H.I.S. เตรียมควบรวมกิจการ Unizo ผู้ให้บริการโรงแรม-สำนักงานให้เช่า เกาะกระแสท่องเที่ยวโต

ใครที่ศึกษาการไปท่องเที่ยวญี่ปุ่นน่าจะคุ้นชื่อ H.I.S. กันบ้าง เพราะคือธุรกิจนำเที่ยวชั้นนำของญี่ปุ่น และถึงภาพรวมท่องเที่ยวจะเติบโต แต่ด้วยการแข่งขันที่สูงจนกำไรหด ทำให้ H.I.S. ต้องเปิดเกมรุกธุรกิจโรงแรมเต็มที่

H.I.S. Japan
H.I.S. Japan

ตลาดโต แต่กำไรหด เพราะแข่งขันสูง

ปฏิเสธไม่ได้ว่าใครๆ ก็อยากไปเที่ยวพักผ่อน และจุดนี้ทำให้มูลค่าการท่องเที่ยวนั้นเติบโตตลอดเวลา แต่เทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาไม่ว่าจะเป็นการจองตั๋วเครื่องบิน, จองสถานที่ท่องเที่ยว, ร้านอาหาร หรืออื่นๆ ผ่านระบบออนไลน์ ทำให้บริษัทนำเที่ยวนั้นอยู่ยากขึ้นในปัจจุบัน

H.I.S. ยักษ์ใหญ่ธุรกิจนำเที่ยวจากญี่ปุ่นก็ประสบปัญหานี้เช่นกัน เพราะจากเดิมที่ทำกำไรจากธุรกิจนี้มากมาย ตอนนี้มันกลับเหลือส่วนต่างกำไรแค่เล็กน้อย ดังนั้นการเดินหน้าหาธุรกิจใหม่ๆ มาช่วยรักษาการเติบโตของกำไรเอาไว้ก็จำเป็น ซึ่งก่อนหน้านี้ H.I.S. ก็เริ่มรุกธุรกิจโรงแรม และสวนสนุกมาบ้างแล้ว

H.I.S. japan
โรงแรม Henn na Hotel ในประเทศญี่ปุ่น ของกลุ่ม H.I.S.

แต่ล่าสุดเพื่อเดินหน้ารุกธุรกิจโรงแรมเต็มรูปแบบ H.I.S. จึงเตรียมยื่นข้อเสนอซื้อหุ้น 40% ของ Unizo บริษัทที่มีสำนักงานให้เช่า และโรงแรมในญี่ปุ่นถึง 25 แห่ง คิดเป็นมูลค่ากว่า 42,700 ล้านเยน (ราว 12,000 ล้านบาท) โดยรายนี้คิดเป็นมูลค่าที่มากกว่าราคาหุ้นของ Unizo เมื่อปิดตลาดในวันที่ 10 ก.ค. 2562 ถึง 30%

“การเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทำให้ธุรกิจโรงแรมมีโอกาสเติบโต และทาง Unizo น่าจะได้ประโยชน์จากการเป็นพาร์ทเนอร์กับ H.I.S.” Hideo Sawada ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร H.I.S. กล่าว โดยกลุ่ม H.I.S. นั้นทำตลาดโรงแรมในนาม H.I.S. Hotel Holdings มีโรงแรมทั้งหมด 33 แห่งในญี่ปุ่น

H.I.S.
รายได้จากธุรกิจต่างๆ ของ H.I.S.

ในทางกลับกันด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ดุเดือด ทำให้ธุรกิจนำเที่ยวของญี่ปุ่นอีกรายอย่าง JTB ขาดทุนในปีปฏิทินล่าสุดถึง 15,100 ล้านเยน (ราว 4,200 ล้านบาท) และต้องหาทางออกจากวิกฤตินี้ให้ได้ เพราะมิฉะนั้นก็จะอยู่รอดในตลาดได้ลำบาก

สรุป

การทำธุรกิจนำเที่ยวนั้นไม่ง่ายเหมือนในอดีตแล้ว เพราตอนนั้นค่านายหน้าในการจองที่พัก และจองตั๋วเครื่องบินก็กินได้ยาวๆ แต่ปัจจุบันส่วนต่างกำไรมันหดตัวลงเรื่อยๆ จนทุกรายต้องหาทางสร้างธุรกิจใหม่ๆ เพื่อคงอัตรากำไรไว้เหมือนเดิม ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าบริษัทในประเทศไทยก็คงมีปัญหาในเรื่องนี้เช่นกัน

อ้างอิง // Asia Nikkei Review

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา