ชุดที่นักกีฬาไทยใส่ลุยศึกโอลิมปิก 2020 ถูกพูดถึงในวงกว้าง ทั้งการออกแบบสุดเชย และการทำเสื้อตัวโคร่งเหมือนชุดนอน ลองมาดูกันว่า Grand Sport ใช้งบประมาณเท่าไรถึงกลายเป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬาลุยศึกโอลิมปิกครั้งนี้
ผูกพันกันอย่างยาวนาน
Grand Sport คือหนึ่งในผู้ผลิตชุด และอุปกรณ์กีฬาชั้นนำของไทย ก่อตั้งเมื่อปี 1961 และมีสายสัมพันธ์กับ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มาอย่างยาวนาน ผ่านการเป็นผู้สนับสนุนชุดกีฬาให้กับนักกีฬาทีมชาติลุยศึกโอลิมปิกถึง 4 สมัยซ้อน ปาดหน้า FBT ที่สนับสนุนครั้งล่าสุดต้องย้อนไปปี 2004
หากเจาะไปที่รายละเอียดการทำสัญญาสนับสนุนระหว่าง Grand Sport กับ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ จะพบว่า ในการเป็นผู้สนับสนุนครั้งที่ 3 ระหว่างปี 2013-2017 Grand Sport จะสนับสนุนชุดกีฬาประกอบด้วยยูนิฟอร์ม, ชุดแข่งขัน และชุดฝึกซ้อม มูลค่า 140 ล้านบาท พร้อมเงินสดรวม 6 ล้านบาท รวม 146 ล้านบาท
สัญญาฉบับดังกล่าวยังระบุว่า ในการแข่งขันกีฬานานาชาติ 11 รายการ เช่นซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิก ที่เกิดขึ้นระหว่างสัญญา นักกีฬาจะสวมใส่ชุดกีฬาของ Grand Sport ทั้งหมด และปี 2017 Grand Sport ประกาศเป็นผู้สนับสนุน คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เป็นครั้งที่ 4 ตั้งแต่ปี 2017-2020
Grand Sport ลงทุนแค่ 181 ล้านบาท
สำหรับสัญญาฉบับล่าสุด Grand Sport ต่อสัญญากับ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ คิดเป็นมูลค่าสนับสนุน 181 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสดปีละ 1.5 ล้านบาท และที่เหลือเป็นมูลค่าชุดกีฬา เพื่อใช้สวมแข่งขัน และฝึกซ้อมในกีฬาระดับนานาชาติ 10 รายการ ซึ่งโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียวคือหนึ่งในนั้น
ถือว่าคุ้มค่าพอสมควร เพราะคนไทย 41 คนที่ลงแข่งใน โอลิมปิก 2020 ทุกชนิดกีฬาต่างสวมใส่ชุดกีฬาของ Grand Sport ทั้งหมด ช่วยโปรโมทแบรนด์ Grand Sport ไปในระดับโลกได้ด้วยเงิน 181 ล้านบาท และหากนักกีฬาประสบความสำเร็จ ภาพนักกีฬาสวมใส่ชุด Grand Sport ก็จะติดตาอยู่ตลอดไป
ต่างกับประเทศอื่นที่ใช้ชุดแข่งของแบรนด์หลากหลาย เช่นนักกีฬาปิงปองของญี่ปุ่นสวมใส่ชุดกีฬาแบรนด์ Victas ส่วนนักกีฬาวอลเลย์บอลของญี่ปุ่นสวมใส่ชุดกีฬาแบรนด์ Asics ซึ่งทั้งคู่เป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ส่วนตัวผู้เขียนมองว่า คณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่นอาจให้สิทธิ์สมาคมกีฬาเลือกแบรนด์ชุดแข่งเองได้ ไม่ผูกขาดกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง
คุยกันลับๆ ตื้นลึกหนาบางไม่มีใครรู้
ในวงการกีฬาของประเทศไทย การคว้าสิทธิ์สนับสนุนชุดกีฬามักมีเรื่องน่าประหลาดใจอยู่เสมอ เช่นกรณี Warrix ที่คว้าสิทธิ์ชุดแข่งนักฟุตบอลทีมชาติไทยจากสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ระหว่างปี 2017-2020 ด้วยวงเงินกว่า 400 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินสด 40 ล้านบาท/ปี และผลิตภัณฑ์รวมมูลค่า 60 ล้านบาท/ปี
เรียกว่ามากกว่าการสนับสนุนชุดแข่งให้กับ คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ เกือบเท่าตัว ซึ่งล่าสุด Warrix คว้าสิทธิดังกล่าวอีก 8 ปี หรือ 2021-2028 แต่ยังไม่มีการเปิดเผยตัวเลขสัญญาว่ามีมูลค่าเท่าไร น่าจะสนใจว่าทำไม FBT หรือ Grand Sport ไม่สามารถคว้าสิทธิ์นี้ได้ ทั้ง ๆ ที่มีสายสัมพันธ์กับสมาคมดังกล่าวมายาวนาน
ส่วนใครจะเป็นผู้คว้าสิทธิ์สนับสนุนชุดกีฬาจาก คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ หลังสัญญาฉบับล่าสุดจบลงก็คงต้องติดตามกันต่อไป แม้ตามกำหนดเวลา สัญญาจะจบแล้ว แต่ด้วย COVID-19 จึงยังไม่มีข่าวการต่อสัญญาใด ๆ ออกมา
แต่ที่แน่ ๆ อยากให้รู้ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คือประธานของคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ
สรุป
การสนับสนุน 181 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าที่ไม่มากหากเทียบกับความคุ้มค่าในการโปรโมทแบรนด์ไปทั่วโลกผ่านการแข่งขันกีฬา แต่ต้องว่าเม็ดเงินแค่นี้คุ้มค่ากับนักกีฬาในฐานะตัวแทนประเทศหรือไม่ เพราะอย่างที่เห็นกันว่า การออกแบบของ Grand Sport นั้นถูกพูดถึงในวงกว้างขนาดไหน
ข้อมูลเพิ่มเติม // บริษัท แกรนด์สปอร์ต กรุ๊ป จำกัด มีรายได้ปี 2020 อยู่ที่ 762 ล้านบาท ลดลง 31.9% กำไร 23 ล้านบาท ลดลง 21.04%
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา