จากบริษัทพลังงานสู่การลงทุนกัญชง-กัญชา: เจาะลึก GUNKUL กับการลุยตลาดระดับ 3 แสนล้านเหรียญ

เจาะลึก ‘กันกุล’ บริษัทด้านพลังงานที่หันไปลุยตลาดกัญชง-กัญชา ตลาดนี้ใหญ่แค่ไหน? ทำไมถึงตัดสินใจลงทุนในธุรกิจที่แตกต่าง? แล้วกันกุลได้เปรียบในตลาดนี้อย่างไร? ติดตามในบทความ

ว่ากันว่ากัญชง-กัญชาคือว่าที่พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามหาศาลในตลาดโลก โดยล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศปลดล็อกการผลิตช่อดอก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับการปลูกกัญชง-กัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์

แม้แต่บริษัทพลังงานอย่าง GUNKUL ENGINEERING หรือ กันกุล ก็ลงมาเล่นในธุรกิจนี้แบบเต็มที่ ด้วยการตั้งบริษัท G.K. HEMP ดูแลธุรกิจกัญชง-กัญชา ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และต่อยอดถึงปลายน้ำในอนาคต เริ่มตั้งแต่โรงเรือนการปลูกกัญชง-กัญชาขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และโรงสกัดใหญ่ที่สุดในประเทศ บนพื้นที่ภายในวินด์ฟาร์มของตัวเอง โดยหมายมั่นปั้นมือให้ธุรกิจกัญชง-กัญชาเป็นอีกหนึ่งใน New S-Curve ที่ผลักดันมูลค่าให้กับกันกุล

Brand Inside พาไปคุยกับ ดร.พงษ์สกร ดำเนิน Chief Operating Officer, Energy and Cannabis Business จาก บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หาคำตอบกันว่า กัญชง-กัญชาคือโอกาสที่ใหญ่แค่ไหน? กันกุลในฐานะบริษัทพลังงานมีข้อได้เปรียบอย่างไร? บริษัทไปไกลแค่ไหนแล้วในธุรกิจกัญชง-กัญชา?

ดร.พงษ์สกร ดำเนิน Chief Operating Officer, Energy and Cannabis Business จาก บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน)

ทำไมต้องกัญชง-กัญชา?

การปลดล็อกช่อดอกซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน ที่จะถึงนี้ ถือตัวเปลี่ยนเกม ดร.พงษ์สกร เล่าให้ฟังว่า “การปลดล็อกทั้งกิ่ง ก้าน ช่อดอก และเมล็ด ทำให้กัญชง-กัญชามีโอกาสกลายเป็นพืชเศรษฐกิจ เพราะปัจจุบัน Pfizer Johnson และบริษัทยาระดับ Top 10 ของโลกเจ้าอื่น กำลังสนใจในการนำกัญชง-กัญชามาใช้”

ตลาดกัญชง-กัญชาสำหรับการใช้ในทางการแพทย์ปัจจุบันมีมูลค่าที่ 1 พันล้านเหรียญ ซึ่งดร.พงษ์สกร ระบุว่าอาจเติบโตได้ถึงปีละ 100% ไปอีก 6-7 ปี ทำให้ตลาดกัญชง-กัญชาเติบโตเป็น 3 แสนล้านเหรียญได้เลยทีเดียว

แน่นอนว่าเรื่องนี้ก็เป็นโอกาสสำหรับภาคเอกชนในไทยเหมือนกัน ดร.พงษ์สกร ชี้ว่าในปัจจุบันราคารับซื้อช่อดอก Medical Grade โดยองค์การเภสัชกรรมอยู่ที่ 40,000 บาทต่อกิโลกรัม โดยต้นหนึ่งสามารถผลิตดอกออกมาได้ 250 กรัม พูดง่ายๆ ก็คือ 1 ต้นมีมูลค่าเกือบ 1 หมื่นบาท ส่วนเมล็ดก็มีราคารับซื้อที่ 800-1,000 บาท โดย 1 ไร่ สามารถผลิตได้ 100 กิโลกรัมเลยทีเดียว

จากบริษัทพลังงาน สู่การลงทุนกัญชง-กัญชา

ดร.พงษ์สกร พูดถึงเหตุผลที่บริษัทด้านพลังงานกันกุลลงมาเล่นในธุรกิจกัญชง-กัญชา ว่า “กันกุล มีข้อได้เปรียบทางด้านทรัพยากรคือมีต้นทุนด้านพลังงานที่ต่ำกว่าและมีพื้นที่เพาะปลูกจำนวนมาก”

“พืชกัญชงเป็นพืชตามแสง ในช่วงเติบโตต้องการแสงกว่า 18 ชั่วโมง และในช่วงออกดอกก็ต้องการแสงยาวนานกว่า 12 ชั่วโมง ดังนั้น ในช่วงแสงขาดก็จะต้องมีการเปิดแสงทดแทนซึ่งต้องใช้พลังงานเยอะ กันกุลซึ่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจึงได้เปรียบเพราะมีต้นทุนต่ำกว่าไฟฟ้าจากกริดมากกว่า 30%” ดร.พงษ์สกร ขยายความ

“นอกจากนี้ กันกุลยังมีพื้นที่ใต้กังหันผลิตไฟฟ้ากว่า 1 พันไร่ ซึ่งนอกจากกว้างขวางแล้วยังมีความเหมาะสมเพราะมีแหล่งน้ำเพียงพอและพื้นที่มีความแห้ง เย็น และมีอากาศถ่ายเท เนื่องจากใต้กังหันมีลมพัดผ่านตลอดเหมาะกับกัญชง-กัญชา ที่ชอบอากาศประมาณ 20-30 องศา”

ความร่วมมือระหว่างกันกุลกับ นักปลูกกัญชงกัญชา (Grower)

ดร.พงษ์สกรเล่าว่า “จริงๆ แล้วประเทศไทยมี นักปลูกกัญชงกัญชา (Grower) เก่งๆ หลายคน ที่มีเทคนิคในการปลูกแตกต่างกันออกไป แต่กันกุลมีเป้าหมายว่าต้องการผลิตกัญชาระดับ Medical Grade ซึ่งทำให้เราไปมีเคมีตรงกับกลุ่ม Grower ที่เราร่วมมืออยู่ในปัจจุบันที่เน้นการปลูกแบบไม่มีการปนเปื้อนและมีการควบคุมที่ดี เช่น การปลูกแบบ Hydroponics การใช้น้ำ RO (Reverse Osmosis) การปลูกในวัสดุปลูกดินเผา การเพาะในโรงเรือนแบบกึ่งปิด เป็นต้น”

“ที่ผ่านมาเราได้มีความร่วมมือกับกลุ่ม Grower ในการออกแบบโรงเรือนและปั้นทีมเข้ามาช่วยกันปลูก โดยครอปแรกที่ออกมามีผลลัพธ์ที่น่าพอใจจริงๆ เพราะแม้โจทย์จะยากเนื่องจากเริ่มปลูกในฤดูร้อนและปั้นดอกในหน้าฝน แต่เมื่อประเมินเบื้องต้นแล้วกลับทำผลลัพธ์ได้ตามเป้า ทีมนักปลูกทีมนี้จึงไม่ใช่แค่เคมีตรงกันแต่ยังถือว่าเป็นทีมที่เก่งและมีความสามารถด้วย” ดร.พงษ์สกรระบุ

กันกุลลุยไกล ในธุรกิจกัญชง-กัญชา

ที่ผ่านมา กันกุลมีการดำเนินการที่ชัดเจนในธุรกิจสายกัญชง-กัญชา และมีโร้ดแมพในอนาคตที่ทะเยอทะยาน อย่างตอนนี้แผนของธุรกิจต้นน้ำ ถือว่าเป็นการสร้างโรงเรือนเพาะปลูกกัญชง-กัญชาที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ดร.พงษ์สกรเล่าให้ฟังว่า “ในเฟสแรก GK Smart Farming มีโรงงานเพาะปลูกใน Wind Farm ที่นครราชสีมา จำนวน 5 โรงเรือนและ 1 อินดอร์”

ส่วนในเฟสต่อไป ดร.พงษ์สกรชี้ว่า “กำลังเตรียมการโรงเรือนเพิ่มอีก 8 โรงเรือน โดยเป็นแบบอินดอร์ 1 ไร่ครึ่งและโรงเรือน 7 ไร่”

ดร.พงษ์สกรระบุว่า “กันกุลตั้งเป้าผลิตกัญชง-กัญชาในระดับ Medical Grade เพื่อใช้ในทางการแพทย์ การควบคุมการเพาะปลูกจึงสำคัญมากเพราะกัญชาสามารถดูดสารเคมี โลหะหนัก ไปจนถึงยาฆ่าแมลงได้ดี โดยเราใช้โรงเรือนแบบกึ่งปิด (ปิดเกือบหมดแต่ใช้แสงและอากาศจากภายนอกบางช่วงเวลา) ปลูกแบบ Hydroponics ใช้น้ำที่ผ่านกระบวนการกรองแบบ RO สะอาด ไร้สารปนเปื้อน” นอกจากนี้ยังมีโรงเรือนแบบปิด 1 หลัง และอินดอร์อีก 1 หลัง

ทั้งนี้ กันกุลเพิ่งจะได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ทำให้สามารถนำเข้ากัญชาจากสหรัฐฯ มา 3-4 สายพันธุ์ และล่าสุดยังได้นำเข้ากัญชาพันธุ์ Charlotte Angel ซึ่งเป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีชื่อเสียงที่สุดในโลกจากเนเธอร์แลนด์เพื่อนำมาผลิตเพื่อใช้ในทางการแพทย์ในอนาคต

OLYMPUS DIGITAL CAMERA

ธุรกิจกลางน้ำของกันกุลก็ถือได้ว่าไปได้ไกลไม่แพ้กัน เพราะได้เตรียมการสร้างโรงสกัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศขึ้นด้วยเช่นกัน ดร.พงษ์สกรเล่าว่า “ตอนนี้ GK Bio Extraction มีโรงงานสกัดอยู่ที่คลอง 11 จังหวัดปทุมธานี เพื่อผลิตสินค้าในหมวดเครื่องสำอาง เครื่องดื่ม และยาสมุนไพร ซึ่งล่าสุดเพิ่งจะได้รับใบอนุญาตสกัดเพื่อการพาณิชย์ โดยโรงงานมีกำลังผลิตอยู่ที่ 200 กิโลกรัม/วัน (ดอกแห้ง)”

ดร.พงษ์สกรชี้ว่า “นอกจากนี้ เรายังมีโปรเจ็กต์สร้างโรงงานสกัดที่ได้รับมาตรฐาน PIC/S* สำหรับใช้ในการแพทย์แผนปัจจุบัน ที่คาดว่าจะพร้อมดำเนินการภายในปี 2566 ที่จะถึงเป็นเฟสถัดไป ” 

  • *PIC/S (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) คือ มาตรฐานการผลิตยาขั้นสูงซึ่งเป็นมาตรฐานของสหภาพยุโรป (EU-GMP) ที่ใช้กันเป็นกฎหมาย โดยอ้างอิงตาม Guideline ของ WHO2003

ในส่วนของธุรกิจปลายน้ำ GK HEMP ยังมีหน้าที่ลงทุนในธุรกิจอื่น อย่างล่าสุดก็ได้เข้าไปลงทุนใน THCG ผู้ผลิตสินค้าจากกัญชงกัญชา เพื่อต่อยอดธุรกิจให้ครบทั้งต้น กลาง และปลายน้ำ ดังนั้นแล้วจึงถือได้ว่า กันกุลเป็นเจ้าแรกที่ทำธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจรโดยที่มีขนาดธุรกิจใหญ่ขนาดนี้

อนาคตของกันกุล ในตลาดกัญชง-กัญชา

“ไทยมีความได้เปรียบในเรื่องอากาศที่ไม่เย็นจนเกินไปทำให้มีต้นทุนในการควบคุมสภาพแวดล้อมน้อยกว่าเมื่อเทียบกับต่างชาติ เราจึงอยากใช้ความได้เปรียบตรงนี้ในการส่งออกช่อดอกแห้งแบบ Medical Grade ไปยังต่างประเทศหลังจากการปลดล็อกช่อดอกมีผลในวันที่ 9 มิถุนายน ที่จะถึงนี้” ดร.พงษ์สกรระบุ

“นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจในประเทศ เรามีแผนที่จะร่วมมือกับ THCG เปิดตัว Flagship Store และ Wellness Center ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่จะถึง และจะมีการเซ็นสัญญากับบริษัทในตลาดหลักทรัพย์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจปลายน้ำอย่างการออกสินค้าจากกัญชง-กัญชาประเภทเครื่องดื่มหรือเครื่องสำอาง”

สรุป

กันกุลคือบริษัทพลังงานที่มีข้อได้เปรียบทั้งเรื่องพื้นที่และต้นทุนพลังงานสำหรับการปลูกกัญชง-กัญชาซึ่งเป็นตลาดที่มีโอกาสเติบโตสูงมากในอนาคตโดยเฉพาะการปลูกแบบ Medical Grade ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมกันกุลจึงหมายมั่นปั้นมือให้ธุรกิจนี้กลายเป็น New S-Curve ลุยตั้งแต่ธุรกิจต้นน้ำถึงปลายน้ำเพื่อผลักดันมูลค่าให้บริษัทในอนาคตข้างหน้า 

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา