ช่วงที่ Chevrolet กำลังเลหลังรถยนต์ในสต๊อก ก็น่าจับตาว่า Great Wall Motors (GWM) ที่ซื้อโรงงานผลิตของกลุ่ม GM ในประเทศไทยไปจะทำตลาดในไทยหรือไม่ และถ้าทำจริง มันยังมีช่องว่างในตลาดแค่ไหน
ได้แต่โรงงาน ส่วนแบรนด์ต้องปั้นใหม่
ตอนนี้ GWM ได้เข้าซื้อโรงงานของกลุ่ม GM ในประเทศไทยที่จังหวัดระยองแล้ว โดยก่อนหน้านี้โรงงานดังกล่าวเป็นฐานผลิตสำคัญของกลุ่มรถกระบะแบบต่างๆ ทั้งกระบะเชิงพาณิชย์ และ SUV ที่มีพื้นฐานจากรถกระบะ เพื่อจำหน่ายในประเทศไทย และส่งออกไปจำหน่ายที่ออสเตรเลีย และประเทศในกลุ่มเอเชียเช่นกัน
ถ้าว่ากันจริงๆ GWM จะได้แค่โรงงาน GM ที่ใช้ผลิต Chevrolet และรถยนต์แบรนด์อื่นๆ เพื่อส่งออก หากต้องการทำตลาดในประเทศไทยจริงๆ ก็ต้องมาสร้างแบรนด์กันตั้งแต่เริ่มต้น หรือตั้งแต่การเจรจากับผู้สนใจทำธุรกิจดีลเลอร์รถยนต์, การทำโฆษณาสื่อสารไปยังผู้บริโภค รวมถึงการวางแผนว่าจะนำรถยนต์รุ่นใดมาทำตลาดบ้าง
เมื่อปี 2562 การจำหน่ายรถยนต์ใหม่ในไทยแต่ละปีอยู่ราว 1 ล้านคัน แถมในปี 2563 ก็มีการคาดการณ์ว่าภาพรวมการจำหน่ายอาจมีตัวเลขลดลง เพราะด้วยปัญหาเศรษฐกิจ และปัจจัยภายนอกที่เหนือการควบคุมอื่นๆ ดังนั้นแบรนด์รถยนต์ใหม่จะมาทำตลาดในช่วงนี้ก็คงไม่ใช่เรื่องง่าย
ตัวเลข Chevrolet ที่มีแชร์แค่ 15,000 คัน
ขณะเดียวกันหาก GWM จะเข้ามาแทน Chevrolet จริงๆ มันอาจจะค่อนข้างยาก เพราะปี 2562 ทาง Chevrolet ก็มียอดขายราว 15,000 คัน หรือแค่ 1.5% ของตลาด หากต้องการมากกว่านั้นก็ต้องพยายามสร้างความแตกต่างในตลาดไทยที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัว และไม่เหมือนประเทศจีนอย่างที่ GMW ถนัด
สำหรับ GWM ทำตลาดคล้ายคลีงกับกลุ่ม GM ผ่านการไม่ได้ทำตลาดรถยนต์ในชื่อของตัวเอง แต่จะสร้างแบรนด์ย่อยออกมา ประกอบด้วย HAVAL, WEY, ORA และ GWM Pickup โดย HAVAL ทำตลาด SUV, WEY ทำตลาด SUV หรู, ORA ทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า และ GMW Pickup ทำตลาดรถกระบะตามชื่อ
เมื่อเป็นอย่างนี้จึงคาดเดาได้ว่า กลุ่มรถยนต์ที่ GWM อาจนำเข้ามาทำตลาดจะเป็นกลุ่ม SUV และกระบะ ซึ่งกลุ่มแรกนั้นการแข่งขันก็ประมาณหนึ่ง ผ่านผู้เล่นแบรนด์ญี่ปุ่นที่ขับเขี้ยวกันอย่างสูสี ส่วนตลาดรถกระบะนั้น ถ้าพูดกันตรงๆ ก็คือยาก ผ่านตลาดที่มี 2 แบรนด์หลักครองอยู่ แถมแบรนด์จีนอย่าง MG ที่เพิ่งเข้ามาก็แทบไม่ได้ลืมตาอ้าปาก
รถยนต์ไฟฟ้าอาจเป็นโอกาสใหม่ของ GWM
ในทางกลับกันรถยนต์ไฟฟ้าก็อาจเป็นโอกาสใหม่สำหรับ GWM ในตลาดไทย เพราะปัจจุบันรัฐไทยก็สนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น เช่นสิทธิประโยชน์ทางภาษีในรูปแบบต่างๆ แต่มันก็มีการสนับสนุนอีกตัวที่ระบุว่า การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าล้วนจากประเทศจีนนั้นเสียภาษีนำเข้า 0% มันก็อาจไม่ใช่เรื่องหลักที่ GWM ต้องมาตั้งโรงงานที่ไทยก็ได้
ยิ่ง GWM เป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ 3 อันดับแรกของจีน ผ่านยอดขายทั่วโลกกว่า 1 ล้านคัน และมีการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้า ถึงขนาด ORA ถูกเรียกว่าแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่มีราคาถูกที่สุดรุ่นหนึ่งในจีน มันก็น่าจะง่ายกว่าที่จะใช้วิธีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากจีนมาทั้งคัน แทนที่จะผลิตที่ประเทศไทย
อย่างไรก็ตามการเข้ามาของ GWM ในประเทศไทยนั้นก็มีจุดประสงค์เพื่อทำตลาดในระดับภูมิภาคเอเชีย-โอเชียเนียมากกว่าเดิม เพราะปัจจุบันมีสำนักงานประจำภูมิภาคนี้ที่ประเทศออสเตรเลีย บริหารตลาดออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ และการซื้อโรงงานผลิตของ GM ในไทย ก็เป็นการเข้ามาทดแทนตลาดเอเชีย-โอเชียเนียของกลุ่ม GM โดยอัตโนมัติ
พวงมาลัยขวา กับโอกาสครองตลาดเบ็ดเสร็จ
ก่อนหน้านี้ GWM ได้เจรจากับกลุ่ม GM เพื่อซื้อโรงงานผลิตรถยนต์ที่อินเดีย โดยข้อตกลงนี้จะเสร็จสิ้นในช่วงต้นปี 2563 ดังนั้นการเข้ามาซื้อโรงงานของกลุ่ม GM ในประเทศไทยก็กลายเป็นว่า GWM เตรียมเข้ามาครองตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวาแบบเบ็ดเสร็จ เพราะโรงงานผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาหลักๆ ก็มาจากฝั่งเอเชียใต้ทั้งนั้น
แม้ว่าประเทศที่ใช้รถยนต์พวงมาลัยขวาจะคิดเป็นเพียง 27% ของประเทศทั่วโลก แต่หากนับเป็นจำนวนรถยนต์แล้วล่ะก็มันยิ่งน้อยลงไปอีก ดังนั้นหากต้องการบุกตลาดนี้ ก็ต้องครองทั้งตลาดนี้เอาไว้ทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศที่มีประชากรเยอะ และยังใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะหลักอย่างอินเดีย, อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย
เมื่อ GWM เดินเกมนี้เต็มที่ ก็น่าจับตามองว่า GWM จะใช้กลยุทธ์อะไรในการครองตลาดรถยนต์พวงมาลัยขวา ยิ่งในประเทศจีน GWM เป็นผู้ผลิต 3 อันดับแรกของตลาดอยู่แล้ว การมีฐานการผลิตใหญ่ ตอบโจทย์ตลาดได้จำนวนมาก ต้นทุนการผลิตก็ถูกลงโดยอัตโนมัติ และ GWM ก็อาจกลายเป็นกลุ่มผู้ผลิตรถยนต์ที่รู้จักไปทั่วโลกก็เป็นได้
สรุป
ถือเป็นการเดินเกมอย่างมีระบบของ GWM เพราะก่อนหน้านี้ก็มีการสร้างอาณาจักรผลิตรถยนต์พวงมาลัยซ้ายในกลุ่มยุโรปผ่านการตั้งโรงงานหลายแห่งในจีน และรัสเซีย ยิ่ง GWM มาตั้งโรงงานในอินเดีย กับไทย หรือฐานการผลิตรถยนต์พวงมาลัยขวาอันดับต้นๆ ของโลก มันก็ยิ่งสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับ GWM ไม่น้อย
ส่วนเรื่องการทำตลาด ผู้เขียนเชื่อว่า GWM น่าจะมีประสบการณ์ในการสร้างแบรนด์ไม่มากก็น้อย เพราะสามารถปั้นแบรนด์ให้ติดตลาดจีน และรัสเซียได้แล้ว ดังนั้นหากการออกแบบที่มีระดับ และการทำราคาออกมาได้จูงใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเปิดใจผู้บริโภคให้มาซื้อรถยนต์ของแบรนด์ Great Wall Motors
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา