โรงแรมที่ญี่ปุ่นแข่งเดือด จิ้งหรีด-ห้าดาวแห่ลดราคาเกือบ 10% เซ่นรัฐผ่านกฎหมาย Home-Sharing

15 มิ.ย. คือวันที่กฎหมายเกี่ยวกับการอนุญาติบริการ Home-Sharing หรือการนำที่พักอาศัยของตัวเองมาปล่อยเช่ารายวันจะบังคับใช้ในประเทศญี่ปุ่นแล้ว และเหตุการณ์นี้เองก็สร้างแรงกระเพื่อมกับธุรกิจโรงแรมที่นั่นเป็นอย่างมาก

บ้านในประเทศญี่ปุ่น // ภาพโดย Gnsin~commonswiki

ทุกเจ้ายอมคิดใหม่ ไม่ใช่โยนความผิด

ปัจจุบันเทรนด์ของการนำที่พักอาศัยส่วนบุคคลมาปล่อยเช่ารายวันในประเทศญี่ปุ่นนั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะด้วยราคาที่ถูกกว่าโรงแรม ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเลือกที่จะพักในที่แบบนี้มากกว่า และนั่นทำให้ค่าเฉลี่ยของราคาห้องโรงแรมนั้นลดลงมา 9.4% ในปีปฏิทิน 2560 (เม.ย. 2560-มี.ค. 2561)

รวมถึงราคาห้องพักในช่วงสุดสัปดาห์ก็ดลงมาตลอด 2 ปี ซึ่งการลดราคาของโรงแรมปกตินั้นก็เพื่อเพิ่ม Occupancy Rate หรืออัตราการเข้าพักต่อห้องทั้งหมด แต่การปรับลดครั้งนี้กลับทำเพื่อแข่งขันด้านราคากับกลุ่ม Home-Sharing โดยเฉพาะ

ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมชั้นประหยัดที่ราคาราว 10,000 เยน/คืน (ราว 3,000 บาท) จนไปถึงโรงแรม 5 ดาวอย่าง The Imperial Hotel ก็ต่างยอมลดราคาลงมาเพื่อแข่งขันกับการนำที่พักอาศัยมาปล่อยเช่ารายวันให้ได้ โดยตัวโรงแรม 5 ดาวรายนี้นอกจากชนกับ Home-Sharing แล้ว ยังเจอปัญหาโรงแรมระดับกลางที่ลดราคาลงเช่นเดียวกัน

โรงแรม Henn na Hotel ในประเทศญี่ปุ่น

มีโอกาสเพิ่มเป็น 1 แสนแห่งภายในปี 2563

ปัจจุบันมีบ้าน หรือคอนโดมิเนียมที่ลงทุเบียนทำธุรกิจ Home-Sharing แล้วกว่า 60,000 แห่ง แต่ภายในปี 2563 จะเพิ่มเป็น 1 แสนแห่ง เพื่อรับกับมหกรรมกีฬา Olympic ที่จะจัดขึ้นในปีนั้น รวมถึงธุรกิจดังกล่าวยังได้รับความร่วมมือจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อเพื่อทำเป็นที่รับกุญแจบ้านอีกด้วย

ขณะเดียวกันธุรกิจอื่นๆ ก็เริ่มเข้ามาทำตลาด Home-Sharing เช่นกัน ทั้งยักษ์ใหญ่ในโลกอินเทอร์เน็ต Rakuten ที่เตรียมให้บริการนี้ในเว็บไซต์ท่องเที่ยวของตัวเองในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงตัวแทนท่องเที่ยว JTB ก็เปิดให้บริการไปเมื่อปลายปีก่อน โดยร่วมมือกับ 7-Eleven เพื่อเป็นที่รับกุญแจห้อง

อย่างไรก็ตามการอนุญาตให้ Home-Sharing ถูกกฎหมายในญี่ปุ่นนั้นก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่นปล่อยที่พักอาศัยได้เพียง 180 วัน/ปี เป็นต้น แต่ด้วยจำนวนที่มากขึ้นนั้น ก็น่าจะเป็นตัวเลือกที่จะรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เข้ามาในญี่ปุ่นได้กว่า 60 ล้านคนภายในปี 2573 จากปี 2560 อยู่ที่ 28 ล้านคนได้

สรุป

เรียกว่าเป็นการปรับตัวครั้งใหญ่ของผู้ทำธุรกิจโรงแรมก็ว่าได้ เพราะจากเดิมที่ให้บริการได้ปกติที่ อยู่ๆ ก็มีคู่แข่งที่สามารถทำราคาได้ถูกกว่าเข้ามาแข่ง และถ้าไม่ยอมปรับตัว การจะอยู่ในธุรกิจนี้ต่อไปก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นคงต้องรอดูในประเทศไทยว่าเรื่องนี้จะเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วถ้าเกิดขึ้นจริงจะสร้างผลกระทบแค่ไหน

อ้างอิง // Asian Nikkei Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา