GWM ยอดขายปี 2565 โต 213.8% แตะ 11,616 คัน ด้าน MG ยอดขายลดลง 12% เหลือ 27,293 คัน สองค่ายจีนติดสปีดไล่กินแชร์จากแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่น Nissan อาการหนัก ยอดขายลดลง 24.2% เหลือ 22,521 คัน
GWM ยอดขายปี 2565 โตกระฉูด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า GWM หรือ เกรท วอลล์ มอเตอร์ สามารถทำยอดขายรถยนต์ในปี 2565 ได้ 11,616 คัน เพิ่มขึ้น 213.8% จากปี 2564 กินส่วนแบ่ง 1.4% ของยอดขายรถยนต์ทุกแบรนด์ในประเทศไทย โดยเดือน ธ.ค. 2564 ทำยอดขายได้ 1,610 คัน มากกว่า 9.8% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อ้างอิงข้อมูลจาก Toyota
ในปี 2565 GWM จำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด 2 แบรนด์ รวม 3 รุ่น ประกอบด้วยแบรนด์ Haval 2 รุ่นคือ Haval H6 และ Haval Jolion ทั้งคู่เป็นรถยนต์แบบ SUV มีระบบ Plug-in Hybrid และ Hybrid ให้เลือกตามลำดับ กับแบรนด์ Ora รุ่น Ora Good Cat รถยนต์ไฟฟ้าล้วน
หากนับตามจำนวนยอดขายจะแบ่งเป็น HAVAL H6 4,135 คัน, HAVAL JOLION 3,155 คัน และ ORA Good Cat 4,326 คัน ผ่านการมี GWM Store 62 แห่งทั่วประเทศ เพิ่มจากปี 2564 ที่มี 30 แห่ง ส่วนในปี 2566 GWM เตรียมเปิดรถยนต์อีก 4 รุ่น ซึ่งทั้งหมดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารูปแบบต่าง ๆ
MG ยอดขายลดลง 12%
ด้าน MG สามารถทำยอดขายรถยนต์ในปี 2565 ได้ 27,293 คัน ลดลง 12.0% จากปี 2564 กินส่วนแบ่ง 3.2% ของยอดขายรถยนต์ทุกแบรนด์ในประเทศไทย โดยเดือน ธ.ค. 2565 ทำยอดขายได้ 2,757 ลดลง 26.8% ของช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อ้างอิงข้อมูลจาก Toyota
ในปี 2565 MG จำหน่ายรถยนต์ทั้งหมด 8 รุ่น แบ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 3 รุ่น คือ MG4, MG ZS EV และ MG EP กับรถยนต์ Plug-in Hybrid 1 รุ่น คือ MG HS PHEV (มีรุ่นเฉพาะเครื่องยนต์สันดาปให้เลือก) และรถยนต์ Hybrid กับรถยนต์นั่ง 3 รุ่น คือ MG VS HEV, MG ZS และ MG5 กับรถกระบะ 1 รุ่น คือ MG Extender
หากเจาะไปที่รถยนต์ไฟฟ้าล้วน MG สามารถส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าล้วน 3 รุ่นข้างต้นได้ 4,000 คัน ในปี 2565 และเมื่อนับตั้งแต่ปี 2562 ที่ MG เริ่มทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้าล้วน ทางแบรนด์สามารถส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าล้วนได้กว่า 7,000 คัน ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำของรถยนต์ไฟฟ้าล้วน
รถจีนไล่กินแชร์แบรนด์ญี่ปุ่น
จากข้อมูลของ Toyota พบว่า รถยนต์ญี่ปุ่นหลายแบรนด์มียอดขายลดลงในปี 2565 ไม่ว่าจะเป็น Nissan ที่ทำยอดขาย 22,521 คัน ลดลง 24.2% จากปี 2564, Mazda ที่ทำยอดขาย 31,638 คัน ลดลง 10.6%, Suzuki ที่ทำยอดขาย 20,083 คัน ลดลง 10.3% และ Honda ที่ทำยอดขาย 82,842 คัน ลดลง 6.6%
หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ยอดขายแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นลดลงคือการที่แบรนด์จีนเข้ามามีบทบาทในตลาดมากขึ้น โดยเฉพาะกับ MG ที่ทำยอดขายเติบโตอย่างต่อเนื่อง ก่อนมาสะดุดเล็กน้อยในปี 2565 แต่ยังมีส่วนแบ่งชนะ Nissan และ Suzuki รวมถึงไล่จี้ Mazda ในหลักราว 4,000 คัน เช่นเดิม
จากข้อมูลของ Toyota ยังไม่มีรายงานยอดขายของ BYD แบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าล้วนจากจีนที่สร้างปรากฏการณ์ด้วยการมียอดจอง 10,000 คัน นับตั้งแต่เปิดจองต้นเดือน พ.ย. 2565 รวมถึงแบรนด์จีนยังไม่มีการบุกตลาด PPV ที่ปัจจุบันแข่งขันกันดุเดือด และหากเข้ามา Nissan ก็คงได้รับผลกระทบอีกตลาด
สรุป
แบรนด์จีนเพิ่งเข้ามาในตลาดไทยไม่นาน แต่การเข้ามานั้นสร้างผลกระทบให้กับแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าตลาดเดิมไม่น้อย เพราะต่างแย่งส่วนแบ่งจากแบรนด์ญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง แถมยังบุกตลาดด้วยรถยนต์ไฟฟ้าล้วนที่แบรนด์ญี่ปุ่นยังไม่ทำตลาดมากนัก
เรียกว่าถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ โอกาสที่แบรนด์จีนจะกินส่วนแบ่งแบรนด์ญี่ปุ่นจนแข่งขันกับแบรนด์เจ้าตลาดก็มีความเป็นไปได้ ซึ่งปัจจุบัน Toyota และแบรนด์อื่น ๆ เริ่มปล่อยของมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยสเปก และงานออกแบบที่ตอบโจทย์ความคุ้มค่ามากขึ้น เพื่อดึงลูกค้าไว้ไม่ให้ไปซื้อแบรนด์จีน
อ้างอิง // Toyota
อ่านเพิ่มเติม
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา