ยุคของ Disruptive Technology จะรอให้องค์กรใหญ่คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมก็อาจจะไม่ตอบโจทย์ ดังนั้นการสนับสนุนตั้งแต่ระดับเยาวชนหรือสตาร์ทอัพ สามารถคิดค้น สร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และนำมาต่อยอดต่อได้ เป็นหนึ่งในทางออกที่ทั่วโลกทำมาตลอด
ล่าสุด บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้า กลุ่ม ปตท. ที่ให้ความสำคัญในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของเยาวชนไทยในการมีส่วนร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อนำไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ริเริ่มโครงการ GPSC Young Social Innovator 2018 (GPSC YSI 2018) ขึ้นเป็นปีแรก โดยเปิดโอกาสให้กับนักเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา (ปวช.) หรือเทียบเท่า ในพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ระยอง ชลบุรี จันทบุรี ตราดและฉะเชิงเทรา นำเสนอแนวคิดโครงงาน ผลิตภัณฑ์ หรือวิธีการ รวมถึงกระบวนการที่มุ่งแก้ปัญหาสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
การตัดสินโครงการข้างต้น ได้คัดเลือกเหลือ 2 ทีมสุดท้าย ที่นำผลงานนวัตกรรมไปทดลองใช้จริงในชุมชน เพื่อให้เห็นถึงประสิทธิภาพของการใช้งาน โดยผลงาน Smart Biogas จากทีมเยาวชนโรงเรียนวิทยาศาตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากผลงานพัฒนาอุปกรณ์ติดตั้งระบบกรองก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากฟาร์มสุกร โดยมีแนวคิดในการลดกลิ่นและความชื้นของก๊าซชีวภาพ ด้วยการใช้สนิมเหล็กเป็นตัวดูดซับ ขณะที่รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง เป็นผลงาน The Food Waste Separating Machine ที่เป็นการพัฒนาอุปกรณ์เพื่อแยกกากเศษอาหาร นำไปผลิตเป็นสารปรับปรุงดิน จากทีมเยาวชนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง
สำหรับทีมโรงเรียนวิทยาศาตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.ชลบุรี ผลงาน Smart Biogas มีจุดเริ่มต้นมาจากประสบการณ์จริงที่ได้เห็นปัญหาของการนำก๊าซที่ได้จากบ่อหมักมูลสุกร มาใช้เป็นเชื้อเพลิงปรุงอาหารกลางวันของโรงเรียน โดยพบว่าก๊าซที่ใช้ยังส่งกลิ่นปฎิกูลออกมาในอากาศขณะปรุงอาหาร ทำให้เขามองหาวิธีการลดกลิ่น ซึ่งพบว่ากลิ่นที่เกิดขึ้น เกิดจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ หรือเรียกว่าก๊าซไข่เน่า มีกลิ่นเหม็น แต่สามารถจัดการปัญหาได้ด้วยปฏิกิริยาเคมีอย่างง่าย โดยใช้ของใกล้ตัวอย่างสนิมเหล็ก เป็นตัวดูดซับกลิ่นและความชื้น ลดกลิ่นจากก๊าซไฮโดรเจนซัลไฟด์ที่หายไปประมาณ 40% ส่งผลให้ก๊าซมีค่าความร้อนสูงขึ้นถึง 20% และยังเป็นส่วนสำคัญของการประหยัดการใช้เชื้อเพลิงได้
ขณะที่ทีมโรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง ผลงาน The Food Waste Separating Machine ได้ออกแบบอุปกรณ์เครื่องแยกเศษอาหาร เพื่อแก้ปัญหาเศษอาหารเหลือภายในโรงเรียน โดยมีเป้าหมายในการเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นดินภายใน 1 วัน เพื่อลดปัญหาการเหลือทิ้งของเศษอาหารและนำไปสู่กลิ่นไม่พึงประสงค์ และแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค โดยดินที่ได้จากกระบวนการสามารถนำไปใช้เพาะปลูกพืชได้ เป็นการเปลี่ยนจากของเหลือทิ้งที่ไม่มีมูลค่า ให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์ต่อไป
ผลงานทั้งสองโครงการจะนำไปสู่การต่อยอดร่วมกับทีมที่ปรึกษาและคณะทำงาน GPSC เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพอุปกรณ์ และสิ่งประดิษฐ์เหล่านี้ ให้สามารถใช้ได้อย่างสมบรูณ์มากยิ่งขึ้น จนทำให้ทั้งสองโครงการดังกล่าว สามารถเข้าแข่งขันในเวทีประกวดนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งผลงาน Smart Biogas สามารถคว้ารางวัล ระดับเหรียญเงิน (Silver prize) ขณะที่ผลงาน The Food Waste Separating Machine คว้ารางวัล Special Prize
เวที GPSC Young Social Innovator ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี ถือเป็นอีกเวทีหนึ่งในการสร้างฝันของเยาวชน เพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยีที่ไม่เพียงหยุดนิ่งแค่ระดับประเทศ แต่ยังก้าวไกลไปสู่เวทีนวัตกรรมนานาชาติ เพื่อสร้างโอกาสให้กับสังคมไทยได้มีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นของคนไทยที่จะช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจฐานรากทำให้ไทยก้าวไปสู่ยุคดิจิทัลแบบยั่งยืนได้อย่างแท้จริง
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา