เปิดมุมมองบอสใหญ่ค่ายรถ กับมาตรการสนับสนุนซื้อรถใหม่ ที่ทุกคนอยากให้มี ขอแค่ไม่บิดเบือนตลาดก็พอ

ตลาดรถยนต์ไทยในปี 2024 ถือว่าแย่สุด ๆ ในรอบหลายปี เพราะเจอทุกปัจจัยลบทั้งความเข้มงวดของการปล่อยสินเชื่อ, ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่ค่อนข้างสูง จนแบรนด์รถยนต์ที่หวังว่าจะขายรถยนต์ได้ต่อเนื่องหลังจากที่ปี 2023 ตลาดนั้นเริ่มฟื้น แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้

นั่นเป็นที่มาของการรวมกลุ่ม และเข้าไปเจรจาแบบเดี่ยว ๆ กับหน่วยงานภาครัฐเพื่อให้ออกมาตรการช่วยเหลือ และผ่อนปรนการขอสินเชื่อรถยนต์จากสถาบันการเงิน ซึ่งสุดท้ายก็มีมาตรการต่าง ๆ ออกมา เช่น กระบะพี่ มีคลังค้ำ ที่กระทรวงการคลังช่วยเหลือ SME ที่ต้องการซื้อรถกระบะคันใหม่ด้วยวงเงินระยะแรก 5,000 ล้านบาท

มุมมองของค่ายรถยนต์ต่าง ๆ กับนโยบายเหล่านี้จะเป็นอย่างไรบ้าง และแต่ละแบรนด์ต้องการให้เกิดการสนับสนุนในรูปแบบใด Brand Inside ได้รวบรวมความเห็นของทั้งเจ้าตลาดอย่าง Toyota กับ Isuzu รวมถึงแบรนด์ผู้ผลิตจากจีน กับเกาหลี เช่น Hyundai, Great Wall Motor และ Geely ดังนี้

Motor Show

Toyota มองประโยชน์ของประเทศเป็นอย่างแรก

ศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เล่าให้ฟังว่า ทางบริษัท และกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์มีการนำเสนอรูปแบบการสนับสนุนผ่านนโยบายต่าง ๆ ให้กับหน่วยงานรัฐตั้งแต่ช่วงกลางปี 2024 เนื่องจากภาพรวมการจำหน่ายรถกระบะหดตัวค่อนข้างมาก และการอนุมัติสินเชื่อที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นน่าจะช่วยกระตุ้นตลาดได้ ประกอบกับรถกระบะยอดขายเป็นสัดส่วนสำคัญของตลาด การทำให้ยอดขายรถกระบะเพิ่มขึ้นก็ทำให้ Supplier หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในตลาดรถยนต์นั้นฟื้นตัวกลับมาด้วย

“ตลาดตอนนี้สถาบันการเงินตีตกสินเชื่อ 30-40% ถ้ามีการผ่อนคลายความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อก็น่าจะเพิ่มจำนวนการขายรถกระบะใหม่ได้ราว 3,000-4,000 คัน เมื่อประกอบกับวงเงิน 5,000 ล้านบาท ไม่ได้ให้เป็นตัวเงินหลังจากซื้อรถ แต่เป็นการหักมูลค่าหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้โอกาสการเกิดหนี้เสียนั้นน้อยกว่า และเกิดวอลูมการขายที่ชัดเจน ที่สำคัญนโยบายที่ภาครัฐออกมาหลังจากนี้ต้องดูว่าสิ่งที่ประเทศจะได้คืออะไร รวมถึงสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้คืออะไรเช่นกัน”

หากเจาะไปที่นโยบาย กระบะพี่ มีคลังค้ำ ของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม หรือ บสย. Toyota มองว่า นโนบายนี้ต่างกับรถคันแรกที่เกิดขึ้นหลังวิกฤติน้ำท่วม เพราะนโยบายดังกล่าวผู้บริโภคจะต้องซื้อรถยนต์ก่อน และนำหลักฐานการซื้อมาเคลมเป็นตัวเงิน ซึ่งตัวเงินนั้นผู้บริโภคจะนำไปจ่ายหนี้ต่อ หรือไปทำอะไรก็ได้ จึงมีโอกาสเกิดหนี้เสีย แต่นโยบายใหม่นี้จะเป็นการหักมูลค่าหนี้ตั้งแต่เริ่มต้น ทำให้โอกาสการเกิดหนี้เสียจึงน้อยกว่า และโยบายดังกล่าวจะมีส่วนในการขับเคลื่อนให้ตลาดรถยนต์ใหม่มียอดขายเกิน 6 แสนคัน หลังจากหดตัวที่สุดในปี 2024

“12-15% คือยอดปฏิเสธสินเชื่อรถกระบะในช่วงเวลาปกติ แต่ในระยะหลังที่ตลาดรถยนต์มีปัญหา อัตราการปฏิเสธเพิ่มเป็น 30% ดังนั้นนโยบายนี้จะช่วยให้ช่วงห่าง 15-20% กลับมาได้ ยิ่งลูกค้ารถกระบะที่พวกเขาจะซื้อรถใหม่เพราะมีงานรออยู่ แต่สุดท้ายก็ซื้อไม่ได้ ทำให้พวกเขาขาดโอกาสการหารายได้” ทั้งนี้ใน 3 เดือนแรกของปี 2025 ตลาดรถกระบะนั้นหดตัว 15% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2024 ส่วน Toyota ตั้งเป้ายอดขายปี 2025 ที่ 2.3 แสนคัน มีส่วนแบ่งตลาด 38.5%

ส่วนภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV Toyota มองว่า ตลาดนั้นอาจอยู่ในจำนวนนี้อีกระยะหนึ่ง ส่วนเรื่องมาตรการการสนับสนุน Toyota ยังมองที่หากมาตรการนั้นกระตุ้นให้เกิดการผลิตในประเทศไทย ก็ย่อมเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับคนไทย “เราไม่ได้มองการขายรถใหม่ เราดูเรื่อง Loop การใช้งานมากกว่า เราไม่ได้อยากขายของถูก เราทำให้ของมันคุ้มค่า เราไม่อยากทำการขายไม่ได้แล้วลดราคาลงมา มันต้องคงความคุ้มค่าของตัวรถเอาไว้ด้วย และมันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ดีกับลูกค้าแน่นอน” ศุภกร ย้ำ

Isuzu กับ Hyundai มองตลาดโตลำบาก

ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด เสริมว่า การมาถึงของนโยบายจาก บสย. ถือเป็นเรื่องน่าชื่นชม เพราะตลาดรถกระบะหดตัวผ่านความเข้มงวดของไฟแนนซ์ แม้ตอนนี้ บสย. จะอยู่ระหว่างเจรจากับธนาคารพาณิชย์ต่าง ๆ แต่นโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นตลาดรถกระบะได้ไม่มากก็น้อย โดยหากไม่นำนโยบายดังกล่าวมาคำนวณ Isuzu คาดการณ์ตลาดรถกระบะในประเทศไทยจะใกล้เคียงกับปี 2024 ที่มียอดขาย 1.63 แสนคัน โดย Isuzu ทำได้ 76,000 คัน เป็นรถกระบะขนาดเล็ก 76,000 คัน

“มองว่าปี 2025 ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยยังใกล้เคียง 5.7 แสนคัน เท่าปี 2024 โดยเป็นการคาดการณ์ผ่านการไม่มีนโยบายจาก บสย. เข้ามาเป็นตัวแปร” ทาคาชิ ฮาตะ กล่าว โดยเมื่อปี 2024 Isuzu มีการประกาศลงทุนกว่า 32,000 ล้านบาท เพื่อผลิตรถกระบะไฟฟ้า และยกระดับโรงงานในประเทศไทย รวมถึงเพิ่มแผนในการส่งออกรถกระบะไปที่กลุ่มประเทศยุโรปภายในกลางปี 2025 ซึ่งผ่านมา 2 เดือนแรกของปี 2025 ทาง Isuzu จำหน่ายรถยนต์ในประเทศไทยได้ 12,000 คัน ลดลง 16.8% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน

ด้าน วัลลภ เฉลิมวงศาเวช กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮุนได โมบิลิตี้ (ประเทศไทย) จำกัด มองว่า หน่วยงานรัฐควรแจ้งให้ชัดเจนเกี่ยวกับการสนับสนุนตลาดรถยนต์ จากที่ปัจจุบันมีประกาศไปแล้ว 1 นโยบาย เพื่อให้ฝั่งผู้ผลิตรถยนต์ได้เตรียมตัว แต่ถึงมีนโยบายออกมา ภาพรวมตลาดรถยนต์ไทยอาจเท่าเดิม หรือเติบโตจาก 5.7 แสนคันที่ทำได้ในปี 2024 เท่านั้น เพราะภาพรวมตลาดช่วง 2 เดือนแรกยังหดตัวอยู่ ที่สำคัญนโยบายแบบใดก็เป้นผลดี เพียงแต่ต้องให้ผลประโยชน์กับผู้บริโภคอย่างสมดุล

“นโยบายอย่างเอารถเก่ามาซื้อรถใหม่ก็ต้องคำนวณให้ดี เช่น ถ้าให้รถที่อายุเยอะกว่า 20 ปี เท่านั้น คนขับรถกลุ่มนี้อาจเป็นผู้ซื้อรถยนต์มือสอง และพวกเขาคงไม่ได้อยากขยับขึ้นมาซื้อรถยนต์มือหนึ่งหรือเปล่า และหากบังคับให้ต่ำเกินไป ฝ่ายที่ใช้รถอายุเก่ากว่าก็อาจมองไม่เป็นธรรมเหมือนกัน” วัลลภ กล่าว โดยอีกตัวอย่างที่ดีคือ การที่กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าล้วนนั้นได้ประโยชน์จากการสนับสนุนไปค่อนข้างเยอะ หากได้ผลประโยชน์จากมาตรการในลักษณะนี้อีกอาจมากขึ้นกว่าเดิม

สำหรับภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนในประเทศไทย จากปี 2024 ที่มีส่วนแบ่งในตลาด 13% วัลลภ เชื่อว่า ในอนาคตตลาดนี้จะมีสัดส่วนไม่เกิน 30% โดยยกตัวอย่างกรณีของตลาดสหรัฐอเมริกาที่ Tesla ทำตลาดมานานเกือบ 20 ปี ภาพรวมตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่สหรัฐอเมริกายังคิดเป็นสัดส่วน 25% เท่านั้น ส่วนตัว Hyundai ปัจจุบันวางตัวเป็นแบรนด์ Premium EV ทำให้ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทค่อนข้างน้อย หรือ 2-3% เท่านั้น ส่วนปัจจัยลบของตลาดมีอีกสิ่งคือการทำสงครามราคาอย่างรุนแรงในช่วงเวลาที่ผ่านมา

แบรนด์จีนขอตั้งราคาอย่างสมเหตุผล

ณรงค์ สีตลายน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรีนอยสเติร์น จำกัด ผู้ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนแบรนด์ Geely มองตลาดรถยนต์ในไทยปี 2025 ว่า ปี 2025 ยังเป็นปีที่เหนื่อยเช่นเดิม เพราะปี 2024 ตลาดหดตัวค่อนข้างแรง และจะดันขึ้นไปเป็น 5.8 แสนคัน หรือเติบโตขึ้นเล็กน้อยก็ลำบาก ยิ่งถ้าไม่มีมาตรการมาช่วย รวมถึงการผ่อนปรนเรื่องสินเชื่อ และภาษี โอกาสก็ยิ่งยาก ดังนั้นหลังจากนี้ต้องมีสักหนึ่งเรื่องที่เกิดขึ้น เพื่อประคองตลาดรถยนต์ไทยให้ยังเท่าเดิม

“ส่วนตัวเชื่อว่าสงครามราคามันหลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เพราะหลากหลายแบรนด์ก็ทำกัน” ณรงค์ ย้ำ อย่างไรก็ตามทางแบรนด์ยังเดินหน้าทำตลาดในราคาที่สมเหตุผล และเร่งขยายดีลเลอร์ให้เป็น 30 รายในปี 2025 โดยกลางปีจะอยู่ที่ 17 ราย แม้ Geely จะทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วนเพียง 1 รุ่น คือ EX5 แต่ทางแบรนด์ยังไม่มีการยืนยันใด ๆ เกี่ยวกับการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นอื่นเพิ่มเติม เพียงแต่หวังยอดขายในปี 2025 ที่ 8,000-9,000 คัน ผ่านรถยนต์เพียง 1 รุ่น

วุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) หรือ GWM แจ้งว่า ในปี 2024 ตลาดรถยนต์ไทยอยู่ที่ 5.7 แสนคัน แต่ถ้ามีการปรับตัวของค่ายผู้ผลิตรถยนต์ และรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้ ตัวเลขอาจเติบโต 5% และไปแตะที่ 6 แสนคัน โดยกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV จะเพิ่มสัดส่วนจาก 13% ที่ 70,000 คัน เป็น 15% ได้อีกด้วย ผ่านการที่มีสินค้าให้เลือกในตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายที่เห็นมาตอนนี้จะอยู่แค่กลุ่มรถกระบะ ดังนั้นโอกาสการเติบโตจึงอยู่ในกลุ่มรถกระบเท่านั้น

“ปีที่แล้ว (2024) ตลาดน่าจะเรียนรู้เรื่องการทำสงครามราคาไปแล้วว่ามันจะส่งผลอย่างไรบ้าง และหลังจากนี้ทุกอย่างมันจะเริ่มนิ่ง ซึ่งหน้าที่ของเราคือการทำโปรดักต์ให้มันตอบโจทนย์ที่สุดเลยด้วย เช่น GWM มี Haval H6 ที่มันตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุดเลยด้วย เพราะเราไม่ต้องการให้เกิดสงครามราคา และไม่ต้องให้ลูกค้ากังวลว่าเปิดแล้วจะลดอีกหรือไม่” วุฒิกร ย้ำ และเสริมว่า บริษัทควรทำราคาออกมาให้ลูกค้าไม่ต้องลังเลว่าเมื่อไรจะลดราคาอีก และหวังว่าทุกแบรนด์จะช่วยกันในเรื่องนี้

สำหรับปี 2025 GWM จะมีการเปิดตัวรถยนต์กลุ่มดีเซล และกระบะ Poer ส่วนการขยายโชว์รูมจาก 68 แห่งนั้นยังไม่มีแผนเพิ่มเติม โดยนับถึงเดือน ก.พ. 2025 GWM มียอดขายสะสมตั้งแต่เปิดจำหน่ายรถยนต์ในไทยที่ 37,067 คัน โดยส่วนหนึ่งมีการผลิตในประเทศไทย และใช้ชิ้นส่วนจากซัพพลายเออร์ในประเทศที่ 40-50% ส่วนเรื่องมาตรการสนับสนุนการซื้อรถอื่น ๆ เช่น รถเก่าแลกรถใหม่ แนะนำให้ภาครัฐดูเรื่องมลพิษ และความคุ้มค่า ยิ่งคนไทยใช้รถเกิน 10 ปี การกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมก็จำเป็น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา