Hitachi บริษัทอิเล็กทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นเตรียมลงทุนในธุรกิจ health care หรือธุรกิจด้านสุขภาพ ทั้งในด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการแพทย์รวมถึงหาโอกาสควบรวมกิจการในแวดวงธุรกิจนี้ภายใน 3 ปีนับจากนี้จนสิ้นสุดปีงบประมาณ 2023 ด้วยเงินลงทุนราว 3 แสนล้านเยน หรือ 2.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.47 หมื่นล้านบาท
Hitachi จะมุ่งลงทุนไปที่การลงทุนในด้านการจัดการทรัพยากร เทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการประเมินความเสี่ยงของการติดเชื้อ ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (Regenerative Medicine) ท่าทีดังกล่าวของ Hitachi สะท้อนให้เห็นถึงความพยามมุ่งหาโอกาสหลังโควิดระบาดอย่างหนักหน่วง ทั้งนี้ในจำนวนงบที่ว่ามาราว 3 แสนล้านเยนนี้ ครึ่งหนึ่งจะใช้พัฒนาธุรกิจในส่วนของการควบรวมกิจการ (M&A)
นอกจากนี้ Hitachi ก็เพิ่งจะลงทุนกับสตาร์ทอัพที่เชี่ยวชาญด้านชีวการแพทย์ด้วย บริษัทยังเร่งพัฒนาเทคโนโลยีในการวิจัยและพัฒนาราว 1 แสนล้านเยน ทั้งนี้ด้านบริษัทเองก็หวังว่าจะเพิ่มยอดขายด้านการแพทย์และสินค้าด้านสุขภาพราว 3.6 แสนล้านเยนในปีงบประมาณ 2024 เพิ่มขึ้นจากยอดขายที่ประมาณการไว้ในปีงบประมาณ 2021 ราว 70%
ก่อนหน้านี้ Hitachi ก็เพิ่งจะขยายธุรกิจที่เกี่ยวกับการวินิจฉัยด้วยภาพ (Diagnostic Imaging) ให้กับ Fuji Film Holdings ไม่ว่าจะเป็นเครื่อง CT สแกน หรือเครื่อง MRI ให้ทาง Fuji เป็นเจ้าของ Hitachi High-Tech Corp 100% ในช่วงปลายปี 2019 ที่ผ่านมาด้วยมูลค่า 1.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5.33 หมื่นล้านบาท นี่ถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับตตัวของธุรกิจ Hitachi ที่เปลี่ยนจากฮาร์ดแวร์หันมาทำด้านซอฟต์แวร์มากขึ้น
Hitachi กำลังหาทางเพิ่มยอดขายจากธุรกิจที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับวินิจัยฉัยภายนอกร่างกาย (in vitro diagnosis) เช่น ใช้เครื่องมือทางการแพทย์เพื่อทดสอบกับสิ่งที่ส่งตรวจไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะ เลือด หรือเนื้อเยื่อด้วยมูลค่าราว 2 แสนล้านเยนหรือประมาณ 5.7 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ Hitachi กำลังพัฒนาการวินิจฉัยโรคด้วยเทคนิคด้านอณูพันธุศาสตร์ (molecular diagnostics) เช่น การตรวจหาโรคมะเร็งโดยการวิเคราะห์จากยีนในกระแสเลือด แค่นั้นยังไม่พอ Hitachi ยังตั้งเป้าจะพัฒนา AI เพื่อให้ช่วยมอนิเตอร์และทำให้สเต็มเซลล์เติบโต
นอกจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ไปจนถึง AI แล้ว Hitachi ยังเตรียมร่วมมือกับบริษัทต่างๆ มากขึ้นเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีในการรักษามะเร็ง ขยายธุรกิจการผลิตยาและคาดว่าน่าจะช่วยเพิ่มยอดขายได้มากถึง 1 แสนล้านเยน ยิ่งไปกว่านั้น Hitachi ยังต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูล โดยคาดหวังว่าจะสามารถกระจายข้อมูลระหว่างโรงพยาบาลได้โดยจะทำเป็นแหล่งบันทึกข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ด้านการแพทย์ด้วย
ทั้งนี้ Grand View Research บริษัทวิจัยด้านข้อมูลของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าตลาดธุรกิจการแพทย์นี้จะขยายตัวได้ราว 6.2% และอาจมีมูลค่ามากถึง 7.98 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 25 ล้านล้านบาทภายในปี 2028 ไม่ได้มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Hitachi รายเดียวเท่านั้นที่เข้ามาอยู่ในตลาดธุรกิจการแพทย์นานแล้ว แต่ยังมี Toshiba ด้วยที่กำลังเริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีที่สามารถวินิจฉัยโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นด้วยการวิเคราะห์จากเลือดเพียงหยดเดียวเท่านั้น เรื่องเทคโนโลยีด้านการแพทย์ก้าวหน้าขนาดนี้ก็ยิ่งส่งผลดีต่อผู้บริโภคที่ไม่รู้ว่าอนาคตจะได้เป็นคนป่วยโรคใดหรือไม่ ยิ่งตรวจวินิจฉัยพบโรคเร็วก็ยิ่งทำให้ง่ายต่อการรักษาให้หายและฟื้นฟูร่างกายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
- Canon ขอเวลา 3 ปี ชอปปิ้งธุรกิจการแพทย์และอื่นๆ ที่น่าสนใจรวมมูลค่ากว่า 1.1 แสนล้านบาท
- กรุงไทยชี้ 3 เทรนด์การแพทย์สมัยใหม่ นำไทยสู่ Medical Hub เต็มรูปแบบ
ที่มา – Nikkei Asia, Reuters, Fuji Film
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา