Grocery Delivery ในยุโรปทรุดหนัก มีล่มสลาย 7-8 ราย บ้างถูกซื้อกิจการ เหตุทุกที่ผ่อนคลายโควิด-19

บริการ Grocery Delivery หรือการส่งสินค้าอุปโภคบริโภคให้ลูกค้า เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เพราะทุกคนต้องกักตัวอยู่บ้าน และไม่สามารถออกไปซื้อสินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ตได้เหมือนเดิม

ในกลุ่มประเทศยุโรปมีผู้ให้บริการ Grocery Delivery หน้าใหม่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งขยายทั้งเส้นทาง และลดเวลาจัดส่ง รวมถึงเพิ่ม Dark Store หรือหน้าร้านเพื่อจำหน่ายสินค้าทางออนไลน์โดยเฉพาะ

แต่ช่วงเวลาอันหอมหวานกำลังจะหมดไป เนื่องจากผู้บริโภคที่นั่นแทบจะกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ และไม่จำเป็นต้องใช้บริการดังกล่าวอีกต่อไป จน Grocery Delivery หลายรายที่นั่นกำลังจะล่มสลาย

delivery

กลับสู่ความเป็นจริง เพราะไม่มีตัวแปรพิเศษ

การเติบโตของธุรกิจ Grocery Delivery ในกลุ่มประเทศยุโรปที่มีความแตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ เพราะที่นั่นมีผู้เล่นหน้าใหม่จำนวนมากที่เกิดขึ้น รวมถึงกลุ่มผู้เล่นในธุรกิจ Food Delivery เดิมที่เพิ่มบริการดังกล่าวเข้ามาด้วย จนทั้งหมดนี้ครอบคลุมทั้ง Quick Delivery ที่ส่งภายใน 15 นาที และร่วมมือกับค้าปลีกดั้งเดิมเพื่อส่งสินค้าให้

แต่เมื่อโรคโควิด-19 เริ่มลดการระบาด และผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติ ทำให้แผนเดิมที่ Grocery Delivery วางแผนขยายบริการ และ Dark Store กลายเป็นลดเม็ดเงินการลงทุน รวมถึงทยอยปิดกิจการ หรือหันไปทำธุรกิจอื่น ๆ แทน เนื่องจากโรคโควิด-19 หรือตัวเร่งพิเศษในการใช้บริการไม่มีอีกแล้ว

Monique Pollard นักวิเคราะห์จาก Citi คาดการณ์ว่าจะมีผู้เล่น 7-8 รายในตลาดที่ต้องหาคนมาซื้อกิจการต่อ หรือปิดกิจการในช่วงปีนี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ และจะทยอยเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการ Grocery Delivery หลากหลายระดับ

เริ่มปิด และขายกิจการไปแล้วจำนวนหนึ่ง

ไม่ต้องรอให้ถึงสิ้นปี เพราะปัจจุบันมีผู้ให้บริการ Grocery Delivery ในยุโรปเริ่มลดเม็ดเงินการลงทุน และพนักงาน เช่น Getir ของตุรเคีย (ตุรกีเดิม) ที่เตรียมปลดพนักงาน 14%, Gorillas จากเยอรมนี ที่จะปลดพนักงาน 300 คน และ Zapp จากสหราชอาณาจักร ส่วน Flink ที่ให้บริการในเยอรมนีอยู่ระหว่างชะลอการจ้างงาน

ที่หนักคือ Jiffy จากสหราชอาณาจักรได้แจ้งเมื่อเดือน พ.ค. 2022 ว่า จะหยุดให้บริการ Grocery Delivery และเตรียมให้ฐานลูกค้าในระบบแก่คู่แข่ง เพราะเศรษฐกิจ และปัจจัยอื่น ๆ ไม่ส่งผลดีในการดำเนินธุรกิจ และโอกาสในการทำธุรกิจเหลือน้อยลงกว่าเดิม

ส่วนการซื้อกิจการที่เกิดในปี 2022 ประกอบด้วย DoorDash ซื้อกิจการ Wolt ที่ให้บริการ Meal Delivery และ Quick Commerce ด้วยเม็ดเงิน 3,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ, Delivery Hero จากเยอรมนี ซื้อกิจการ Glovo จากสเปนด้วยมูลค่า 2,600 ล้านดอลลาร์ และ Flink จากเยอรมนี ซื้อกิจการ Cajoo จากฝรั่งเศสโดยไม่เผยมูลค่า

ทุกอย่างมันทับซ้อนกันจนไม่ควรแยกออกมา

Monique เสริมว่า สถานการณ์ในตอนนี้คือ Food Delivery, Grocery Delivery และ Quick Commerce เริ่มทับซ้อนกัน โดยเฉพาะผู้ให้บริการ Food Delivery เช่น Deliveroo และ Just Eat ที่เริ่มร่วมมือกับค้าปลีกต่าง ๆ เพื่อให้บริการส่งสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงผู้เล่นเหล่านี้เริ่มเดินหน้าขยาย Dark Store ของตัวเองเช่นกัน

สำหรับสถานการณ์ในประเทศไทย Brand Inside พบว่า ผู้ให้บริการ Food Delivery ทั้ง LINE MAN, Grab และ Food Panda ต่างลงมาลุยตลาด Grocery Delivery ผ่านใช้ความแข็งแกร่งเรื่องจำนวน Rider และร่วมมือกับค้าปลีก รวมถึงเปิด Dark Store ของตัวเองเพื่อทำให้การส่งเร็ว และสามารถทำโปรโมชันต่าง ๆ ด้วยตัวเองได้

ในทางกลับกันผู้ให้บริการ Grocery Delivery ดั้งเดิม เช่น Happy Fresh มีการพาร์ตเนอร์กับผู้ให้บริการ Food Delivery ต่าง ๆ ส่วนค้าปลีก และซูเปอร์มาร์เก็ตดั้งเดิมมีการร่วมมือกับ Food Delivery ควบคู่ไปกับบริการ Online Grocery ของตัวเอง

สรุป

งานนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับองค์กรที่เน้นแค่ Grocery Delivery หรือ Quick Commerce เพียงอย่างเดียว เพราะเหตุผลหลักคือ ทุกคนออกไปใช้ชีวิตอย่างปกติได้ และคงไม่บ่อยนักที่ต้องรีบสั่งซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจริง ๆ ดังนั้นการควบรวมเพื่อลดการทับซ้อนในอุตสาหกรรมนี้ จึงมีแนวโน้มจะต้องเกิดมากขึ้นในอนาคต

อ้างอิง // Reuters, ภาพจาก Getir

*หมายเหตุ: Brand Inside เป็นบริษัทในเครือของ LINE MAN Wongnai

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา