เริ่มแล้ววันนี้ พิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อสนับสนุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัทรถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบินจำกัด (กลุ่มกิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัดและพันธมิตร โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์)
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มีแนวเส้นทางเชื่อมท่าอากาศยานสำคัญของไทย
เริ่มจากท่าอากาศยานดอนเมือง วิ่งตรงเข้าสู่สถานีกลางบางซื่อ ผ่านสถานีมักกะสัน เลี้ยวเข้าสู่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มุ่งหน้าไปตามแนวเส้นทางรถไฟสายตะวันออก ผ่านแม่น้ำบางปะกงเข้าสู่สถานีฉะเชิงเทรา สถานีชลบุรี สถานีพัทยา และเข้าสู่ท่าอากาศยานอู่ตะเภา เป็นสถานีสุดท้าย รวมระยะทาง 220 กิโลเมตร
ขบวนรถสามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถือเป็นการร่วมทุน ระหว่างภาคเอกชนและภาครัฐครั้งสำคัญของไทยแบบ PPP (Public-Private-Partnership) มูลค่าสูงถึง 224,544 ล้านบาท ร่วมลงทุนกับเอกชน 50 ปี ทรัพย์สินทั้งหมดจะเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐเมื่อสิ้นสุดสัญญา
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2566 หรืออีก 4 ปีข้างหน้า น่าจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจประมาณ 650,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ Nikkei Asian Review รายงานว่า ฮิตาชิหวังว่าจะได้ร่วมมือทำรถไฟความเร็วสูงกับไทย โดยมองโครงการร่วมทุนอย่างโครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกาเป็นต้นแบบ
โดยนาย Alistair Dormer รองประธานกรรมการบริหาร ที่ดูแลการดำเนินงานด้านรถไฟในต่างประเทศกล่าวกับ Nikkei ว่า บริษัทหวังจะชนะการทำสัญญาที่ครอบคลุมการสร้างรถไฟฟ้าและระบบอาณัติสัญญาณ ไปจนถึงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟด้วย
ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกานั้น เป็นการวิ่งจากเมืองฮิวสตัน (Houston) ไปยังเมืองดัลลัส (Dallas) รัฐเท็กซัส ซึ่งมีระยะทาง 240 ไมล์หรือประมาณ 386.24 กิโลเมตร ใช้รถไฟหัวกระสุนหรือรถไฟชินคันเซ็น สามารถเดินทางถึงกันได้ภายในระยะเวลา 90 นาที
ฮิตาชิยังมองหาโอกาสที่จะเป็นผู้จัดหาตู้รถไฟให้กับทางการรถไฟแห่งประเทศไทยที่ต้องการทำรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินด้วย โดยฮิตาชิเองก็ยังหารือกับโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับ JICA หรือองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น และ JBIC หรือธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่นด้วย
(รถไฟฟ้าสายสีแดง 2 ขบวน วิ่งช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันก็เพิ่งส่งถึงมือไทยเมื่อ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา โดย ร.ฟ.ท. ทำสัญญาร่วมกับกลุ่ม MHSC คือบริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และบริษัท Sumitomo Corporation)
ปีที่ผ่านมา ฮิตาชิทำธุรกิจเกี่ยวกับรถไฟที่สร้างรายได้มากถึง 6.165 แสนล้านเยน หรือประมาณ 5.67 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.71 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้จากยุโรปราว 60% จากญี่ปุ่นราว 20%
สถานการณ์ความวุ่นวายใน Brexit ที่กำลังเกิดขึ้นและปัญหาด้านอัตราประชากรที่กำลังสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นก็ส่งผลกระทบแก่บริษัทบ้าง ทำให้ต้องมองหาตลาดใหม่ๆ ให้เติบโตต่อไป
ธนินทร์ เจียรวนนท์เคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวมติชนเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ใน Exclusive Talk ความสำเร็จดีใจได้วันเดียว: รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เขาพูดถึงประเด็นนี้ว่า โดยปกติแล้วเวลาเราจะทำอะไร ถ้าเสี่ยงเกิน 30% ซีพีจะไม่ทำ
พูดถึงเรื่องรถไฟความเร็วสูงเนี่ย เสี่ยงไหม เสี่ยงครับ แต่มีโอกาสสำเร็จไหม มี ถ้ารัฐบาลเข้าใจนะ เรื่องนี้เป็นเรื่องของรัฐบาล เรื่องเศรษฐกิจแท้ๆ ไม่ใช่เป็นเรื่องของประชาชน
เขาตั้งชื่อว่า PPP คือรัฐร่วมกับเอกชน และก็เอาจุดเด่นของเอกชนมาบวกกับจุดเด่นรัฐบาลและลบจุดอ่อนของรัฐบาล จึงเกิดเป็น PPP
รัฐบาลต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วยกันกับเอกชน ถ้าเสี่ยงก็เสี่ยงกันสองคน เป็นเหมือนคู่ชีวิต ล่มก็ต้องล่มด้วยกัน ไม่ใช่ว่าเอกชนไปเสี่ยง รัฐบาลไม่เสี่ยง นี่คือเรื่องยิ่งใหญ่ของประเทศชาติ ยุคนี้ต้องเร็ว เชื่อมสามสนามบินความเร็วสูง
เรากำลังถดถอยลง เขากำลังย้ายฐานไปลงเวียดนามกับอินโดนีเซียแล้ว ฐานของเรากำลังร่อยหรอแล้ว อุตสาหกรรมรถยนต์เราใหญ่ที่สุดในอาเซียนกำลังเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้า ถ้ารัฐบาลมองไม่เห็นจุดนี้ บริษัทที่ผลิตอยู่ในเมืองไทย ก็จะเอารถไฟฟ้าไปผลิตที่ประเทศอื่น เราก็กินของเก่าไป 10-20 ปี ไม่ต้องลงทุน
อินโดนีเซียเป็นตลาดใหม่กว่า 300 ล้านคน เวียดนามเกือบ 100 ล้านคน ถ้าเราไม่มีมาตรการรองรับดีๆ เขาก็จะย้ายฐานได้ ยิ่งอเมริกากับจีนมีปัญหากัน ยิ่งเป็นโอกาสของไทย ทำไมเรายังนอนหลับอยู่..”
ปัจจุบัน ตลาดของธุรกิจรถไฟเติบโตต่อปีอยู่ที่ 2.7% ช่วงระหว่างปี 2021 – 2023 นี้ สมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งยุโรปคาดว่า จะทำรายได้สูงถึง 2.13 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.44 ล้านล้านบาท
ที่มา – Nikkei Asian Review, ทำเนียบรัฐบาล (1), (2), MGR Online, CPG Official Channel
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา