สรุปไฮไลท์จาก Decarbonize Thailand Symposium 2022 อีเวนท์พลังงานแห่งอนาคต สุดยิ่งใหญ่

พาไปชมไฮไลท์จากงาน Decarbonize Thailand Symposium 2022 ที่รวบรวมเอาทุกภาคส่วนมาร่วมหาทางออกด้านความยั่งยืนครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในไทย

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา ความยั่งยืนกลายเป็นประเด็นที่ถูกจับตามากขึ้นจากหลายภาคส่วนในระดับโลก ตั้งแต่ภาครัฐจนถึงหน่วยงานเอกชน อย่างในประเทศไทยเองก็มีบริษัทไม่น้อยที่ออกมาประกาศกลยุทธ์ด้านสิ่งแวดล้อมของดัวเองออกมาควบคู่ไปกับการประกาศกลยุทธ์ทางธุรกิจทั่วไป แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือเราเริ่มจะได้เห็นเวทีระดมสมองเพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตสิ่งแวดล้อมจากหลากหลายภาคส่วนกันหนาตาขึ้นกว่าเก่า

Decarbonize Thailand Symposium 2022 คือหนึ่งในสัมมนาด้านพลังงานที่เกิดขึ้น โดยมีความสำคัญคือการเป็นงานที่รวมเอา 8 พันธมิตรธุรกิจชั้นนำ สตาร์ทอัพ และผู้เชี่ยวชาญหลากสาขา ทั้งวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ภาครัฐ มากกว่า 30 คน ขึ้นมาร่วมพูดคุยกันเพื่อหาทางออกในการลดคาร์บอนที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ๆ เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม Workshop เพื่อระดมสมอง บูธโชว์เคสจาก 24 สตาร์ทอัพนานาชาติ ไปจนถึงกิจกรรม Networking เพื่อสร้างโอกาสความร่วมมือลดคาร์บอนในอนาคต ซึ่งทาง Brand Inside  มีโอกาสไปเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ และอยากจะแบ่งปันไฮไลท์ภายในงานให้ผู้อ่านได้ติดตามไปพร้อมกัน

ประเทศไทย ทำไมต้องยั่งยืน?

หมุดหมายแรกที่น่าสนใจของงานสัมมนาครั้งนี้คือการพูดถึง “เหตุผลว่าทำไมไทยต้องสนเรื่องความยั่งยืน” โดย เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในช่วงการเปิดงานสัมมนาครั้งนี้

เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

“ประเทศไทยเจอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหนักเป็นอันดับที่ 9 ของโลก แม้ว่าจะเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกอันดับรอง ๆ ลงมา” เกียรติชายอธิบายถึงปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญ “งานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม”

“หากประเทศไทยไม่ปรับตัวแสดงเจตจำนงที่แน่ชัด ก็จะได้รับผลกระทบเพราะจะยากในการทำธุรกิจตลาดสากลเนื่องจากจะถูกมองว่าเป็นผู้ก่อปัญหา” เกียรติชาย ระบุ นอกจากนี้ อาจจะพลาดกระแสในการทำธุรกิจใหม่ ๆ อย่างที่ทุกวันนี้เราได้เห็นสตาร์ทอัพด้านพลังงานมากขึ้น ซึ่งในการประชุม COP26 ปีก่อน ไทยก็ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 แล้วเป็นที่เรียบร้อย

สถานการณ์การปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย

อีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจ คือเวทีพูดคุยระหว่าง กระทรวงพลังงาน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก และสภาอุตสาหกรรม ที่พูดถึงภาพรวมสถานการณ์การปล่อยคาร์บอนในประเทศไทย

จากฝั่งซ้าย: ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล, เกียรติชาย ไมตรีวงษ์ และ เกรียงไกร เธียรนุกุล

ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกือบ 300 ล้านตันต่อปี อยู่ที่อันดับ 20 ของโลกโดยประมาณ ภาคส่วนที่ปล่อยมากที่สุดคือภาคการผลิตไฟฟ้า รองลงมาคือคมนาคม เกษตร อุตสาหกรรม ตามลำดับ โดยมีบางภาคเป็นบวก (หรือดูดซับคาร์บอนได้) เช่น ภาคป่าไม้ เกียรติชายอธิบายถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทย

ศ. ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่อุตสาหกรรมพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดว่า “ไม่ว่าจะผลิตอะไร จะทำอะไรในอุตสาหกรรมไหน ก็จะต้องมีการใช้พลังงานทั้งสิ้น” แต่ก็มีโอกาสที่จะใช้เทคโนโลยีพลังงาน 5 มิติ ในการเข้ามาลดทอนปัญหาได้แก่ Renewable Energy, Energy Efficiency, Electrification, Hydrogen และ Carbon Capture Utilisation and Storage เป็นต้น

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พูดถึงภาคอุตสาหกรรมว่า แม้จะไม่ได้เป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับต้น ๆ แต่ด้วยความที่เป็นภาคส่วนที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลักก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมภาคอุตสาหกรรมจึงจริงจังกับเรื่องความยั่งยืนเป็นอย่างมากเช่นกัน

ประเทศไทยอยู่ในจุดที่เป็นโอกาสที่ดีสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน เนื่องจากอยู่ในฐานด้านชีวภาพที่ดี แถมยังมีต้นทุนในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนมากกว่าประเทศอื่น ๆ คือทิ้งรอยเท้าคาร์บอนเอาไว้ราว 300 ล้านตันต่อปี ในขณะที่เวียดนามและอินโดนีเซียอยู่ที่ 1,000 ล้านตัน และ 2,000 ล้านตัน ตามลำดับ

นวัตกรรมคือทางออก

อีกหนึ่งไฮไลท์ที่น่าจะถูกใจคนรุ่นใหม่ไม่น้อยคือการร่วมนำเสนอเคส จัดแสดงนวัตกรรม และแชร์ประสบการณ์ของสตาร์ทอัพ  8 ทีมสุดท้ายในโครงการ Decarbonize Thailand Sandbox ได้แก่ ANNEA, PAC Corporation, ETRAN, AltoTech, Thai Carbon, Krosslinker, ReJoule และ TIE-con ซึ่งทำงานด้านนวัตกรรมพลังงานสะอาดที่หลากหลาย เช่น พลังงานลม ศักยภาพการใช้พลังงาน ไปจนถึงวัสดุศาสตร์

จักรยานยนต์ไฟฟ้าโดย ETRAN 1 ในสตาร์ทอัพ 8 ทีมสุดท้ายจากโครงการ Decarbonize Thailand Sandbox 2022

ผู้เข้าร่วมเล่าให้ฟังว่า ตลอดระยะเวลาของโครงการ Decarbonize Thailand Sandbox 2022 จะได้ทำงานเพื่อค้นหาโซลูชั่นด้านพลังงานร่วมกับ Corporate Mentor จากกลุ่ม บี.กริม, เครือเจริญโภคภัณฑ์, บมจ. ไออาร์พีซี และ บมจ. ปตท. โดยยังได้มีโอกาสเข้าร่วม Masterclass Workshops และได้รับการสนับสนุนสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เหมาะสมในการทำงานตลอดโครงการ

นอกจากนี้ ภายในงานก็ยังมีการจัดแสดงโชว์เคสจากสตาร์ทอัพในโครงการ Decarbonize Startup Sandbox และสตาร์ทอัพไทยและระดับภูมิภาคอื่น ๆ รวมแล้วกว่า 24 ทีม อีกด้วย

จะไขปัญหา ความร่วมมือคือกุญแจสำคัญ

งานในครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็นงานสัมมนาที่มีครบทุกรสชาติ เพราะนอกจากจะมีการบรรยายจากผู้เชี่ยวชาญและบอกเล่าประสบการณ์ของสตาร์ทอัพด้านพลังงานแล้ว ผู้เข้าร่วมยังมีโอกาสได้ลงมือทำด้วยตัวเองผ่าน Workshop ที่มีให้เลือกเข้าร่วมกว่า 6 กิจกรรมใน 2 ธีม คือ การวางกลยุทธ์ลดคาร์บอน และเทคโนโลยีด้านภูมิอากาศ ยกตัวให้เห็นภาพ เช่น การทำรายงาน ESG และ การประเมินสตาร์ทอัพด้าน Climate-Tech เป็นต้น

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด งานครั้งนี้ปิดท้ายด้วยงาน Networking Reception ที่เปิดพื้นที่สังสรรค์ให้ผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วนได้เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูล สร้างโอกาสความร่วมมือลดคาร์บอนในอนาคต ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมในงานมากกว่า 1,000 คนเลยทีเดียว

สรุป 

พูดได้ว่า Decarbonize Thailand Symposium 2022 คือหนึ่งในสัมมนาด้านพลังงานแห่งปี เพราะมีผู้เข้าร่วมทั้งภาครัฐ ผู้เชี่ยวชาญ และหน่วยงานเอกชนจากหลายสาขา เข้ามาร่วมในกิจกรรมที่ครบรส ทั้งการบรรยาย การเปิดประสบการณ์ โชว์เคสสตาร์ทอัพ และการสร้างเครือข่าย ที่มีประโยชน์ในการสร้างความร่วมมือในการลดคาร์บอนที่ตอบโจทย์ภาคธุรกิจและประเทศไทยในอนาคต

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา