ชวนคุยประโยคสั้นๆ แต่ได้ผลยิ่งใหญ่ เปิด 6 วิธี คุยงานอย่างไรได้งานได้ความสัมพันธ์ดีๆ

“ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง?” คือประโยคทักทายยอดนิยมของคนไทย รองลงมาจาก “ทำอะไรอยู่?” ซึ่งทั้งสองประโยคทักทายนี้ดูเหมือนว่าจะช่วยให้การพูดคุยเป็นไปอย่างลื่นไหล แต่ความจริงแล้วอาจไม่ได้เป็นเช่นนั้น

ภาพจาก Unsplash โดย Brooke Cagle

เพราะความจริงแล้วการเริ่มต้นสนทนาด้วยประโยคแบบนี้ เป็นการชวนคุยแบบผิวเผิน คนชวนคุยไม่ได้อยากรู้จริงๆ และคนตอบก็ตอบแบบไม่ได้ใส่ใจมากนัก ทำให้การสนทนาครั้งนี้ไม่ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนทั้งสองฝ่ายแต่อย่างใด

ที่ผ่านนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Harvard เคยทำการศึกษาบทสนทนาบนโลกออนไลน์จำนวน 300 บทสนทนา พบว่า คู่สนทนามีแนวโน้มจะชอบบทสนทนาที่มีความลึกซึ้ง มากกว่าการถามว่า ช่วงนี้เป็นอย่างไรบ้าง และ ทำอะไรอยู่ เพราะบทสนทนาที่มีความลึกซึ้ง และลื่นไหล จะทำให้เกิดการตอบสนองระหว่างบุคคล รวมถึงเกิดการรับฟัง และทำความเข้าใจที่มากกว่าบทสนทนาที่มีความผิวเผิน

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ หลายๆ คน อาจไม่รู้ว่าจะหาวิธีเริ่มต้นการพูดคุยอย่างไร ให้กลายเป็นการพูดคุยที่มีความลึกซึ้ง มีความลื่นไหล มากกว่าการถามคำตอบคำ ซึ่งไม่ได้ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอย่างแท้จริง

ภาพจาก Unsplash โดย You X Ventures

6 เทคนิค ชวนคุยอย่างไรให้ลื่นไหล

เริ่มบทสนทนา ขั้นตอนแรก สำคัญที่สุด

การสร้างบทสนทนาที่ดี นำไปสู่การพูดคุยที่มีความลื่นไหล และลึกซึ้งมากกว่าการพูดคุยแบบผิวเผิน ต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการเริ่มบทสนทนา และการเปิดประเด็นการพูดคุย ซึ่งมีหลักการง่ายๆ 3 หลักการคือ

    • เป็นประโยคที่มีความแปลกใหม่ และน่าเชื่อถือในเวลาเดียวกัน
    • เป็นประโยคที่สามารถสร้างความสัมพันธ์กับคู่สนทนาได้
    • เป็นประโยคที่บ่งบอกความเป็นตัวเอง ให้คู่สนทนาได้รับรู้

หลีกเลี่ยงเรื่องทั่วๆ ไป

หลายๆ คน ที่อยากเริ่มต้นการพูดคุยกับคนอื่นๆ แต่ไม่รู้ว่าจะคุยอะไร มักพูดคุยด้วยเรื่องทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น สภาพการจราจร สภาพอากาศ หรือการแข่งขันกีฬาที่ตัวเองชอบดู แต่ความจริงแล้วการชวนคุยเรื่องทั่วๆ ไป อาจไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก เพราะ เรื่องเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกความเป็นตัวตนของคุณเอง

แต่อย่างไรก็ตามการพูดคุยเรื่องทั่วๆ ไป ก็มีข้อยกเว้นเช่นกัน ในกรณีที่คนที่คุณคุยด้วยมีความชอบ หรือหลงไหลในเรื่องนั้นๆ เช่น เรื่องทีมกีฬา ก็สามารถคุยเรื่องกีฬาได้เช่นกัน

ใส่ใจกับเรื่องที่กำลังคุยอยู่

นอกจากการพูดคุยกับคนอื่นๆ จะต้องใช้ปาก ในการพูดออกไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ ตา ที่ต้องให้ความสนใจมองสิ่งรอบๆ ตัวอยู่เสมอ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในขณะที่กำลังพูดคุยกันอยู่ เช่น รูปที่ติดอยู่ที่ผนัง ของสะสม หรือของใช้ต่างๆ ซึ่งสิ่งรอบตัวเหล่านี้สามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ และช่วยเสริมให้บทสนทนามีความลื่นไหลมากขึ้น โดยสามารถหยิบยกสิ่งของต่างๆ มาใช้เป็นประเด็นในการชวนคุยต่อก็ได้เช่นกัน

เล่าเรื่องของตัวเองบ้าง อย่าเป็นแค่ผู้ฟังอย่างเดียว

ตามธรรมชาติของคน ย่อมมีความอยากรู้อยากเห็น ต้องการฟังเรื่องราวต่างๆ ของคนอื่น นอกเหนือจากเรื่องในชีวิตของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่มีความใกล้ชิดกันในระดับหนึ่ง เช่น คนที่ทำงานในแผนก หรือบริษัทเดียวกัน

ซึ่งการเล่าเรื่องของตัวเอง สามารถนำไปใช้ได้ในขณะก่อนเริ่มการประชุม โดยให้ผู้เข้าร่วมประชุมแชร์เรื่องสั้นๆ เกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองไปเจอมา ก็จะช่วยสร้างความเป็นกันเอง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อยู่ในห้องประชุมได้

เริ่มพูดก่อน สร้างความได้เปรียบ

หากอยู่ในวงสนทนาที่มีคนมากกว่า 2 คนขึ้นไป คุณควรเริ่มหาทางเปิดการสนทนาก่อนคนอื่นๆ เสมอ เพราะจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการพูดคุย มากกว่าจะรอเป็นผู้ตอบคำถามเพียงอย่างเดียว

การพูดคุย ไม่ใช่แค่เรื่องเสียง

อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องพิจารณาของการสนทนา ไม่ใช่แค่การพูดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เรื่องอื่นๆ อย่าง น้ำเสียง สีหน้า และท่าทาง ย่อมแสดงออกถึงความเป็นตัวคุณให้กับคู่สนทนาได้รับรู้ ดังนั้นในขณะที่กำลังพูดอยู่ ควรส่งยิ้มให้กับคู่สนทนาอยู่เสมอๆ ซึ่งจะช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีได้มากกว่าการพูดเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้แสดงออกทางสีหน้าเลย

ที่มา – cnbc

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา