เปิดประวัติ Watsons: จากคลินิกผ่าตัดตา (และขายฝิ่น) สู่ Top 5 ร้านสุขภาพและความงามระดับโลก

เชื่อว่าหลายคนคงคุ้นหน้าคุ้นตากับ Watsons ร้านค้าปลีกผลิตภัณฑ์ด้านความงามและไลฟ์สไตล์ที่มีสาขาจำนวนมาก ที่สำคัญคือยังติด 1 ใน 5 ร้านสุขภาพและความงามที่มียอดขายสูงที่สุดในโลก แต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้ว นี่คือบริษัทที่มีความเป็นมายาวนานกว่า 180 ปี ถือเป็นธุรกิจที่เก่าแก่เป็นอันดับต้นๆ ของฮ่องกงเลยทีเดียว

วันนี้ Brand Inside จะพาผู้อ่านทุกท่านไปพบกับจุดเริ่มต้นของ Watsons ตั้งแต่เริ่มต้นโดยหมอผ่าตัดตาจากอังกฤษในยุคอาณานิคม สู่ร้านยาที่ได้รับใบอนุญาตให้ขายฝิ่น ก่อนที่จะกลายมาเป็นร้านค้าปลีกที่โด่งดังไปทั่วเอเชียและยุโรป

Watsons เริ่มต้นจากคลินิกผ่าตัดตา

จุดเริ่มต้นของ Watsons ต้องเล่าย้อนไปถึงปี 1828 ในกว่างโจว เมื่อ Dr. James H. Braford เข้ามาเปิดคลินิกสำหรับผ่าตัดดวงตาฟรีให้กับคนท้องถิ่นในเมืองท่าในกว่างโจว ก่อนจะขยายกิจการไปเป็นร้านยาในปี 1832 ซึ่งในภายหลังก็มีศัลยแพทย์จากราชนาวีอังกฤษและบริษัทบริติชอีสต์อินเดีย 2 คน คือ Alexander Anderson และ Peter Young เข้ามาเป็นอาสาสมัคร

ต่อมาในวันที่ 26 มกราคม 1841 อังกฤษได้เข้าครอบครองฮ่องกงเป็นอาณานิคม ทำให้ Anderson และ Young ตัดสินใจย้ายมาเปิดร้านขายยาที่ Possession Point บนเกาะฮ่องกง ก่อนที่ก่อตั้งร้านขายยาที่มอร์แกนส์บาซาร์ในฐานทัพเรือ ในวันที่ 1 ม.ค. 1843 โดยในขณะนั้นมีเภสัชกรจำนวนมากที่หันมาขายยาแผนตะวันตกและสินค้าอุปโภคให้กับเรือสินค้าที่เดินทางผ่านฮ่องกง

image from A.S. Watson Group History Book – 180 Years of LOVE

จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจเกิดขึ้นเมื่อปี 1856 เนื่องจากการเข้ามาของ Thomas Boswell Watson เพราะในอีก 2 ปี เขาได้ส่งทอดกิจการให้กับหลานของเขาอย่าง Alexander Skirving Watson ผู้เป็นเจ้าของชื่อของบริษัท A. S. Watson ในปัจจุบัน และยังเป็นผู้เปลี่ยนโฉมหน้าให้ Watsons เปลี่ยนจากคลินิกทั่วไปสู่การเป็นบริษัทค้าปลีกเวชภัณฑ์ยาอย่างเต็มรูปแบบ

สู่การขายยาและค้าฝิ่น

Watsons ในยุคของ A. S. Watson ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบธุรกิจไปสู่การขายยาให้กับเรือสินค้าและชุมชนชาวต่างชาติในฮ่องกง และหนึ่งในสิ่งที่สำคัญคือ A. S. Watson เป็นหนึ่งในเภสัชกรที่ได้รับอนุญาตให้ขายฝิ่นให้กับผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ในทางการแพทย์ ตามกฎหมายการอนุญาตและควบคุมการจำหน่ายฝิ่น ปี 1858 

นั่นทำให้ Watsons กลายเป็นบริษัทเป็นรายใหญ่ในผู้จัดจำหน่ายเลาดานุม หรือสารละลายฝิ่นผสมแอลกอฮอล์ และสารเสพติดชนิดอื่นเพื่อใช้เป็นยาสามัญประจำบ้านสำหรับการระงับความเจ็บปวด โดยขายให้กับเรือขนส่งสินค้าที่ผ่านมายังเกาะฮ่องกงในช่วงทศวรรษที่ 1850

หลังจาก A. S. Watson ได้เสียชีวิตลง John David Humphreys ผู้ซึ่งเข้ามาดูแลงานบัญชีต่อมาก็ได้ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในปี 1874 โดยบริษัทขณะนั้นก็สามารถดำเนินกิจการไปได้สวยและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกว้างไกลไปทั่วเอเชีย

ณ เวลานั้น ตลาดฝิ่นถือว่าใหญ่มากในฮ่องกง โดยในปี 1880 มีตัวเลขออกมาว่าคนจีนกว่า 25-37% (4-6 หมื่นคน) ในฮ่องกงเป็นผู้สูบฝิ่น และตัวเลขก็ยังคงอยู่ในระดับนี้ไปตลอดศตวรรษที่ 19 

image from A.S. Watson Group History Book – 180 Years of LOVE

ดิสรัปต์ตลาดฝิ่น ด้วยสารทดแทนฝิ่น

อย่างไรก็ตามในปี 1888 ลูกชายของ Humphreys สำเร็จการศึกษาด้านเภสัชศาสตร์จากอังกฤษ และได้เริ่มงานกับ Watsons ทันที โดยภายใน 6 เดือนแรกของการทำงานเขาได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสินค้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็น ไวน์ อาหารเด็ก ของใช้ในห้องน้ำ น้ำอัดลม แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ‘สารทดแทนฝิ่น’ โดยมีการลงทุนเพื่อการโฆษณาและส่งเสริมการขายสินค้าชนิดนี้เป็นจำนวนมาก

สิ่งสำคัญคือ ในขณะที่ผู้ค้ารายอื่นให้ความสนใจกับการจัดจำหน่ายฝิ่น บริษัทได้มีการนำเข้าสินค้าชนิดนี้มาจากอังกฤษ (เนื่องจากในขณะนั้นสารทดแทนฝิ่นได้รับความนิยมในยุโรป) เพื่อทดแทนการสูบฝิ่นในฮ่องกง เพราะตัวสารทดแทนฝิ่นอย่าง ‘มอร์ฟีน’ ’มีราคาถูกกว่าฝิ่นถึง 80%  ในขณะนั้น 

การเข้ามาของสารทดแทนฝิ่นทำให้ทางการสูญรายได้จากการค้าฝิ่นจำนวนมาก ทำให้ในปี 1893 มีการออกคำสั่งระงับการใช้มอร์ฟีนที่ไม่ได้อยู่ใต้การควบคุมดูแลทางการแพทย์ อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีการส่งออกสารทดแทนฝิ่นไปยังจีนแผ่นดินใหญ่ หมู่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ดี 

ต้นศตวรรษที่ 20 คือช่วงที่ Watsons เผชิญปัญหามากที่สุด ไล่ไปตั้งแต่เหตุการณ์กบฎนักมวยต่อต้านการครอบงำของต่างชาติในประเทศจีนในปี 1901 ทำกระทบกิจการของบริษัทในจีนตอนเหนืออย่างร้ายแรง การเกิดขึ้นของธุรกิจร้านขายยาทั้งจากจีน ญี่ปุ่น และยุโรป ที่ทำให้ตลาดมีการแข่งขันสูง 

ไปจนถึงการเกิดการปฏิวัติสาธารณรัฐในจีนทำให้ค่าเงินจีนในขณะนั้นร่วงลงมาถึง 50% แถมผลกระทบก็ยังค้างคายาวไปจนถึงปี 1914 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จบลง

image from A.S. Watson Group History Book – 180 Years of LOVE

ในปี 1937 บริษัทได้หยุดการดำเนินกิจการในจีนลงเนื่องจากญี่ปุ่นเริ่มบุกประเทศจีนในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และในปี 1941 ซึ่งเป็นวาระที่ธุรกิจได้ดำเนินงานมาครบ 1 ศตวรรษ ฮ่องกงก็ถูกยึดครองโดยญี่ปุ่นในวันที่ 25 ธันวาคม ซึ่งหลังจากสงครามจบลง Watsons ก็กลับมาดำเนินการอีกครั้งในวันที่ 1 กันยายน 1945

ยุคใหม่ของ Watsons

ตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา Watsons ได้ขยายกิจการร้านขายยาไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียอย่างกว้างขวาง โดยมีลำดับในการเปิดให้บริการ ดังนี้

  • 1987 เปิดให้บริการในไต้หวัน
  • 1988 เปิดให้บริการในมาเก๊าและสิงคโปร์
  • 1989 กลับมาเปิดให้บริการในจีน
  • 1994 เปิดให้บริการในมาเลเซีย
  • 1996 เปิดให้บริการในไทย

และตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา Watsons ก็ได้ขยายกิจการเข้าสู่ตลาดยุโรป โดยก้าวแรกคือการเข้าซื้อกิจการของ Savers ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกสินค้าสุขภาพแล้วความงามในประเทศอังกฤษ ก่อนที่จะมีการเข้าซื้อกิจการในยุโรปอีกจำนวนมาก จนทำให้ Watsons กลายเป็นแบรนด์ที่มีสินค้าหลากหลายและมีกิจการอยู่ทุกหนแห่งแบบทุกวันนี้

ที่มา – SCMP, A.S. Watson, Industrial History HK

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

บาส รชต สนิท - นักข่าว นักเขียน ที่ Brand Inside | สนใจด้าน Future of Work, สิทธิคนทำงาน, สิ่งแวดล้อม, การเมืองโลก, ปัญหาทุนนิยม และ สิทธิมนุษยชน