ทางการสิงคโปร์ปรับ Grab และ Uber รวม 300 ล้านบาท ฐานควบรวมกิจการแล้วทำให้การแข่งขันลดลง

หลัง Grab เข้าซื้อกิจการของ Uber ในสิงคโปร์เมื่อต้นปี 2561 คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า และคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ (CCCS) ก็ตรวจสอบดีลดังกล่าวมาตลอด และล่าสุดผลก็ออกมาแล้วว่าทั้งคู่กระทำผิด

Grab Application // ภาพจาก Shutterstock

300 ล้านบาท แค่เงินจิ๊บๆ ของทั้งสองบริษัท

ดีลที่ Grab ซื้อกิจการของ Uber ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสนั่นวงการบริการร่วมเดินทาง หรือ Ride Hailing เป็นอย่างมาก เพราะเท่ากับในภูมิภาคนี้ Grab แทบจะผูกขาดการแข่งขัน ผ่านการไม่มีคู่แข่งระดับเดียวกันให้สู้เลย แต่เรื่องนี้ CCCS ก็ยอมไม่ได้ เพราะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค รวมถึงธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องกับบริการดังกล่าวทันที

“เราเริ่มตรวจสอบตั้งแต่วันแรกที่ดีลนี้เกิดขึ้น และพบว่ามันทำให้การแข่งขันลดลงจริงๆ แถมยังเป็นเรื่องที่ห้ามทำในประเทศ ซึ่งทั้งคู่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อทำธุรกิจให้เติบโตได้ ไม่ใช่มาควบรวมกิจการเพื่อทำให้การแข่งขันมันลดลง” Toh Han Li ผู้บริหารระดับสูงของ CCCS กล่าว

Uber และ Grab

สำหรับการกระทำผิดครั้งนี้ CCCS ได้สั่งปรับทั้งคู่เป็นจำนวนเงิน 9.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 300 ล้านบาท) แบ่งเป็นปรับ Uber จำนวน 4.8 ล้านดอลลาร์ (ราว 155 ล้านบาท) และ 4.7 ล้านดอลลาร์ (ราว 150 ล้านบาท) กับ Grab ซึ่งถือเป็นจำนวนที่ไม่เยอะเมื่อเทียบกับมูลค่ากิจการของทั้งสองบริษัท

ขณะเดียวกัน CCCS ยังอ้างว่า ได้รับแจ้งจากผู้ใช้บริการ รวมถึงผู้ขับในระบบ Grab เกี่ยวกับการปรับขึ้นราคาราว 10-15% และการได้ส่วนแบ่งในการขับขี่ที่ไม่เหมือนเดิมหลังการควบรวมกิจการกับ Uber ซึ่งความเป็นจริง Grab ก็มีการปรับลดการให้ส่วนลดกับผู้ใช้บริการ รวมถึงนโยบายการสะสมคะแนนเพื่อนำไปแลกสิทธิประโยชน์ต่างๆ ด้วย

รถยนต์ไร้คนขับของ Uber

ทั้งนี้เมื่ออ้างอิงข้อมูลของ CCCS จะพบว่า Grab ครองส่วนแบ่งตลาดกบริการร่วมเดินทางในสิงคโปร์ 80% และมีสัญญาแบบ Exclusive กับบริษัทแท็กซี่, รถเช่า และอื่นๆ รวมถึงมีการบังคับให้ผู้ขับในระบบไม่สามารถไปสมัครกับบริการอื่นๆ ได้ ซึ่งทาง CCCS ได้ยื่นข้อเสนอให้ Grab แก้ไขสัญญาแบบ Exclusive เหล่านี้แล้ว

สรุป

บริการร่วมเดินทางในสิงคโปร์นั้นถูกกฎหมาย ดังนั้นหากทำอะไรที่ไม่เป็นธรรมแก่ผู้บริโภค หรือกฎหมายที่ว่ากันไว้ ก็มีโอกาสที่จะผิด และถูกปรับเป็นเรื่องธรรมดา แต่เชื่อว่าการควบรวมกิจการแล้วไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันนั้นน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหลายๆ ประเทศ ที่บางธุรกิจก็ผูกขาดตลาดมากจนเกินไปได้

อ้างอิง // Deal Street Asia

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา