Group M เผยข้อมูล ผู้บริโภคทั่วโลกใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากกว่าทีวีแล้ว!

ด้วยอิทธิพลของสื่อดิจิทัลที่เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ในตอนนี้ผู้บริโภคทั่วโลกใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากกว่าการดูทีวีแล้ว พบว่าภาพรวมมีการใช้เวลากับสื่อเฉลี่ย 9.73 ชั่วโมงต่อวัน ใช้เวลากับสื่อออนไลน์ 38%

ภาพจาห Pixabay

Group M ได้เปิดเผยรายงานในชื่อ “State of Digital” เป็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการบริโภคสื่อของผู้บริโภค และแนวโน้มการลงทุนโฆษณาทั่วโลก เน้นไปที่อิทธิพลของเทคโนโลยี และดิจิทัลที่มีต่อผู้บริโภคและบริษัทโฆษณา

เมื่อดูข้อมูลเวลาที่ผู้บริโภคทั่วโลกใช้ไปกับสื่อแต่ละรูปแบบ และได้คำนวณเวลาเฉลี่ยที่ผู้บริโภคใช้ไปกับสื่อโดยรวม โดยในปี 2561 พบว่าผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้เวลากับสื่อโดยเฉลี่ย 9.73 ชั่วโมง ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 9.68 ชั่วโมงในปี 2560 ทั้งนี้เป็นตัวเลขที่มีการวิเคราะห์จากการที่แบรนด์ลงทุนในสื่อ

นอกจากนี้ยังคาดด้วยว่าผู้บริโภคจะใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากกว่าโทรทัศน์เป็นครั้งแรกทั่วโลกในปี 2561 โดยสื่อออนไลน์จะมีส่วนแบ่ง 38%, ทีวี 37% ขณะที่สื่อสิ่งพิมพ์และสื่อวิทยุมีส่วนแบ่งเท่า ๆ กัน

การใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากขึ้นนั้น ได้รับอิทธิพลจากตลาด e-Commerce โดยข้อมูลในปี 2560 จาก 35 ประเทศนั้น เผยให้เห็นว่าการซื้อขายผ่าน e-Commerce มีมูลค่ารวม 2.105 ล้านล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 17% จากปีก่อน ซึ่งในปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโต 15% หรือมีมูลค่า 2.442 ล้านล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นสัดส่วน 10% ของธุรกิจค้าปลีกทั้งหมด

สื่อดิสเพลย์ออนไลน์ยังได้รับความนิยมสูงอยู่

ในรายงานนี้ยังมีข้อมูลแนวโน้มการลงโฆษณาผ่านโปรแกรมการจัดการอัตโนมัติ (programmatic automated) พบว่าโฆษณาแบบออนไลน์ดิสเพลย์ยังคงได้รับความนิยมมากที่สุด มีสัดส่วน 44% ในปี 2560 เทียบกับ 36% ในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 47% ในปี 2561

ขณะที่การลงโฆษณาแบบวิดีโอออนไลน์ ยังมีสัดส่วนน้อยกว่าที่ 22% ในปี 2560 เทียบกับ 17% ในปี 2559 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 24% ในปีนี้

ประเด็นร้อนในอุตสาหกรรมโฆษณา

บล็อกเชน: จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนที่แสดงให้เห็นว่ามีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้อย่างเห็นผลในทางปฏิบัติ อดัม สมิธ ตำแหน่งFutures Director ของกรุ๊ปเอ็ม มองว่า “เสน่ห์ที่สำคัญของบล็อกเชนก็คือข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ซึ่งทำให้ทุกคนรับรู้ทุกเรื่อง และนั่นหมายความถึงประสิทธิภาพที่มากขึ้น หรือการโกงที่ลดน้อยลง อย่างไรก็ดี จุดอ่อนของเทคโนโลยีนี้ก็คือ จะต้องทำให้คอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่เข้าร่วมในระบบนี้มีการอัพเดทข้อมูลทุกเรื่องตลอดเวลา ซึ่งอาจไม่ทันการในโลกแบบเรียลไทม์”

AI : การใช้ AI ในวงการโฆษณา กลายเป็นเครื่องมือการตลาดที่ทันสมัยที่สุดในปัจจุบันก็คือ อัลกอริทึมขั้นสูง ซึ่งช่วยให้แบรนด์ต่างๆ ทำการวิเคราะห์ว่าตำแหน่งการวางสื่อหรืองานครีเอทีฟใดให้ผลดีที่สุดที่ขนาดและความเร็วหนึ่ง ในบรรดาแอปพลิเคชั่นมากมายในอนาคต คาดหวังว่า AI จะเข้ามาช่วยต่อสู้กับการโกงโฆษณา ซึ่งสามารถหลบเลี่ยงวิธีการแก้ปัญหาที่อิงตามกฎแบบเดิมๆ ได้

ดาต้า : ในส่วนของการนำข้อมูลของนักการตลาดมาใช้กับการลงทุนในสื่อนั้น โดยในปัจจุบันลูกค้ารับรู้มากขึ้นว่าข้อมูลที่ตนมีอยู่หรือได้มานั้นมีคุณค่าและมีมูลค่า สำหรับในสหรัฐลูกค้าส่วนใหญ่อาศัยข้อมูลของ first party เพื่อนำไปใช้กับสื่อดิจิทัล และบ่อยครั้งที่พวกเขาได้ลงทุนในระบบจัดการข้อมูล (data management platform หรือ DMP) ขององค์กร แต่ตลาดอื่น ๆ กลับยังตามไม่ทันด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันออกไป นักการตลาดที่ใช้ข้อมูลของ first party บ่อยที่สุดนั้น คือกลุ่มที่ให้ความสำคัญมุ่งเน้นไปที่ผลงาน ขับเคลื่อนโดยอี-คอมเมิร์ซ และมักจะอยู่ในวงการรถยนต์ การเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมและบริการ ธนาคาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีระบบการขายที่มีการจัดการดี

การแข่งขันด้าน VDO ออนไลน์ : เนื่องจากการวัดผู้ชมวิดีโอแบบพรีเมียมในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ไม่สามารถทำได้เทียบเท่ากันในทุกตลาด การรับชมทางทีวีคิดเป็นสัดส่วนราว 3 ใน 4 ของชั่วโมงการรับชมวิดีโอทั้งหมด ขณะที่การชมวิดีโอแบบออนไลน์มีสัดส่วนไม่ถึง 1 ใน 3 (29%)

การผลิตโฆษณาเอง (in-housing) :  เรื่องนี้ถูกพูดถึงมากกว่าทำจริง และการผลิตโฆษณาในหลายประเทศออกมาในรูปแบบของการผสมผสาน คือ ลูกค้าวางแผนกลยุทธ์เอง แต่ปล่อยให้การจัดการเป็นหน้าที่ของเอเจนซี การผลิตโฆษณาเองโดยส่วนใหญ่แล้วนั้น จะเกิดขึ้นกับลูกค้ารายใหญ่มาก โดยใช้ฟังก์ชันโปรแกรมอัตโนมัติที่ง่ายที่สุด

การปรับขึ้นอัตราค่าโฆษณา: ปัจจัยสองประการที่ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งได้แก่ ความต้องการคอนเทนต์ระดับพรีเมียมที่ปลอดภัยกับแบรนด์ และความไร้ประสิทธิภาพในการวัด OTT และแพลตฟอร์มแบบเคลื่อนที่ ทั้งนี้ การขาด inventory ที่สามารถวัดได้ทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้น

การผูกขาดโดยผู้เล่นสองราย (duopoly): การพิจารณาภาพรวมดิจิทัลทั่วโลกจะสมบูรณ์ไม่ได้เลย หากไม่ยอมรับว่า Google และ Facebook ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญ การสืบค้นข้อมูลใน Google มีความสำคัญสำหรับลูกค้า และ YouTube ก็มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับวิดีโอแบบ “พรีเมียม” ขณะที่ความสำเร็จของ Facebook นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการโฆษณาเจาะกลุ่มวัยรุ่นคนหนุ่มสาวผ่านทางอินสตราแกรม

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา

mm
Ratinun Chaiwiboolvech | Content Editor | Marketing | Retail | Media | Liverpool ratinun.tk@gmail.com