GULF – AIS ร่วมกับ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) นำร่องติดตั้งระบบสื่อสารเครือข่ายไร้สายดิจิทัลและพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ใน 2 พื้นที่ห่างไกล ยกระดับคุณภาพชีวิต ลดความเลื่อมล้ำ สร้างงานสร้างอาชีพให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย
ชุมชนบ้านดอกไม้สด และ ชุมชนมอโก้โพคี ต.แม่อุสุ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็น 2 ชุมชนในพื้นที่ห่างไกลที่ทาง GULF – AIS – สวพส. ได้นำร่องในการติดตั้งสถานีฐานและพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ เป็นพื้นที่ขาดแคลนสาธารณูปโภคด้านพลังงานไฟฟ้าและระบบสื่อสารโทรคมนาคม และยังถือเป็นพื้นที่ที่ห่างไกลจากชุมชนเมือง และความเจริญเป็นอันดับต้นๆ ของพื้นที่กว่า 2,200 แห่งทั่วประเทศที่ทาง สวพส. ได้สำรวจและเป็นพื้นที่ที่ต้องช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS เปิดเผยว่า การทำงานร่วมกับ GULF และ สวพส. ในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ AIS ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาโครงข่ายดิจิทัลขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน เราทลายข้อจำกัดในการขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมการใช้งาน เพื่อสร้างการเข้าถึงดิจิทัลให้คนไทยทุกกลุ่ม โดยใช้เทคโนโลยีและแหล่งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์มาใช้ในการบริหารจัดการระบบสื่อสารเพื่อส่งมอบโครงข่ายดิจิทัลไปยังชุมชนในพื้นที่เป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลสามารถติดต่อสื่อสารได้อย่างสะดวกสบาย เข้าถึงแหล่งความรู้และบริการต่างๆ ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และสาธารณสุข รวมถึงสวัสดิการของภาครัฐ ด้วยโครงข่ายดิจิทัลจากโครงการนี้
โดย AIS และพาร์ทเนอร์จะมีการทำงานและติดตามความเปลี่ยนแปลงในแต่ละชุมชนอย่างต่อเนื่องผ่านการทำ Social Impact Assessment หรือประเมินผลลัพธ์ทางสังคมต่อประโยชน์ของโครงการนี้ที่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในมิติต่างๆ เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนจะได้รับการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพสอดคล้องกับบริบทและภูมิปัญญาของชุมชนนั้นๆ อย่างแท้จริงและยั่งยืน ดังเช่น ชุมชนมอโก้โพคี หนึ่งในหลายชุมชนที่ได้เข้าถึงระบบไฟฟ้าโซล่าร์เซลล์และระบบสื่อสารดิจิทัลของโครงการนี้ จะมีโอกาสในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านการผลิตเมล็ดกาแฟและการพัฒนาช่องทางการตลาดให้เป็นที่รู้จักได้มากขึ้น ตามเป้าหมายของผู้นำชุมชนที่ได้รวมกลุ่มคนในชุมชนเปลี่ยนจากการปลูกไร่ข้าวโพดมาปลูกเมล็ดกาแฟ โดยหวังให้เมล็ดกาแฟของชุมชนเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดที่กว้างขวางขึ้น อันจะสร้างรายได้สู่คนในชุมชนได้อย่างมั่นคง
สำหรับโครงสร้างพื้นฐานทั้งสถานีฐานสื่อสารและระบบพลังงานไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ใช้งบลงทุนประมาณ 3-5 ล้านบาทแล้วแต่พื้นที่ ประกอบไปด้วยสถานีฐานเครือข่าย 4G, ระบบโซล่าร์เซลล์ และระบบแบตเตอร์รี่สำรอง (ไม่รวมอุปกรณ์ที่ใช้ส่งสัญญาณระหว่างทาง) ภายในสิ้นปีนี้จะขยายไปยังพื้นที่ห่างไกลอีก 5 แห่ง และอีกสามปีนี้ต่อจากนี้ จะเพิ่มเป็น 50-60 แห่งทั่วประเทศ
ธีรตีพิศา เตวิชพศุตม์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านปฏิบัติการ GULF กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา GULF ได้นำร่องติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ทุรกันดารใน 3 พื้นที่ และในปีนี้จึงได้ร่วมมือกับ AIS ในการติดตั้งชุดอุปกรณ์ระบบโซลาร์เซลล์พร้อมระบบสัญญาณสื่อสาร ใน 3 พื้นที่ ได้แก่ ดอยมอโก้โพคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก บ้านแม่ตอละ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน บ้านผีปานเหนือ อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่
“สำหรับพื้นที่ดอยมอโก้โพคีนั้น ที่ผ่านมาเป็นพื้นที่ทำเกษตรกรรมปลูกข้าวโพดเป็นหลัก ซึ่งทำลายพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก และยังเผาในฤดูเก็บเกี่ยว ก่อให้เกิดปัญหา PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทาง สวพส. ซึ่งเป็นหน่วยงานภาครัฐ ได้เข้าไปพบและเจรจาผู้นำชุมชน ให้ชาวบ้านเลิกปลูกข้าวโพด และเปลี่ยนอาชีพสู่การเพาะปลูกกาแฟ ยังเป็นการฟื้นฟูผืนป่า และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนพื้นที่ชุมชน และ GULF ได้เข้าไปสร้างโรงเรือนสำหรับการแปรรูปเมล็ดกาแฟและติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์ เพื่อให้กระบวนการล้างทำความสะอาด คัดแยก และสีกาแฟ มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ชาวบ้านมีความเชื่อมั่นในการปลูกกาแฟมากขึ้น เพิ่มโอกาสที่จะสร้างรายได้แก่ชุมชน และในอนาคตชุมชนจะพัฒนาไปสู่การแปรรูปกาแฟด้วยตนเอง นับว่าเป็นช่องทางการสร้างอาชีพและการรักษาป่าควบคู่กันอย่างยั่งยืน”
สมชัยกล่าวในช่วงท้ายว่า “เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า โครงการ Green Energy Green Network for THAIs พลังงานสะอาดเชื่อมเครือข่ายเพื่อคนไทย จะเป็นต้นแบบสำคัญของภาคธุรกิจไทยในการนำศักยภาพขององค์กรมาสร้างประโยชน์ที่จะช่วยดูแลด้านสิทธิมนุษยชน แก้ปัญหาทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงทั้งองค์ความรู้ใหม่ๆ และบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่จะนำมาสู่การเติบโตร่วมกันของผู้คน ชุมชน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน”
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา