้าที่เจ้าของแบรนด์และไปส่งให้ลูกค้าโดยตรง ช่วยในการบริหารจัดการ Logistics Fulfillment ได้ดีขึ้น

ba5a8408

ไม่ทับซ้อนกับ Wemall และ iTruemart เจาะคนละกลุ่มเป้าหมาย

องอาจ บอกว่า True Select มีเป้าหมายที่ชัดเจนคือ เป็น Home Shopping แม้จะขยายมาทำช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมียอดขายเป็นสัดส่วนประมาณ 10% แต่เชื่อว่าจะเพิ่มเป็น 30% ในปีหน้า แต่ก็ไม่ได้ทับซ้อนกับบริษัทในเครือ ทั้ง WeMall และ iTruemart เพราะ True Select เน้นสินค้าเพื่อคุณผู้หญิง และสินค้าภายในบ้าน ได้แก่ Beauty, Fashion, Living และ Electronic อาจจะมีคล้ายกันบ้าง แต่คนละกลุ่มเป้าหมายชัดเจน

“ถ้าเปรียบเทียบแล้ว เหมือนศูนย์การค้าเช่น มีทั้งเซ็นทรัล และโรบินสัน เพื่อรองรับลูกค้าที่แตกต่างกัน ดังนั้น WeMall กับ True Select ก็เช่นเดียวกัน สุดท้ายขึ้นอยู่กับผู้บริโภค”

imac-apple-mockup-app-38544

สรุป

True Select ตั้งเป้าว่าใน 1 ปีจากนี้จะขึ้นเป็นอันดับ 2 ของตลาด Home Shopping โดยปัจจุบันเป็นอันดับ 3 มีส่วนแบ่งตลาด 20% การจะขึ้นอันดับ 3 ต้องมีส่วนแบ่งตลาดประมาณ 35% ถ้ามองจากสรรพทั้งพันธมิตรของ True Select จากการร่วมทุน 4 ราย (ทรู, จีเอส, เดอะมอลล์ และ ซีพีออลล์) สามารถยกระดับการให้บริการได้มากกว่านี้ และถ้าใช้องค์ความรู้จาก Ascend โดยเฉพาะ Aden ที่เชี่ยวชาญด้าน Fulfillment และยังมีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคผ่านทีวีดาวเทียม ทีวีเคเบิล และทีวีดิจิทัล อันดับ 1 ในตลาดอย่าง TV Direct ก็ต้องระวังด้วยเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา