Bloomsbury Publishing สำนักพิมพ์ระดับโลกสัญชาติอังกฤษ เจ้าของลิขสิทธ์นิยายชุด แฮร์รี่ พอตเตอร์ต้นฉบับ ประกาศเพิ่มเงินปันผลพิเศษหลังรายได้ประจำปีเพิ่มถึง 22% เหตุยอดขายหนังสือพุ่งช่วงล็อคดาวน์
หนังสือชุด Harry Potter ขายดีช่วงล็อคดาวน์
กำไรก่อนหักภาษีประจำปีของ Bloomsbury (สิ้นสุดเดือนก.พ. 2021) เพิ่มขึ้นเป็น 19.2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 845.3 ล้านบาท) จาก 15.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 691.2 ล้านบาท) ของปีที่แล้ว รวมถึงรายได้ประจำปีที่เพิ่มขึ้นถึง 14% จาก 181.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 8 พันล้านบาท) อีกด้วย
นอกจากกำไรที่เพิ่มขึ้นแล้ว ยังมีเงินปันผลพิเศษมูลค่าราว 7.4 ล้านปอนด์ (ประมาณ 326 ล้านบาท) เป็นเงินปันผลที่ Bloomsbury เพิ่มให้ผู้ถือหุ้น นอกเหนือจากเงินปันผลประจำปีที่มีอยู่แล้ว
สำนักพิมพ์ Bloomsbury ได้ทำการปรับปรุงเป้ายอดขายปี 2021 ให้สูงขึ้นหลายรอบแล้ว เนื่องจากสามารถทำ “ยอดขายทะลุเป้า” ได้ในหมวดหมู่หนังสือทั้งสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น ตำราอาหาร นิยายแฟนตาซี ไปจนถึง คู่มือการนั่งสมาธิและการออกกำลังกาย
ล็อคดาวน์เพิ่มนักอ่าน
Nigel Newton ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารสูงสุดของ Bloomsbury ได้ให้เหตุผลสำหรับยอดขายที่เพิ่มขึ้นไว้ว่า “ผมคิดว่าหลายๆ คนอาจจะเปลี่ยน ความเคยชิน ให้เป็น นิสัย รักการอ่าน หลังจากพวกเขาได้ค้นพบบทบาทของหนังสือในชีวิตอีกครั้งหนึ่ง และเมื่อสถานการณ์โควิด-19 ได้จบลง โลกของพวกเราก็จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป” ซึ่งหลังจากสาขาของ Bloomsbury ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง ลูกค้าจำนวนมากก็เข้ามาซื้อหนังสือกันอย่างมากมาย
ล็อคดาวน์เพิ่มนักเขียน
อีกด้านหนึ่งในประเทศฝรั่งเศส สำนักพิมพ์แนวหน้าอย่าง Gallimard ได้ประกาศผ่านทาง Twitter ว่า
“โปรดชะลอการส่งต้นฉบับให้สำนักพิมพ์ในช่วงนี้ออกไปก่อน” เหตุจากจำนวนต้นฉบับที่ถูกส่งเข้ามาสูงขึ้นถึง 67% ต่อวัน เพราะนักเขียน ทั้งมือใหม่และเก่า มีเวลาเขียนระหว่างล็อคดาวน์มากขึ้น
สถานการณ์ภายในไทยเป็นอย่างไร: สำนักพิมพ์มีรายได้สวนทางรายจ่าย
ในด้านของประเทศไทย รายได้ประจำปี 2020 ของร้านหนังสือรายใหญ่ในประเทศ เช่น ซีเอ็ด นายอินทร์ บีทูเอส และอื่น ๆ ต่างรายได้ลดกันอย่างถ้วนหน้าไม่ต่ำกว่า 25% โดยเฉพาะบริษัทที่มีสาขาและพนักงานเป็นจำนวนมาก เหตุจากการขาดรายได้หน้าร้านและค่าใช้จ่ายที่สวนทางกับรายได้
แต่ทว่า หนึ่งในเทรนด์ที่น่าสนใจคือ ในตลาดหนังสือไทยที่มีมูลค่าราว 12,000 ล้านบาท สัดส่วนยอดขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซและอีบุ๊ค) เพิ่มขึ้นจาก 6% ในปี 2019 เป็น 30% ในปี 2020
อ้างอิงจากเทรนด์นี้ ร้านหนังสือหลายรายก็หันมาให้บริการออนไลน์กันมากขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือ ซีเอ็ด ที่ยอดขายทางช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นกว่า 200% ในด้านของการปรับตัว นอกจากเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้ว ทางซีเอ็ดก็เพิ่มบริการขายหนังสือผ่าน Social Commerce อย่าง Facebook และ LINE รวมไปถึงการให้บริการเดลิเวอรี่หนังสือถึงบ้านลูกค้าอีกด้วย
สรุป
ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้ร้านหนังสือต้องปิดตัวลงชั่วคราว แต่การปรับตัวของบริษัทก็สามารถลดความเสียหาย หรือแม้แต่สร้างกำไรได้ ผู้คนไม่เคยหยุดอ่านหนังสือ แม้ช่องทางการซื้อและรูปแบบของตัวหนังสืออาจจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม เมื่อร้านหนังสือต่าง ๆ ปรับตัวมาให้บริการออนไลน์กันมากขึ้น ยอดขายคงจะดีขึ้นตามลำดับในปีนี้
Source: Reuters, France24, DBD 1 2 3
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา