ชัชชาติแนะอยากเป็น Hub Medical ประชาชนต้องสุขภาพดีก่อน ไม่อย่างนั้นก็ฝันไปได้เลย

“คำว่า Health กับ City ต้องมาด้วยกันตลอด เราอยากเป็น Hub Medical แต่ประชาชนไม่ Healthy ฝันไปได้เลย”

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปาฐกถาพิเศษเรื่อง Health in the City ในเวทีสัมมนา THANX Forum 2023: Health & Wellness Sustainability เมื่อ 24 กุมภาพันธ์ 2566 จัดโดยฐานเศรษฐกิจ เนื้อหาดังนี้

ผมว่าเมือง หน้าที่ กทม. เรื่อง Health (สุขภาพ) เป็นเรื่องสำคัญ สำหรับเรื่องนี้ คีย์เวิร์ดมี 2 คำคือ Health กับ City โดย City คือที่ที่คนมารวมกันเป็นจำนวนมากเพื่อทำงาน พอมารวมแล้ว City คือแหล่งเกิดโรค ถามว่าโควิด เสียชีวิตมากที่สุดคือที่ไหน ก็กรุงเทพฯ นี่แหละ เพราะว่าพอมารวมกันแล้วก็มีโอกาสที่จะเกิดโรคต่างๆ มาก

ถ้าเป็น City ที่ไม่ Healthy ไปไม่รอดครับ

อันนี้ยืนยัน และดูในอดีต เราจะเห็นตัวอย่าง เช่น ลอนดอน คนเข้ามาในเมือง จะเห็นโรงงานต่างๆ มากมาย เป็นเหมือนโรงงานนรกในลอนดอน เคยดูซีรีส์ The Crown ไหม? มีคนตายเพราะอากาศเป็นพิษ จริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่เคยเกิดขึ้นในอดีต เหล่านี้มันพัฒนาให้เกิดผังเมือง ผังเมืองเกิดขึ้นเพราะต้องการให้เกิด Healthy City คือแยกโรงงานออก แยกที่อยู่อาศัยและพัฒนาการต่างๆ

แม้กระทั่งนิวยอร์กเอง ไม่ถึง 100 ปีที่ผ่านมา นิวยอร์กแต่ก่อนใช้ม้าเยอะ ไม่มีรถ สิ่งที่เยอะที่สุดคืออึม้า บางทีท่วมถึงเข่าด้วย และยังมีซากม้าตายเต็มไปหมด ก็มีการพัฒนาเรื่องท่อระบายน้ำ การกำจัดน้ำเสีย ไม่อย่างนั้น โรคระบาดจะทำคนตายทั้งเมือง ดังนั้นผมว่า คำว่า Health กับ City มาด้วยกันตลอด คือถ้าเมืองไม่ Healthy ไม่มีทางนะ เราอยากจะเป็น Hub ของ​ Medical (หรือฮับ/ ศูนย์กลางด้านการแพทย์) ถ้าประชาชนไม่ Healthy น่ะ ฝันไปเลย

ถ้ามาถึง มีแต่โรคกับคนป่วย ใครจะเป็น Health Hub ได้

จริงๆ แล้วเป็นเรื่องสำคัญที่เมืองต้อง Healthy ที่ผ่านมาเราไม่ค่อยนึกถึงเรื่อง Healthy เท่าไร เรามักจะพูดถึงเรื่องกวาดถนน เรื่องน้ำท่วม เรื่องเก็บขยะ และงบประมาณเราก็ไม่ค่อยลงไปที่ Health เยอะ แต่จริงๆ แล้วหน้าที่หลักของเมืองคือการทำเมืองให้เป็น Healthy City

ผมจะพูด 3 เรื่องคือ เส้นเลือดฝอยและสุขภาพคนกรุง สังคมผู้สุงอายุและโรคคนเมือง และปัญหาโรคทางเดินหายใจ ผมว่าต้อง redefine บทบาทให้ดีว่าจริงๆ แล้วหน้าที่ของเมืองคืออะไร เราควรจะไปสร้างโรงพยาบาลแข่งกับเอกชน แข่งกับจุฬาฯ ไหม หรือว่าหน้าที่ของกรุงเทพมหานครในฐานะผู้ให้บริการสาธารณสุขอยู่ตรงไหน เรื่องที่สำคัญมากๆ คือปัญหาผู้สูงอายุและเรื่องที่สามคืออากาศ คือ PM 2.5 นี่คือเทรนด์ปัญหาระยะกลางและระยะยาวที่ต้องเร่งแก้ปัญหา

เรื่องความอ่อนแอของ เส้นเลือดฝอย

จริงๆ แล้วปัญหาของระบบสาธารณสุขเมืองไทย ปัญหามันอยู่ที่ระบบเส้นเลือดฝอย หรือระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ คือร่างกายหรือเมืองก็เหมือนคน มีทั้งเส้นเลือดใหญ่และเส้นเลือดฝอย ทั้งสองระบบต้องเข้มแข็ง ถ้าระบบใดระบบหนึ่งอ่อนแอก็ตายหรือเกิดโรคได้

ของเรา ระบบเส้นเลือดใหญ่เราเข้มแข็งนะ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาเยอะแยะเลย แต่ในระดับปฐมภูมิ เช่นในศูนย์บริการสาธารณสุข 41 ดูแลประชากรที่ลงทะเบียนมาประมาณ 102,946 คน มีเจ้าหน้าที่ 82 คน มีแพทย์ 6 คน พยาบาล 15 คน ทันตแพทย์ 5 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ 2 คน ผู้ช่วย 13 คน คนขับรถ 3 คน อื่นๆ 38 คน

เส้นเลือดฝอยเรายังมีปัญหา ถ้าดูที่ชุมชนเลย เช่น ชุมชนคลองเตย มีพี่น้องในชุมชนแออัดประมาณ 1 แสนคน มีศูนย์สุขภาพชุมชน มียาเพียง 6 อย่าง เช่น ยาธาตุน้ำขาว ยาแดง ฯลฯ เส้นเลือดฝอยอ่อนแอ สุดท้าย เส้นเลือดใหญ่อยู่ไม่ได้

เวลาเราผ่านโรงพยาบาลตอนเช้า คนมาเข้าคิว ตี 4-5 เต็มไปหมดเลย ผมว่าส่วนหนึ่งคนไม่ไว้ระบบเส้นเลือดฝอย คนไม่ไว้ใจเส้นเลือดฝอย คนไม่กล้าไปสาธารณสุข ต้องไปที่โรงพยาบาลใหญ่เพราะไว้ใจมากกว่า ทำยังไงให้เส้นเลือดฝอยเข้มแข็ง เป็นด่านแรกที่ปะทะเรื่องสาธารณสุขกับชุมชน เราควรเน้นที่ศูนย์บริการสาธารณสุข นี่คือหัวใจของการทำเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็ง ปะทะที่ด่านหน้า ทำ Preventive Care เพื่อให้คนไม่ต้องเข้ามาที่โรงพยาบาลใหญ่และให้ความรู้ต่างๆ

งบประมาณเกือบ 8 หมื่นล้านบาท เราใช้งบสาธารณสุขประมาณ 7 พันล้านบาท แค่ 8.8% ยังไม่รวมเงินจาก สปสช. เราสามารถทำตรงนี้ให้ดีขึ้นได้ เราใช้เงินเก็บขยะ ทำความสะอาด ปีหนึ่งประมาณหมื่นกว่าล้านบาท ถ้าเราสามารถทำขยะให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เราจะมีเงินเหลือมาทำสาธารณสุขและการศึกษาให้เข้มแข็งมากขึ้น

เราต้องเปลี่ยน Mindset ว่าสาธารณสุขคือเรื่องสำคัญของ กทม. เราจะทำอะไร?

เราต้องยกระดับศูนย์ให้บริการสาธารณสุข 69 แห่งให้ทำหน้าที่เป็น Area Manager เรารักษาคนแทนคลินิกไม่ได้ เรามีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรอยู่ เพิ่มบริการคลินิกพิเศษเฉพาะทาง เพิ่มบริการคลินิกนอกเวลา ทำ ศบส. พลัส เพิ่มเตียงพักคอย เอาดิจิทัลเทคโนโลยีเข้าไปช่วย ขยายเวลาไปถึง 21.00น.

เชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลแม่ข่าย ใช้เทคโนโลยีเข้ามาดูแลคนป่วยระยะไกลได้มากขึ้น ให้มีหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เร็วเพิ่มขึ้น เอาหน่วยแพทย์เข้าสู่ชุมชนตามระยะเวลาที่กำหนด นำ Telemedicine (การเข้าถึงแพทย์โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย) เข้ามาใช้งานมากขึ้น คือให้แพทย์สามารถเข้าถึงผู้ใช้บริการได้มากขึ้น มีรถโมบายลงสู่ชุมชุน ทั้งเอ็กซเรย์ ทำฟัน ทำหมันหมา-แมว

นอกจากนี้เรายังมีเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำอาสาสมัครเทคโนโลยี (อสท.) เพื่อให้ความรู้ดิจิทัลกับประชาชนในแต่ละชุมชน เก็บข้อมูลผู้ป่วยติดเตียงและส่งเข้ามาให้เรามากขึ้น ทำให้เราเชื่อมโยงกับประชาชนได้อย่างไร้รอยต่อมากขึ้น มีทีมประมาณ 500 คน ทำให้เราเชื่อมโยงประชาชนกับเมืองได้อย่างเข้มแข็งมากขึ้น

เรื่องสังคมผู้สูงอายุ

กรุงเทพฯ นี่หนักกว่าที่อื่นหลายเท่าตัว คนทำงานจะขยับไปทำงานชานเมืองมากขึ้น โรคคนเมืองก็มีเพิ่มมากขึ้น กทม. มีคนที่เป็นโรคเรื้อรังมหาศาลและเพิ่มขึ้นตามอายุ เช่นโรคอ้วน ความดันสูง เบาหวาน หัวใจ มะเร็ง ฯลฯ กรุงเทพฯ ถือเป็นแหล่งของโรค NCDs เลย ซึ่งใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุขค่อนข้างมาก เรามีผู้ป่วยเกินค่าเฉลี่ยทุกอัน ภาวะอ้วนลงพุงมีสูงกว่าที่อื่นของประเทศ 17% ผมพยายามวิ่งเพื่อกระตุ้นเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต นี่คือโรคที่มาจากพฤติกรรมทั้งนั้น

กว่า 60% ของคนทำงานเป็นออฟฟิศซินโดรม โรคจิตเวชก็เพิ่มขึ้นมาก เฉพาะที่ดูแลมีกว่า 7,000 คน 60% อยู่ในวัยทำงาน เด็กที่ต้องการพบจิตแพทย์ ใช้เวลารอ 3-4 เดือน ต้องมีการให้ความช่วยเหลือมากขึ้นและเราต้องให้เด็กเข้าใจในการจัดการตัวเอง ปีที่แล้ว หน่วยบรรเทาสาธารณภัยดูแลคนโดดน้ำตายประมาณ 300 คน เป็นเทรนด์ที่น่าเป็นห่วง

ผู้สูงอายุต้องทำ Preventive care มากขึ้น ปะทะด่านหน้ามากขึ้น เพราะต้นทุนต่างกัน ดูแลผู้สูงอายุ 1.3 แสนบาทต่อคนต่อปี ถ้าดูแลคนติดเตียง 2 แสนกว่า ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนบาท เป็นต้นทุนมหาศาล เป็นสิ่งที่เราทุกคนต้องจ่าย เราต้องช่วยกันดูแล

เรามีการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้ผู้ป่วยไม่ติดเตียง ติดเพื่อนและติดชมรมแทน เราจัดตั้งแล้ว 45 ชุมชน 360 ชมรม ทำกิจกรรมนอกบ้านมากขึ้น ทำดนตรีในสวน ทำพื้นที่สีเขียว เปิดพื้นที่สาธารณะให้คนมาทำกิจกรรมร่วมกัน เราทำสิ่งที่มีอยู่แล้วให้คนมาร่วมกิจกรรมมากขึ้น ลดเรื่องสุขภาพจิตและลดการติดบ้านติดเตียง เราเพิ่มสวนสาธารณะแล้ว 112 แห่ง

เรามีคลินิกเฉพาะทางโรคอ้วน มีการแพทย์ทางเลือกเพิ่มขึ้น มีกายภาพบำบัดและดูแลเรื่องสุขภาพจิตมากขึ้น เช่น ดูแลโรคซึมเศร้าในเด็กก็พัฒนาลงพื้นที่ในชุมชนมากขึ้น และยังเพิ่มการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้น

เรื่องฝุ่น ทำไมกรุงเทพฯ จึงเกิดฝุ่นเยอะ

สองปัจจัยคือแหล่งกำเนิดฝุ่นคือแหล่งกำเนิดมลพิษและสภาพภูมิอากาศ ฝุ่นในกรุงเทพฯ เกิดจากการเผาชีวมวล 10-20% ภาคอุตสาหกรรม 10-20% และการขนส่งทางถนน 50-60%

ฝุ่นใน กทม. เกินครึ่ง มาจากการขนส่ง

คือรถปิ๊กอัพ 40-55% รถบรรทุก 20-35% และรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และอื่นๆ 5-10% หัวใจของการดูแลสุขภาพ ต้องดูแลต้นกำหนดฝุ่นให้ได้

นอกจากนี้ยังรวมถึงการเผาชีวมวลทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ ในปี 2563-64 มีรวมกันมากกว่า 100 จุด มีทั้งในเพื่อนบ้านเราเช่นลาวและกัมพูชา เมื่อลมตะวันออกพัดมาก็จะพัดฝุ่นมาด้วย ถ้าลมใต้มาจากทะเลจะไม่มีฝุ่นมา ส่วนพื้นที่อุตสาหกรรมก็มีแต่ไม่เยอะมากเพราะส่วนใหญ่จัดโซนนิ่ง มีประมาณ 10-15% เท่านั้น นอกจากนี้อากาศในช่วงหน้าหนาวที่มีสภาพอากาศกดต่ำทำให้ความหนาแน่นของฝุ่นเพิ่มมากขึ้น

เราได้จัดตั้งศูนย์ฝุ่นเพื่อแจ้งเตือนประชาชน ตอนนี้การคาดการณ์ล่วงหน้าเริ่มแม่นยำขึ้น สองเดือนที่ผ่านมาตรวจรถไปแล้ว 100,000 คัน เราไม่ได้มีอำนาจเปลี่ยนรถยนต์ ถ้าอยากแก้ให้เด็ดขาดต้องเปลี่ยนรถยนต์ที่มีมาตรฐานมากขึ้น ผู้ป่วยทางเดินหายใจเพิ่มขึ้นมากช่วงปลายเดือนมกราคมถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ เราใช้แจกหน้ากากอนามัยที่พอช่วยบรรเทาได้

สาเหตุที่ไม่ฉีดน้ำ เราเทสต์และทำการประชุม เอาอุปกรณ์ไปวัดฝุ่น ปรากฎว่าละอองฝอยน้ำไม่ได้ช่วย มันไม่สามารถดักจับฝุ่นได้ อาจช่วยให้สบายใจขึ้นแต่ไม่ได้ช่วยป้องกันหรือมีผลมาก ไม่ได้ช่วยลด PM 2.5 อย่างมีนัยสำคัญ ศูนย์เด็กอ่อนก่อนวัยเรียนเราติดตั้งเครื่องฟอกอากาศให้ และทางอ้อมเราปลูกต้นไม้ไปกว่า 2.7 แสนต้น มีคนมาร่วมปลูกกับเรา 1.6 ล้านต้น แม้จะไม่ได้ช่วยในวันนี้แต่อีกห้าปีมันจะดีขึ้นมันจะช่วยดูดซับฝุ่นละอองได้ในอนาคต

เราพยายามสร้าง EV Ecosystem รัฐบาลก็ทำได้ดีในการทำรถเมล์ EV เราพยายามพัฒนาผังเมืองให้คนเดินทางน้อยลง กระจายเมืองให้กว้างขึ้น ทำยังไงให้งานมาใกล้คนมากขึ้นเหมือนปารีส 15 นาที เข้ามาในเมืองเฉพาะที่จำเป็น นี่คือแนวคิดในการปรับผังเมือง เราปรับฟุตบาต ปรับทางเดินทางเท้า แสงสว่างและร่มเงาให้มากขึ้น ทำแบบที่จุฬาทำ ทำ Cover Walkway ให้คนเดินทางมีหลังคา มีไฟติด คนเดินสะดวกมากขึ้น จะได้ใช้รถน้อยลง

สรุปก็คือ เรื่อง Health เป็นเรื่องสำคัญ เมืองไม่สามารถจะดีได้เลย ถ้าเมืองไม่ Healthy ผมไม่ได้มองแค่ว่าเมืองเป็น Medical Hub แต่ทำอย่างไรให้คนกรุงเทพฯ อยู่อย่างมีสุขภาพดี เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะมี Medical Hub โดยที่ประชาชนยังมีสุขภาพที่อ่อนแอ คนจำนวนมากยังมีความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพอยู่ เราต้องเน้นบทบาทของเราให้สำคัญว่า กรุงเทพเน้นเรื่องปฐมภูมิ ดูแลชุมชน สุดท้ายก็ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้

ที่มา – Health in the City

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา