เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าความคืบหน้าของโครงการ ‘30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว’ ซึ่งจะทำให้ประชาชนใช้บัตรประชาชนใบเดียวสามารถเข้ารับบริการได้ในโรงพยาบาลของรัฐ เอกชน คลินิก แล็บและร้านยาใกล้บ้าน ผ่านการจะเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด
ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข กำหนดขับเคลื่อนใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ แพร่ เพชรบุรี นราธิวาส และร้อยเอ็ด จากนั้นระยะที่ 2 จะขยายอีก 8 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา และขยายทั่วประเทศภายใน 1 ปี โดยจัดงานเปิดตัวขึ้นที่ร้อยเอ็ด พร้อมกับอีก 3 จังหวัดนำร่อง
โดยเชื่อว่านโยบายนี้จะทำให้คนไทยทุกคนได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ควบคุม ป้องกันโรค รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย เท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุข
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก ชลน่าน ศรีแก้วรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ที่ผ่านมา เมื่อประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนหน่วยบริการ จะพบปัญหาเรื่องการเข้าถึงข้อมูลประวัติการรักษาพยาบาล เนื่องจากข้อมูลการรับบริการทางการแพทย์ของแต่ละหน่วยบริการไม่เชื่อมโยงกัน ทำให้ประชาชนต้องการรวบรวมข้อมูลการรักษาของตนเองจากสถานพยาบาลต่างๆ ซึ่งทั้งไม่สะดวกและเป็นภาระค่าใช้จ่ายแฝง ขณะที่แพทย์ผู้รักษามักจะได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน อาจส่งผลกระทบต่อกระบวนการรักษา โดยข้อมูลส่วนบุคคลทั้งประวัติการรักษา, ประวัติการแพ้ยา, การได้รับวัคซีน, ผลทางห้องปฏิบัติการที่ผ่านมา เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการรักษาในหน่วยบริการอื่นเมื่อเกิดภาวะฉุกเฉิน
ทั้งนี้ จากนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขจึงผลักดันให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลสุขภาพจากหน่วยบริการทุกระดับ ทุกสังกัด และยกระดับหน่วยบริการให้เป็นโรงพยาบาลอัจฉริยะ (Smart Hospital) นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้จัดบริการสุขภาพ อาทิ ประวัติสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ การออกใบรับรองแพทย์ดิจิทัล ใบสั่งยาและใบสั่งแล็บออนไลน์ การแพทย์และเภสัชกรรมทางไกล การนัดหมายออนไลน์ ส่งยาและเวชภัณฑ์ที่บ้านผ่าน Health Rider และการส่งยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำให้ช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล ลดระยะเวลารอคอยและลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน
หมายเหตุ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นนโยบายสาธารณสุขและสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพของคนไทย โดยเริ่มนำร่องทดลองใน 6 จังหวัดเมื่อปี 2544
ที่มา รัฐบาลไทย
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา