เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน ไม่จริง! ผ่างบมหาวิทยาลัยปี 66 ที่ได้จากกระทรวงอุดมศึกษา ฉายภาพความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาของประเทศไทย
เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน จริงหรือ?
ตอนนี้มีประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียง (เคยมีมาก่อน และเชื่อว่าจะมีต่อไปอีกทุกๆ ปี) อย่าง “เรียนที่ไหนก็เหมือนกัน” ซึ่งเอาเข้าจริง นี่คือสิ่งที่ควรจะเป็นและเราอยากให้เป็น แต่พูดกันแบบตรงไปตรงมาให้เห็นถึงปัญหา ต้องบอกเลยว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกันอาจไม่จริงในประเทศไทย
ในกรณีของประเทศไทยเองต้องบอกว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่าง กทม. และ ต่างจังหวัดอย่างมาก และในต่างจังหวัดเองก็มีความเหลื่อมล้ำระหว่างหัวเมืองและเมืองรอง ส่วนในแต่ละจังหวัดก็จะมีความเหลื่อมล้ำระหว่างในเมืองและชนบทอีก และความเหลื่อมล้ำก็สะท้อนออกมาในรูปของ งบประมาณที่สถานศึกษาแต่ละที่จะได้รับ
หลายท่านอาจจะอ้างว่าอย่างในสหรัฐฯ เองก็มีไอวีลีกและมหาวิทยาลัยทั่วไป แต่ต้องไม่ลืมว่าสหรัฐฯ คือประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำสูง ที่สำคัญเรื่องนี้ก็เป็นประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอเมริกันเช่นกัน
ประเด็นคือโลกเรากว้างกว่าแค่อเมริกา เราอาจลองมองดูกรณีศึกษาในยุโรป แน่นอนว่า ม.ดัง ก็มีอยู่ แต่มหาวิทยาลัยอื่นๆ ที่ดังน้อยกว่าก็ไม่ได้เหลื่อมล้ำจนน่าเกลียด และมีการเรียกร้องให้เกิดความเท่าเทียม ‘มากกว่าเก่า’ อยู่เนืองๆ
งบมหาวิทยาลัยที่เหลื่อมล้ำ มีอยู่จริง
คำถามคือ แล้วงบที่แตกต่างกันสำคัญแค่ไหน? บอกเลยว่าสำคัญมากเพราะงบที่ได้รับหมายถึงอาจารย์ระดับหัวกะทิ อาจารย์เจ้าของภาษา ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยระดับโลก ห้องสมุดที่มีตำราระดับสากล สื่อการเรียนรู้ที่ได้รับการยอมรับ สิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการศึกษา กิจกรรมที่ช่วยให้นักศึกษาพัฒนาทักษะ
การพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาออกมาแบบตรงๆ ไม่ใช่การตีตราหรือแบ่งแยกชนชั้น แต่ช่วยชี้ให้เห็นปัญหาที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข ไม่ใช่ปลอบใจว่าเรียนที่ไหนก็เหมือนกันและละเลยความเหลื่อมล้ำที่ใครๆ ก็เห็นอยู่ตำตา
ถ้าลองดูในงบประมาณที่แต่ละมหาวิทยาลัยย้อนไปสัก 4 ปี ตั้งแต่ปี 2564 – 2566 (งบก้อนที่กำลังจะอนุมัติในปัจจุบัน) จะพบว่างบประมาณที่แต่ละมหาวิทยาลัยได้รับเหลื่อมล้ำกันพอสมควร เช่นในปี 2566
- มหาวิทยาลัยชื่อคุ้นหู เช่น จุฬา มธ. มช. มข. มอ. เกษตร ได้รับงบประมาณ 4,000 – 5,000 ล้านบาท
- มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับงบเกือบ 14,000 ล้านบาท
ส่วน มหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏ ที่มี 38 แห่งทั่วประเทศ พูดได้ว่าเป็นทางเลือกทางการศึกษาที่ใกล้ตัวกับคนทั้งประเทศ (ไม่ใช่แค่กรุงเทพหรือหัวเมือง) ได้รับงบเฉลี่ยประมาณที่ละ 475 ล้านบาท เท่านั้น พูดง่ายๆ คือ
- ได้รับงบแค่ 1 ใน 10 ของมหาวิทยาลัยดังๆ
- มหาวิทยาลัยราชภัฏ 29 แห่ง รวมกัน ได้รับงบพอๆ กับม.มหิดล ที่เดียว
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา คือมหาวิทยาลัยในกลุ่มราชภัฏที่ได้งบมากที่สุด แต่ก็ยังได้เพียง 770 ล้านบาท
แล้วมหาวิทยาลัยอื่นๆ ได้รับงบแค่ไหน
ปี 2563 – 2566 ตามเอกสารงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และ 2566 มหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย (ยกมาเพียงบางส่วน) ได้รับงบประมาณ ดังนี้
(หน่วย: ล้านบาท)
มหาวิทยาลัย/งบ |
ปี 63 |
ปี 64 |
ปี 65 |
ปี 66 |
มหิดล | 12,023 | 13,131 | 13,170 | 13,857 |
เชียงใหม่ | 5,559 | 5,467 | 5,788 | 5,788 |
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย | 5,059 | 5,190 | 5,249 | 5,248 |
สงขลานครินทร์ | 5,808 | 5,598 | 5,186 | 5,185 |
เกษตรศาสตร์ | 4,932 | 5,119 | 5,032 | 5,077 |
ขอนแก่น | 5,271 | 5,336 | 5,001 | 5,001 |
ธรรมศาสตร์ | 4,463 | 4,846 | 4,672 | 4,782 |
แม่ฟ้าหลวง | 2,069 | 1,932 | 1,890 | 1,890 |
แม่โจ้ | 1,514 | 1,438 | 1,407 | 1,406 |
สวนดุสิต | 982 | 1,020 | 1,044 | 1,044 |
ราชภัฏสวนสุนันทา | 744 | 747 | 770 | 769 |
ราชภัฏสุราษฎร์ธานี | 743 | 705 | 704 | 704 |
ราชภัฏเชียงใหม่ | 651 | 678 | 674 | 673 |
สรุป
ทีนี้ลองนึกภาพว่าเราส่งเด็ก 2 คน ที่มีศักยภาพเท่ากันพยายามหนักเท่ากัน เข้าสู่สถานศึกษาที่ได้รับงบต่างกันอย่างมาก แล้วลองตอบตัวเองในใจแบบไม่หลอกตัวเองว่าผลลัพธ์บั้นปลายจะเป็นอย่างไร
หรือหากจะบอกว่า ในบางกรณี นักศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ได้รับงบประมาณน้อยมากก็สามารถจบมาเก่งเทียบเท่าหรือมากกว่าเด็กที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ นั่นคือเรื่องน่าชื่นชม
แต่ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายเพราะความเหลื่อมล้ำก็คือ พวกเขาต้องพยายามแบบเลือดตากระเด็นจนต้องสูญเสียโอกาสด้านอื่นๆ ไป ในขณะที่เด็กจากมหาวิทยาลัยไม่ต้องพยายามขนาดนั้น
ที่มา – งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เล่มที่ 3 (1) และ งบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เล่มที่ 3 (1) โดย สำนักงบประมาณ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา