แนะผู้ประกอบการธุรกิจอาหาร เร่งเครื่องลุยตลาด “ฮาลาล” โอกาสที่ขยายตัวมหาศาล

ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนไปอย่างไร อาหารยังเป็นเรื่องจำเป็นและน่าลงทุนอยู่เสมอ โดยเฉพาะการเจาะลึกอาหารเฉพาะทางของแต่ละชนชาติ ศาสนา หนึ่งในนั้นคือ อาหารฮาลาล โดยมีกลุ่มประเทศมุสลิมเป็นลูกค้าเป้าหมายหลัก และไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ส่งออกอาหารฮาลาลด้วยเช่นกัน

ฮาลาล โอกาสของธุรกิจอาหารไทย

ปัจจุบันอาหารฮาลาลมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากประชากรมุสลิมกำลังขยายตัว คาดว่าในปี 2030 จะมีจำนวนมุสลิมทั่วโลก 2,200 ล้านคน คิดเป็น 26.4% ของประชากรทั้งโลก จากปัจจุบันมีอยู่ 2,000 ล้านคนหรือ 25%

ขณะที่ผู้ผลิตอาหารตามหลักฮาลาลยังมีอยู่น้อย ทำให้ตลาดเศรษฐกิจฮาลาลเป็นตลาดเกิดใหม่ที่ทรงอิทธิพลและมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วที่สุด โดยตลาดอาหารฮาลาลของไทยเป็นตลาดที่กำลังขยายตัวขึ้นมาเป็นอันดับสามของโลก รองจากตลาดอาหารในประเทศจีน และ อินเดีย

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์พบว่า ไทย เป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารมุสลิมเป็นอันดับที่ 10 ของโลก มีมูลค่า การส่งออกกว่า 6,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี และมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอาหารหลายเจ้าต้องการตีตลาดนี้

กรไทย ครีมเทียมลุยตลาดฮาลาล

วัชรลักขณ์ ตัณฑ์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรไทย จำกัด ผู้ผลิตครีมเทียมและผลิตภัณฑ์เกี่ยวเนื่อง บอกว่า มองเห็นโอกาสขยายตัวของธุรกิจจากสัดส่วนของชาวมุสลิมและความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ขัดต่อบัญญัติทางศาสนา โดยดูจากพนักงานในโรงงานที่เป็นชาวมุสลิม จะเลือกซื้อสินค้าที่ตราสัญลักษณ์ฮาลาล ทำให้ผลักดันธุรกิจกรไทย ให้ได้มาตรฐานฮาลาล

การจะได้รับมาตรฐานฮาลาล ต้องมีความเข้มงวดในทุกขั้นตอนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบที่ต้องเป็นฮาลาล ต้องส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่าวัตถุดิบเป็นฮาลาล 100% จนได้รับใบรับรองมาตรฐานฮาลาล แม้จะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นกว่า 2% แต่ก็คุ้มค่าและได้สินค้ามีคุณภาพพร้อมจำหน่ายและส่งออก

ในปี 2559 กรไทย มียอดขาย 2,600 ล้านบาท จากปี 2558 มียอดขาย 2,400 ล้านบาท และตั้งเป้าการเติบโตเพิ่มขึ้น 10% ทุกปี รวมถึงเน้นตลาดในต่างประเทศ กลุ่มประเทศ UAE มีสัดส่วนการทำตลาด ไทย 60% ต่างประเทศ 40%

วัชรลักขณ์ ตัณฑ์สกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรไทย จำกัด

ใส่ใจทั้งคุณภาพและรสนิยม

วัชรลักขณ์ บอกว่า นอกจากเรื่องของมาตรฐานฮาลาลและคุณภาพสินค้า เรื่องของอาหารต้องใส่ใจเรื่องรสนิยมการบริโภคในแต่ละพื้นที่ด้วย ชาวมุสลิมแต่ละแห่งก็บริโภคอาหารรสชาติแตกต่างกัน ในไทย ครีมเทียม ถูกใช้เป็นส่วนผสมในการชงกาแฟ แต่ในต่างประเทศใช้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารด้วย

ดังนั้น กรไทย จึงปรับรสชาติ ความเข้มข้น และกลิ่นของครีมเทียมให้ตรงกับความต้องการของแต่ละประเทศ ทำให้อาหารมีรสชาติดีขึ้น กลายเป็นจุดเด่นของสินค้าเมื่อเทียบกับคู่แข่ง และเป็นโอกาสให้ครีมเทียมขยายตลาดได้ต่อเนื่อง

 

สรุป

ธุรกิจฮาลาลในไทยยังเติบโตได้อีกมาก และต้องไม่ลืมว่ามีตลาดทั่วโลกรองรับ แม้ว่าชาวมุสลิมจะเป็นลูกค้าหลัก แต่อย่าลืมว่าไม่ได้มีเฉพาะชาวมุสลิมเท่านั้น เพราะขึ้นชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานฮาลาล เป็นข้อพิสูจน์คุณภาพและกระบวนการผลิต โอกาสทำตลาดยังมีอีกมหาศาล

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา