หลายคนคงรู้จัก H&M หนึ่งในแบรนด์ Fast Fashion ระดับโลกแต่รู้หรือไม่ว่า H&M ยังถือแบรนด์อื่นๆ อยู่อีก 5 แบรนด์ และตอนนี้แบรนด์เหล่านั้นกำลังจะมาเป็นฟันเฟืองหลักในการสร้างการเติบโตของธุรกิจ
เมื่อ Mass ไม่ไหวก็ Go Niche
กลุ่ม H&M หรือ Hennes & Mauritz ไม่ได้ถือแค่แบรนด์ H&M แต่ยังมีอีก 5 แบรนด์ย่อยคือ COS, Weekday, Cheap Monday, Monki และ &Another Story ซึ่งหลังจากนี้จะถูกให้ความสำคัญมากขึ้น หลังจากยอดจำหน่ายฝั่ง Mass หรือแบรนด์ H&M เริ่มทำได้ไม่ดีนัก จนผลกำไรบริษัทเหลือ 9.5% ของรายได้ จาก 26% ในปี 2550
ซึ่งการให้ความสำคัญกับแบรนด์ย่อยๆ เหล่านี้จะประกอบด้วยการเปิดสาขากว่า 80 แห่งในปีนี้ เพื่อเพิ่มจำนวนจาก 10% ของหน้าร้านกลุ่ม H&M ที่มีกว่า 4,400 แห่ง รวมถึงการเปิดร้าน Concept Store ภายใต้ชื่อ Arket ที่มีตั้งแต่เสื้อผ้า และของใช้ในบ้านระดับ High-End รวมถึงร้าน Café เล็กๆ ภายใต้บรรยากาศ และอาหารแบบสแกนดิเนเวียน
ปรับธุรกิจ เพื่อตามให้ทัน ZARA
อย่างไรก็ตามการให้ความสำคัญกับแบรนด์รอง แสดงให้เห็นถึงการวางกลยุทธ์ตามกลุ่ม Inditex ที่ถือแบรนด์ ZARA เป็นหลัก และมีอีก 7 แบรนด์ย่อยเช่น Massimo Dutti ที่มากับเสื้อผ้าแนวอิตาเลียน, Bershka ที่เจาะกลุ่มวัยรุ่น และ Oysho ที่เป็นแบรนด์ชุดชั้นใน นอกจากนี้กลุ่มวัยรุ่นในปัจจุบันยังไม่มองเรื่องราคา แต่มองการสร้างความแตกต่างด้วยการแต่งตัวมากว่า
ขณะเดียวกันเพื่อความยั่งยืนของธุรกิจกลุ่ม H&M ล่าสุดได้เข้าไปลงทุนในนวัตกรรมการทอผ้าด้วยมูลสัตว์ ผ่านการนำเซลลูโลส หรือสารอินทรีย์ชนิดหนึ่งในมูลสัตว์ มาเปลี่ยนเป็นของแข็ง และทอขึ้นมาเป็นผ้า ซึ่งการลงทุนนี้ถือเป็นหนึ่งในแผนการทำธุรกิจอย่างยืนภายในปี 2583 ของแบรนด์ Fast Fashion จากสแกนดิเนเวียรายนี้
สรุป
การแบ่งแบรนด์ย่อยออกมาเป็นเรื่องจำเป็นหากทำอะไรที่มัน Mass แล้วไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งกรณี H&M ก็เป็นตัวอย่างที่ดี เพราะหากยึดติดอยู่กับแบรนด์หลัก โอกาสที่จะยั่งยืนก็ยาก ดังนั้นการสร้างสิ่งใหม่ๆ หรือ Diversify ธุรกิจ ก็ถือเป็นอีกทางออกในการทำธุรกิจยุคนี้
อ้างอิง // Bloomberg, Cosmopolitan
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา