GPSC ผลิตไฟฟ้าพลังงานลมในไต้หวัน กำลังไฟสะอาด 600 เมกะวัตต์ จ่ายไฟกว่า 6.5 แสนครัวเรือน ตอกย้ำการใช้นวัตกรรมพลังงานที่ยั่งยืน

เรื่องของโลกร้อนและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกองค์กรกำลังเน้นมากเป็นพิเศษ และต้องทำในอัตราเร่งโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพื่อให้เกิดผลลัพธ์โดยเร็ว เพราะอุณหภูมิที่กำลังเพิ่มขึ้นบนโลกกำลังส่งผลต่อทุกชีวิตบนโลก ซึ่งในมุมของอุตสาหกรรมพลังงาน ก็กำลังเร่งพัฒนานวัตกรรมพลังงานโดยเฉพาะพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก เพื่อมาทดแทนรูปแบบของพลังงานเดิม ๆ ที่ใช้กันอยู่ในเวลานี้

gpsc

บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เป็นหนึ่งในแกนนำสำคัญของบริษัทด้านพลังงานที่ใช้นวัตกรรมพลังงานเพื่อพัฒนาและผลิตพลังงานสะอาด เพื่อทดแทนและชดเชยการใช้พลังงานฟอซซิลแบบเดิม ซึ่งหลายคนคุ้นเคยกันดี เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ เป็นต้น โดยการจะเลือกใช้การผลิตพลังงานรูปแบบใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ก็ต้องมีแดดที่ดีตลอดทั้งวัน พลังงานลมก็ต้องมีกำลังลมหรือความเร็วลมที่ดีตลอดทั้งปี

นั่นเพราะเมื่อเราพูดถึงพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน หมายความว่า ต้องพิจารณาในทุกมิติ คือ มีผลตอบแทนที่เหมาะสมเมื่อเทียบระหว่างการลงทุนและพลังงานที่ได้รับ อีกทั้งต้องใช้งานได้อย่างยั่งยืนยาวนาน เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งกับประชาชน สังคม สิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่สามารถอยู่รอดและเติบโตได้เช่นกัน

gpsc

 

ไต้หวัน หนึ่งในแหล่งผลิตพลังงานลมที่ดีที่สุดในโลก

ในประเทศไทย อาจจะคุ้นเคยกับพลังงานแสงอาทิตย์ด้วยปริมาณแสงแดดที่มีตลอดทั้งปี และหลายคนอาจจะเห็นกังหันลมขนาดใหญ่ในบางพื้นที่เพื่อให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมเช่นเดียวกัน แต่สำหรับพื้นที่ที่มีความโดดเด่นเรื่องพลังงานลม เรียกว่าดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง คือ ไต้หวัน

พอนึกถึงไต้หวัน หลายคนนึกถึงชานมไข่มุก หลายคนนึกถึงผู้ผลิตชิพระดับโลก แต่รู้หรือไม่ว่า ไต้หวัน เป็นดินแดนแห่งพลังงานลม

พลังงานลม เกิดจากความแตกต่างของอุณหภูมิ ความกดอากาศ และแรงจากการหมุนของโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ยังเป็นตัวกำหนดทิศทางลมและความเร็วของลม แต่นอกจากปัจจัยดังกล่าวไต้หวันยังมีปัจจัยเฉพาะตัวที่บริเวณอื่นไม่มีคือเป็นบริเวณที่มีร่องลมช่วยเพิ่มความเร็วลมและมีความสม่ำเสมอตลอดทั้งปี ทำให้ไต้หวันเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งที่มีศักยภาพที่ดีที่สุดในโลก 16 แห่งจาก 18 แห่งทั่วโลก บวกกับศักยภาพในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดชั้นนำของโลก จึงไม่แปลกที่จะดึงดูดให้บริษัทต่างชาติเข้าไปลงทุน และรวมถึง GPSC ด้วย

gpsc

ผนึกพันธมิตร สร้างโครงการ CFXD Offshore Wind Project

วรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า GPSC เห็นถึงศักยภาพในการเป็นแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม และมั่นใจในศักยภาพของบริษัทว่าสามารถก่อสร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานลมได้อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่างๆทั้งระยะเวลา คุณภาพ และต้นทุนจึงได้ร่วมทุนกับพันธมิตร คือ บริษัท โคเปนเฮเกน อินฟราสตัคเจอร์ พาร์ทเนอร์ส หรือ CIP ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน หรือ CFXD Offshore Wind Project

นี่เป็นโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือของสองบริษัทที่พัฒนาทุ่งกังหันลมนอกชายฝั่งในไต้หวันและสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จภายใต้เงื่อนไขการใช้วัตถุดิบภายในท้องถิ่น Changfang และ Xidao ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของไต้หวัน ห่างจากชายฝั่ง Changhua 11-25 กิโลเมตร บริเวณช่องแคบไต้หวัน ระดับความลึกของน้ำ 22-43 เมตร แรงลมเฉลี่ยประมาณ 10 เมตรต่อวินาที จึงเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสูงในการดำเนินการโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม

สำหรับตัวกังหันลมใช้เทคโนโลยี Vestas V174 มีจำนวน 62 ต้น โดยการติดตั้งกังหันจะมี 4 ส่วนประกอบหลัก คือ Pin Pile สูง 80 เมตร, Jacket Structure สูง 70 เมตร, Transition Piece สูง 7.5 เมตร และ Turbine สูง 197 เมตร ด้วยความสูงรวมมากกว่า 350 เมตรจากปลายสุดฐานราก 

กังหันลม 1 ต้นสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 9.6 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นกังหันลมรุ่นที่มีกำลังผลิตสูงติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยโครงการเริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2561 และทยอยผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ครั้งแรกในปี 2565 และติดตั้งเสร็จตามแผนงานเมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา รวมทั้งโครงการมีกำลังผลิตประมาณ 600 MW สามารถส่งไฟฟ้าพลังงานสะอาดไปยังภาคครัวเรือนจำนวน 650,000 หลัง

gpsc

เจาะลึกพลังงานลม การใช้งานจริง และการต่อยอดในอนาคต

เวลานี้ทั่วโลกมุ่งเน้นในการหาพลังงานสะอาดหรือพลังงานทางเลือกมาใช้แทนพลังงานที่ใช้อยู่ โดยพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม มีความก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับมากที่สุด อย่างที่รู้กันว่า แสงอาทิตย์และลม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ จึงเกิดการลงทุนในเชิงพาณิชย์ในหลายโครงการทั่วโลก

สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งในไต้หวัน ถือได้ว่าเป็นการลงทุนที่ประสบความสำเร็จและเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญ เป็นโมเดลที่จะพัฒนาต่อยอดเรื่องของพลังงานลม โดยเฉพาะการใช้ฐานการผลิตในประเทศ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขยายผลไปยังประเทศอื่นๆ ที่มีศักยภาพได้ในอนาคต

วรวัฒน์ กล่าวอีกว่า โครงการ CFXD เป็นก้าวแรกที่มีความสำคัญในการพัฒนาด้านพลังงานลม ซึ่งเป็นไปตามกลยุทธ์ของ GPSC เพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจนวัตกรรมไฟฟ้าอย่างยั่งยืน นับเป็นความสำเร็จของทีมผู้เชี่ยวชาญทั้งสองฝ่ายที่ร่วมมือในการดำเนินโครงการฯ จนสามารถสร้างโมเดลใหม่ในการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีและพลังงานเพื่อความพร้อมในการขยายการลงทุนต่อเนื่อง ทั้งในไต้หวันและนอกไต้หวัน ผ่านความเชี่ยวชาญ และสามารถบริหารจัดการด้านวัตถุดิบ แหล่งผลิตใหม่ๆให้เกิดขึ้น

gpsc

บทสรุป พลังงานลม อีกแหล่งพลังงานสะอาดที่สำคัญของโลก

สำหรับ GPSC ไต้หวันเป็นการลงทุนที่สำคัญ และเชื่อว่าอนาคตจะมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกระแสไฟฟ้าจากลมได้มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อแสวงหาโอกาสด้านการลงทุนที่สอดรับกับทิศทางของกระแสการใช้พลังงานสะอาด ที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง

และเป็นไปตามกลยุทธ์ S2 Scale-Up Green Energy ของ GPSC ที่มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนให้ได้มากกว่า 50% ภายในปี 2573 ซึ่งปัจจุบัน GPSC มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนถึง 62% หรือจำนวน 7,232 เมกะวัตต์ จากกำลังการผลิตรวมทั้งสิ้น 11,756 เมกะวัตต์ และเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2603

โครงการ CFXD จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนและก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรตระหนักและเร่งแผนพัฒนาพลังงานสะอาดควบคู่ไปกับการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มข้น

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา