ลงนามแล้ว! รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฮิตาชิ เล็งใช้โมเดลเท็กซัสเป็นต้นแบบ

เริ่มแล้ววันนี้ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์)

(ซ้าย) วรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ขวา) ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล
สักขีพยานพิธีร่วมลงนามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภาพจาก ทำเนียบรัฐบาล

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของไทย 

เริ่มจากท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ภาพจาก EEC

ขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการร่วมทุน ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐครั้งสำคัญของไทยแบบ PPP (Public-Private-Partnership) มูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท ร่วมลงทุนกับเอกชน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า น่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท

รถไฟความเร็วสูง ภาพจาก Hitachi

ทั้งนี้ Nikkei Asian Review รายงานว่า ฮิตาชิหวังว่าจะได้ร่วมมือทำรถไฟความเร็วสูงกับไทย โดยมองโครงการร่วมทุนอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ

โดยนาย Alistair Dormer รองประธานกรรมการบริหาร ที่ดูแลการดำเนินงานด้านรถไฟในต่างประเทศกล่าวกับ Nikkei ว่า บริษัทหวังจะชนะการทำสัญญาที่ครอบคลุมการสร้างรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟด้วย

Alistair Dormer ภาพจาก Hitachi

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกานั้น เป็นการวิ่งจากเมืองฮิวสตัน (Houston) ไปยังเมืองดัลลัส (Dallas) รัฐเท็กซัส ซึ่งมีระยะทาง 240 ไมล์หรือประมาณ 386.24 กิโลเมตร ใช้รถไฟหัวกระสุนหรือรถไฟชินคันเซ็น สามารถเดินทางถึงกันได้ภายในระยะเวลา 90 นาที 

เส้นทางเดินรถของรถไฟความเร็วสูงจาก Dallas มายัง Houston

ฮิตาชิยังมองหาโอกาสที่จะเป็นผู้จัดหาตู้รถไฟให้กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ต้องการทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินด้วย โดยฮิตาชิเองก็ยังหารือกับโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับ JICA หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และ JBIC หรือธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นด้วย 

(รถไฟฟ้าสายสีแดง 2 ขบวน วิ่งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันก็เพิ่งส่งถึงมือไทยเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย ร.ฟ.ท. ทำสัญญาร่วมกับกลุ่ม MHSC คือบริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation)

รถไฟความเร็วสูงขบวนแรกในอังกฤษ ภาพจาก Hitachi

ปีที่ผ่านมา ฮิตาชิทำธุรกิจเกี่ยวกับรถไฟที่สร้างรายได้มากถึง 6.165 แสนล้านเยน หรือประมาณ 5.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.71 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากยุโรปราว 60% จากญี่ปุ่นราว 20% 

สถานการณ์ความวุ่นวายใน Brexit ที่กำลังเกิดขึ้นและปัญหาด้านอัตราประชากรที่กำลังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นก็ส่งผลกระทบแก่บริษัทบ้าง ทำให้ต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ให้เติบโตต่อไป 

ธนินทร์ เจียรวนนท์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชนเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ใน Exclusive Talk ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว: รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เขาพูดถึงประเด็นนี้ว่า โดยปกติแล้วเวลาเราจะทำอะไร ถ้าเสี่ยงเกิน 30% ซีพีจะไม่ทำ

พูดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเนี่ย เสี่ยงไหม เสี่ยงครับ แต่มีโอกาสสำเร็จไหม มี ถ้ารัฐบาลเข้าใจนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของประชาชน

เขาตั้งชื่อว่า PPP คือรัฐร่วมกับเอกชน และก็เอาจุดเด่นของเอกชนมาบวกกับจุดเด่นรัฐบาลและลบจุดอ่อนของรัฐบาล จึงเกิดเป็น PPP

รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็เสี่ยงกันสองคน เป็นเหมือนคู่ชีวิต ล่มก็ต้องล่มด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเอกชนไปเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง นี่คือเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ยุคนี้ต้องเร็ว เชื่อมสามสนามบินความเร็วสูง

เรากำลังถดถอยลง เขากำลังย้ายฐานไปลงเวียดนามกับอินโดนีเซียแล้ว ฐานของเรากำลังร่อยหรอแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์เราใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลมองไม่เห็นจุดนี้ บริษัทที่ผลิตอยู่ในเมืองไทย ก็จะเอารถไฟฟ้าไปผลิตที่ประเทศอื่น เราก็กินของเก่าไป 10-20 ปี ไม่ต้องลงทุน

อินโดนีเซียเป็นตลาดใหม่กว่า 300 ล้านคน เวียดนามเกือบ 100 ล้านคน ถ้าเราไม่มีมาตรการรองรับดีๆ เขาก็จะย้ายฐานได้ ยิ่งอเมริกากับจีนมีปัญหากัน ยิ่งเป็นโอกาสของไทย ทำไมเรายังนอนหลับอยู่..”

ปัจจุบัน ตลาดของธุรกิจรถไฟเติบโตต่อปีอยู่ที่ 2.7% ช่วงระหว่างปี 2021 – 2023 นี้ สมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งยุโรปคาดว่า จะทำรายได้สูงถึง 2.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.44 ล้านล้านบาท

ที่มา – Nikkei Asian Review, ทำเนียบรัฐบาล (1), (2), MGR Online, CPG Official Channel

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา