ธนาคารญี่ปุ่นกำลังจะเลิกใช้ Hanko เพื่อลดภาระเอกสารและผลักดันประเทศสู่ยุคดิจิทัล

ใครที่รู้จักประเทศญี่ปุ่นและคุ้นเคยกับวิถีชีวิตคนญี่ปุ่นมาบ้าง อาจจะรู้จักกับการใช้ “ตราปั๊ม” หรือ Hanko ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของคนญี่ปุ่นเพราะไม่ว่าจะทำธุรกรรมอะไรก็ต้องใช้ตราปั๊มนี้

ภาพจาก Shutterstock

Hanko หรือตราปั๊มซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของญี่ปุ่นนั้น เป็นวัฒนธรรมที่นำเข้ามาจากจีนในยุค Kamakura (1185-1333) ซึ่งตอนแรกจะใช้ในกลุ่มคนชั้นสูงเช่นโชกุน แต่เริ่มมาแพร่หลายใน ยุค Edo (1603-1868) ซึ่งญี่ปุ่นมีกฎหมายรับรอง Hanko ตั้งแต่ปี 1873 ทำให้ Hanko เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคนญี่ปุ่นมาจนถึงทุกวันนี้

Hanko นั้นมีขายที่หลากหลายรูปแบบและราคา ตั้งแต่ทำจากยางที่หาซื้อได้จากร้านร้อยเยน ไปจนถึงทำจากไม้หรือเขาวัวควายที่มีราคาสูงกว่า 20,000 เยน ซึ่งโดยมากคนญี่ปุ่นจะมี Hanko ทั้งหมด 3 แบบ คือ Jitsuin สำหรับสัญญาสำคัญเช่นซื้อบ้าน, Ginkoin สำหรับทำธุรรมทางการเงินกับธนาคาร และ Mitomein สำหรับงานทั่ว ๆ ไป เช่นเซ็นสัญญารับส่งของดิลิเวอรี่ ดังนั้น Hanko จึงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ เพราะต้องใช้ยืนยันตัวตนในการทำธุรกรรม

ในขณะที่จีนซึ่งเป็นต้นตำรับของ Hanko ก็มี QR Code ใช้จ่ายเงินกันอย่างแพร่หลายแล้ว จึงเป็นที่น่าสนใจมากว่าประเทศที่มีเทคโนโลยีทันสมัยอย่างญี่ปุ่นยังมั่นคงในการใช้ตราปั๊มมาอย่างยาวนาน

Alipayในร้านค้าญี่ปุ่น

การใช้ตราปั๊มในญี่ปุ่นซึ่งเป็นสิ่งตกทอดในอดีตที่ปัจจุบัน เริ่มกลายเป็นสิ่งสร้างภาระทางการดูแลเอกสาร และสร้างกำแพงในการทำธุรกรรมต่าง ๆ โดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในยุคฟินเทคที่การเงินควรจะเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย ๆ ยกตัวอย่างเช่น Tomoyuki Shiraishi คนงานก่อสร้างใน Kurashiki อายุ 24 ปีกล่าวถึง Hanko ว่า “มันยุ่งยากไปที่ต้องนำ Hanko และทำเอกสารเพียงแค่จะถอนเงินจากสาขาของธนาคาร”

ตอนนี้ทางธนาคารหลายแห่งของญี่ปุ่นจึงเริ่มหาทางเลิกใช้วิธียืนยันตัวตนด้วย Hanko เพื่อลดต้นทุนงานเอกสาร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และทำให้คนยุคดิจิทัลเข้าถึงการเงินการธนาคารได้ง่ายขึ้น

เลิกใช้ Hanko เพื่อผลักดันธนาคารสู่ยุคดิจิทัล

Mitsubishi UFJ Financial Group Inc. หรือ MUFG สถาบันการเงินขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นได้เปิดให้บริการบัญชีแบบไม่ต้องใช้ Hanko หรือสมุดบัญชีแล้ว รวมถึงตอนนี้ MUFG ก็เริ่มปรับปรุงเครือข่ายสาขาเพื่อนำคอมพิวเตอร์แท็บเล็ตและวิดีโอมาแทนที่พนักงานฝากถอน

Bank of Tokyo Mitsubishi UFJ หน่วยธนาคารของ MUFG สาขา Shinsaibashi

เป้าหมายในการปรับตัวของ MUFG ก็เพื่อให้ลูกค้าปรับตัวเข้ากับดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินบนอุปกรณ์ของตัวเองได้ โดย MUFG ตั้งเป้าปรับรูปแบบสาขากว่า 100 แห่งในประเทศเป็นรูปแบบใหม่ภายในปี 2024 ซึ่ง MUFG ยังวางแผนจะลดจำนวนสาขาที่มีเคาน์เตอร์แบบดั้งเดิมลดลงให้ได้ครึ่งหนึ่งในช่วงเวลาเดียวกันนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจาก MUFG แล้ว Resona Holdings Inc. สถาบันการเงินอีกแห่งของญี่ปุ่นก็ประกาศให้ลูกค้าเปิดบัญชีแบบไม่ต้องใช้ Hanko ได้แล้วใน 600 สาขาของธนาคาร

การผลักดันญี่ปุ่นสู่ยุคดิจิทัลนี้ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe ซึ่งตอนนี้กำลังร่างกฎหมายเพื่อให้บริการของรัฐใช้ออนไลน์ได้ด้วย

เงินเยนญี่ปุ่น

แต่การจะทดแทนระบบเก่า ๆ ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่ง่ายดายนัก โดย Takayuki Ogura ผู้อำนวยการหน่วยธนาคารของ MUFG ระบุว่า MUFG ก็ต้องใช้เวลากว่า 2 ปีในการโน้มน้าวรัฐบาลท้องถิ่นกว่า 450 ชุดในการประมวลผลระบบจ่ายภาษีให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์

แต่ Hanko คงยังไม่หายไปเร็ว ๆ นี้

แม้ธนาคารหรือองค์กรเอกชนญี่ปุ่นต่างก็เล็งเห็นความยุ่งยากในการจัดการเอกสาร แต่ฝั่งราชการของญี่ปุ่นก็ยังคงรักษามาตรฐานการใช้งาน Hanko ไว้อย่างเหนียวแน่น หรือธุรกิจขนาดเล็กก็ยังเรียกใช้ Hanko สำหรับสัญญาหลาย ๆ อย่าง ไปจนถึงการแต่งงานหรือการเป็นเจ้าของบ้านก็ยังต้องใช้ตราปั๊มนี้

Keiichi Fukushima ช่างแกะสลักที่ได้รับใบอนุญาต และเป็นทายาทรุ่นที่สี่ของร้านขาย Hanko ใน Ueno ระบุว่า ทุกวันนี้ผู้ปกครองยังซื้อ Hanko แบบทำมือให้เด็ก ๆ ตอนที่มีอายุที่เหมาะสม และนักท่องเที่ยวก็มักจะซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึกด้วย ตอนนี้ธุรกิจการทำ Hanko นี้มีมูลค่ากว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์ต่อปี และยังมีโอกาสที่ต้องใช้ Hanko อีกมากในชีวิตของคนญี่ปุ่น

Minami Yoshida เสมียนบัญชีวัย 26 ปีจากบริษัทแห่งหนึ่งใน Kawasaki ระบุว่า ก่อนหน้าที่เธอจะจ่ายเงินให้ซัพพลายเออร์ได้ เธอต้องปั๊มตรายางลงแบบฟอร์มใบโอนเงินด้วย Hanko ของบริษัท และนำแบบฟอร์มส่งธนาคารเพื่อประมวลผล ซึ่ง Yoshida เห็นว่ามันไร้ประสิทธิภาพมาก ซึ่งเธอไม่ได้อยากจะใช้ Hanko ในหลาย ๆ โอกาสที่มากเกินไป

ภาพจาก Shutterstock

สรุป

ตอนนี้ธนาคารญี่ปุ่นต่างก็พยายามปรับตัวให้ทันยุคดิจิทัล โดยการเลิกใช้ Hanko ก็ถือเป็นหนึ่งในวิธีลดภาระงานด้านเอกสารลง ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นเข้าสู่ยุคดิจิทัลได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ฟินเทคเข้าถึงการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่นได้ดีขึ้น แต่กับงานราชการอาจต้องใช้เวลาอีกสักพักใหญ่ ๆ

ที่มา – Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

คอลัมนิสต์ Brand Inside ผู้สนใจเรื่องของบริษัทเทคโนโลยี, ตลาดเงินตลาดทุน รวมถึงด้านธนาคาร และการปรับตัวด้านเทคโนโลยีมาใช้ของบริษัทต่าง ๆ