Grab ยกเครื่องบริการขนส่งสู่ GrabExpress ไล่บี้ LINE MAN ทุกช่องทาง

Grab ทำการปรับโฉมบริการเดลิเวอรี่ใหม่เป็น GrabExpress รวมการขนส่งด้วยรถทุกประเภท แถมเพิ่มบริการ GrabMart และ GrabFresh ในอนาคต ไล่บี้ LINE MAN ทุกช่องทาง หวังเป็นแอพที่ผู้บริโภคใช้งานทุกวัน

ยกเครื่องขนส่งใหม่ มีออปชั่นมากขึ้น

จากการประกาศวิสัยทัศน์ของ Grab ในการขึ้นสู่เป็น Super App ของผู้บริโภค หรือเป็นแอพพลิเคชั่นที่ใช้งานอยู่ทุกวัน ทำให้ในช่วงหลังได้เห็น Grab ออกบริการใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการสร้าง Ecosystem ให้มากกว่าบริการ Transportation หรือขนส่งคน

บริการเดลิเวอรี่เป็นอีกหนึ่งเป้าหมายที่ Grab จะทำการโฟกัส และปักหมุดให้เป็นบริการดาวรุ่งอีกบริการหนึ่ง จริงๆ แล้ว Grab ได้มีบริการเดลิเวอรี่มาก่อนหน้านี้แล้วแต่เป็นแค่รับส่งของปกติทั่วไปโดยรถมอเตอร์ไซค์

แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการขนส่งมันมีมิติมากกว่านั้น ทำให้ Grab ต้องกลับมาทำการบ้านใหม่ และในปีนี้ได้ทำการยกเครื่องเปลี่ยนเป็น GrabExpress พร้อมกับเพิ่มออปชั่น 3 บริการ เป็นการรุกธุรกิจโลจิสติกส์ออนดีมานด์อย่างเต็มตัว

GrabExpress จึงเป็นบริการรับส่งพัสดุ และเอกสารแบบออนดีมานด์ รวมเครือข่ายรถทุกประเภท ของบริการจาก Grab ไว้ด้วยกัน ได้แก่ มอเตอร์ไซค์ รถยนต์ และรถปิคอัพ รองรับการขนส่งทุกรูปแบบ เล็ก กลาง ใหญ่

ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เล่าว่า

จริงๆ Grab มีบริการเดลิเวอรี่มาก่อนหน้านี้แล้ว ทำธุรกิจทั้งส่งคน และส่งของ แต่บทเรียนที่ได้เรียนรู้ก็คือไม่ได้ทำความเข้าใจ Pain Point ของผู้บริโภคจริงๆ ว่าต้องการอะไร การปรับโฉมครั้งนี้เลยใส่ทั้งบริการใหม่ และฟีเจอร์ใหม่

แข็งกว่าคู่แข็งด้วยบริการทั้งส่งคน และส่งของ

การออกบริการขนส่งของ Grab ในครั้งนี้ ถือเป็นการท้าชน LINE MAN อย่างเต็มตัวซึ่งมีบริการที่ชนกันเกือบทั้งหมดทั้งรับส่งพัสดุซื้ออาหารและจะมีเปิดบริการอื่นๆเพิ่มเติมอีก

แต่ธรินทร์ได้บอกว่าจุดแข็งที่เหนือกว่าคู่แข่งก็คือมีบริการที่ครอบคลุมกว่าเพราะมีทั้งเรื่องส่งคนด้วยและส่งของ

เราต้องการเป็น Super App ทำให้เข้ามาใช้ทุกวัน มีบริการทั้งส่งคน ส่งของ ส่งอาหาร ใช้บริการแล้วได้พอยท์ ทำอีเพย์เมนต์รองรับการชำระเงิน ทำให้ครอบคลุมทุกอย่าง แต่คู่แข่งทำเป็นขาๆ มากกว่า

รองรับอีคอมเมิร์ซ ในยุคที่แข่งขันกันด้วยการส่งที่รวดเร็ว

บริการขนส่งต้องการจับตลาดลูกค้า SME เป็นหลัก หรือพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่มีการส่งของอยู่ตลอด เพราะได้มองเห็นตลาดอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นทุกปี และมีการแข่งขันที่ดุเดือด ปัจจัยเรื่องการจัดส่งสินค้าจึงเป็นหนึ่งในคีย์สำคัญที่สร้างจุดแข็งต่างจากคู่แข่งให้ร้านค้าได้

ถือเป็นทิศทางของ Grab ในการเจาะตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเช่นกัน เห็นได้จากการปรับโครงสร้างองค์กร โดยที่ธรินทร์ถือว่าเป็นผู้บริหารน้องใหม่ที่เพิ่งเข้าร่วมงานกับ Grab ได้ 5 เดือน ก่อนหน้านี้ได้อยู่ที่ Lazada เห็นได้ชัดว่า Grab ต้องการเดินกลยุทธ์เจาะกลุ่มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูง และแข่งขันสูง ความคาดหวัง และความต้องการของผู้บริโภคปลี่ยนไป เห็นได้ชัดคือเรื่องการส่งสินค้า เมื่อก่อนรับสินค้าภายใน 2 วันยังโอเค แต่ 3 วันเริ่มไม่ได้แล้ว มีเรทการยกเลิกของมากขึ้น ยุคนี้การแข่งขันมากขึ้น การส่งของจึงจะเป็นจุดต่าง คนส่งเร็วถือว่าได้เปรียบกว่า ลูกค้าสั่งวันนี้ต้องการได้วันนี้ ราคาอย่างเดียวเอาไม่อยู่แล้วต้องเรื่องการส่งเร็วด้วย

ธรินทร์จึงใช้ประสบการณ์จากธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาปรับใช้กับการพัฒนาฟีเจอร์ของ GrabExpress จะมี 4 ฟีเจอร์หลักด้วยกัน ได้แก่

  1. จองและเรียกส่งสินค้าได้พร้อมกันมากถึง 10 จุดหมาย สำหรับร้านค้าที่ต้องการส่งสินค้าหลายที่
  2. Photo Proof of Delivery เป็นการถ่ายรูปสินค้าไว้ เพื่อรับประกันว่าส่งของในสภาพเดิม
  3. รับประกันความเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง แบ่งเป็น มอเตอร์ไซค์รับประกันสูงสุด 5,000 บาท รถยนต์ 10,000 บาท รถปิคอัพ 10,000 บาท
  4. ตรวจสอบสถานะการส่งแบบเรียลไทม์

เนื่องจากเคยทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซมาก่อน ได้คุยกับคนส่งของมากมาย เจอปัญหาทั้งกับคนรับ และคนส่ง โดยโจทย์แรกในการพัฒนาบริการ คือ คนส่งของต้องส่งได้หลายที่ในครั้งเดียว ต่อมาคือส่งของให้ได้สภาพเดิม ต้องมีถ่ายรูปสร้างความอุ่นใจ ลดการเสียหายได้ คนส่งจะปิดงานได้สินค้าต้องสภาพเดิมจากตอนที่ถ่ายรูปครั้งแรก และมีระบบอัพเดตแทร็กกิ้ง รวมถึงได้ร่วมกับ Sunday ในการประกันของเสียหายที่เกิดจากการขนส่ง สร้างความอุ่นใจตอบโจทย์ผู้รับ และผู้ส่ง

เตรียมเปิดบริการฝากซื้อของร้านสะดวกซื้อ และซูเปอร์มาร์เก็ต

หลังจากการเปิด GrabExpress อย่างเต็มตัวนี้แล้ว Grab ได้เตรียมออกบริการในส่วนของเดลิเวอรี่เพิ่มเติมมาอีกในเดือนสิงหาคม เตรียมเปิดอีก 2 บริการ คือ GrabMart และ GrabFresh เป็นการชนบริการของ LINE MAN อย่างจังอีกครั้ง ถึงแม้ว่า LINE MAN จะออกมานานแล้วก็ตาม

GrabMart เป็นเหมือนผู้ช่วยในการซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ จากเซเว่นฯ แฟมิลี่มาร์ท และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส โดยที่มี Basket Size สูงสุด 500 บาท สามารถเลือกโลเคชั่น และร้านว่าจะซื้อที่ไหน

ส่วน GrabFresh เป็นบริการช่วยซื้อของสด หรือของในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยได้ทำการพาร์ทเนอร์กับ HappyFresh

สำหรับ GrabExpress ตอนนี้เปิดให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และเชียงใหม่ก่อน หลังจากนั้นค่อยขยายให้ครบ 17 จังหวัดที่เปิดบริการ อาจจะเริ่มจากหัวเมืองใหญ่อย่างภูเก็ต พัทยา โคราช และขอนแก่น

ค่าบริการรถมอเตอร์ไซต์เริ่มต้น 40 บาท รองรับพัสดุได้ 15 กิโลกรัม รถยนต์ขนาดเล็กราคาเริ่มต้น 150 บาท รองรับพัสดุได้ 100 กิโล และรถปิคอัพราคาเริ่มต้น 250 บาท รองรับพัสดุได้ 300 กิโลกรัม เช่น ส่งของย้ายบ้าน แคเทอริ่ง โต๊ะ ตู้ต่างๆ

สรุป

Grab ได้มีการปรับตัวค่อนข้างมาก ปรับตามพฤติกรรมของผู้บริโภคยุคนี้ โดยที่หยุดแค่บริการรับส่งคนอย่างเดียวไม่พอ ต้องขยายไปยังเดลิเวอรี่อื่นๆ ที่มีโอกาสการเติบโตสูง รับกับตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งตลาดขนส่งตรงนี้ก็มีการแข่งขันสูงไม่แพ้กัน แต่จุดเด่นของ Grab คือการพยายามสร้างอาณาจักรของตัวเองด้วยการระบบเพย์เมนต์ ลอยัลตี้โปรแกรม เพื่อดึงให้ลูกค้าอยู่ในระบบตลอด

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา