ย้อนรอย Hello Kitty หนึ่งใน Character ที่ร่วมงานกับแบรนด์สินค้า และบริการจำนวนมาก

หลายๆ คนน่าจะรู้จัก และเคยพบเห็น Hello Kitty หนึ่งใน Character สุดน่ารักของ Sanrio กันมาบ้าง แต่รู้หรือไม่ว่า Hello Kitty นั้นเป็นหนึ่งใน Character การ์ตูนที่ร่วมงานกับแบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ จำนวนมาก

Hello Kitty

Hello Kitty กับความมืดมนของสงครามโลก

Hello Kitty นั้นเป็น Character ตัวแรกที่ทำตลาดในเชิงพาณิชย์ของบริษัท Sanrio ก็ว่าได้ เพราะกำเนิดมาตั้งแต่ปี 2517 แต่จุดกำเนิดของมันก็ไม่ค่อยสวยงามนัก เพราะมันเริ่มต้นมาจากความน่ากลัว และเจ็บปวดระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ของชายหนุ่มญี่ปุ่นคนหนึ่งนามว่า Shintaro Tsuji

โดยช่วงนั้นเขายังเป็นหนุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย แต่ก็ต้องสูญเสียเพื่อร่วมชั้นเรียนไปจำนวนหนึ่ง เพราะพิษจากลูกระเบิดปรมาณู และอื่นๆ ทำให้ Shintaro รู้ว่าสงครามนั้นเป็นเรื่องที่โหดราย และไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก พร้อมกับจุดประกายให้เขาเลือกเดินหน้าธุรกิจที่จะทำให้โลกนี้สวยงาม

Character ต่างๆ ของ Sanrio ภายใต้แนวคิด Small Gift, Big Smile

จึงไม่แปลกที่ตั้งแต่ Hello Kitty และ Character ตัวอื่นๆ ของ Sanrio ทยอยออกมา ก็จะมีแต่ความสวยงาม ผ่านแนวคิด “Small Gift, Big Smiles” หรือสิ่งเล็กๆ ที่ราคาไม่สูงนัก แต่เต็มไปด้วยกำลังใจ และพร้อมที่จะเป็นตัวแทนของผู้ให้ที่มอบความรัก และความเป็นห่วงกับผู้รับ

ความโด่งดังที่เตะตาแบรนด์สินค้ามากมาย

และด้วยความน่ารักของ Hello Kitty ที่จับตลาดกลุ่มเด็กผู้หญิงไว้อย่างอยู่หมัด แถมยังถูกโหวตว่าเป็น Top 5 ของ ตัวละครที่เป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นอีกด้วย ทำให้สินค้า และบริการที่ทำตลาดเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้ เช่นตุ๊กตา, สติ๊กเกอร์, เสื้อผ้า รวมถึงอุปกรณ์เครื่องเขียน ต่างนำ Character ตัวนี้ไปอยู่ในสินค้าเหล่านั้น เพื่อช่วยดึงดูดผู้ซื้ออีกทางหนึ่ง

เครื่องบินของ EVA Airways ที่มี Hello Kitty สกรีนบนเครื่อง // ภาพจาก Flickr ของ byeangel

ขณะเดียวกันความเป็นเอกลักษณ์ของ Hello Kitty ก็ทำให้แบรนด์สินค้า และบริการอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน EVA Airways, แบรนด์เสื้อผ้ากีฬา Puma และแบรนด์เครื่องประดับ Simmons Jewelry รวมถึงรถไฟความเร็วสูงในประเทศญี่ปุ่นก็ Collaboration กับ Hello Kitty เพื่อสร้างความแปลใหม่ และดึงดูดลูกค้าเหมือนกัน

“ถ้าคุณชอบใช้สินค้า หรือบริการตัวหนึ่ง แต่สิ่งเหล่านั้นกำลังจะเลิกจำหน่าย เพราะยอดขายไม่ดี ก็อยากให้มาบอกผม เพราะถ้าสินค้า หรือบริการเหล่านั้นได้ร่วมงานกับ Sanrio แล้วล่ะก็ สิ่งเหล่านั้นจะมียอดขายเพิ่มขึ้นทันที ถือเป็นการเติบโตไปด้วยกันทั้ง Sanrio และบริษัทอื่น” Shintaro กล่าวระหว่างประชุมผู้ถือหุ้น

ยอดขายของ Sanrio ใน 4 ปีงบประมาณล่าสุด

พร้อมช่วยทุกคน แต่ Sanrio กำลังลำบาก

แม้ Sanrio จะเน้นเรื่องความสุขของพนักงาน และลูกค้ามาเป็นอันดับหนึ่ง ขัดกับบริษัทญี่ปุ่นรายอื่นๆ ที่ช่วงหนึ่งเรียกว่า Black Company หรือบริษัทที่เน้นผลกำไรมาเป็นอันดับแรก และไม่สนใจพนักงาน และลูกค้า แต่เหมือนว่าตอนนี้ Sanrio เองก็อยู่ระหว่างความลำบากในแง่ธุรกิจ

เพราะตั้งแต่ปีงบประมาณ 2558 ยอดขาย และกำไรจากการดำเนินงานของ Sanrio ก็ลดลงมาโดยตลอด แม้ยอดขายที่มาจากการขายลิขสิทธิ์เพื่อร่วมงานกับแบรนด์อื่นๆ นั้นยังเติบโตอยู่ แต่ในฝั่ง Merchandise หรือการจำหน่ายของเล่น และอื่นๆ กลับลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะ Sanrio ยังเน้นจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้ามากกว่า Online

ยอดขายในปีงบประมาณ 2561 ของ Sanrio

สำหรับยอดขายของ Sanrio ในปีงบประมาณ 2561 (สิ้นสุดเดือนมี.ค. 2561) ปิดยอดขายที่ 60,000 ล้านเยน (ราว 18,000 ล้านบาท) แบ่งเป็นรายได้จากต่างประเทศ 23,000 ล้านเยน (ราว 6,900 ล้านบาท) ลดลงจากปีก่อน 11% ส่วนรายได้จากในประเทศอยู่ที่ 47,000 ล้านเยน (ราว 14,000 ล้านบาท) ลดลง 0.8%

สรุป

แม้จะเติบโต และมี Character ที่แข็งแกร่งแค่ไหน แต่ Sanrio ก็เหมือนจะถูกมองว่าเห็นแก่ได้ เพราะไม่ว่าแบรนด์ไหนจะมาติดต่อ ก็พร้อมที่จะร่วมงาน ดังนั้นการพยายามลบภาพนี้ออกไปก็น่าจะจำเป็น ประกอบกับการพยายามทำตลาด Online มากขึ้นก็เป็นอีกสิ่งจำเป็น เพื่อฟื้นฟูยอดขายของยักษ์ใหญ่ด้าน Character ของญี่ปุ่นรายนี้

อ้างอิง // Soranews24, Sanrio

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา