แจกเงินยังไม่ช่วยเท่าไร เพราะถ้าไม่แก้ที่โครงสร้าง GDP ไทยจะโตต่ำ 2.5% ไปยาวๆ

KKP Research ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทย ปรับการขยายตัวของ GDP จาก 2.6% เป็น 2.8%

การปรับคาดการณ์ดังกล่าวมาจากการฟื้นตัวชั่วคราวทางเศรษฐกิจที่มาจากสองปัจจัยสำคัญคือ มาตรการแจกเงินให้กลุ่มเปราะบาง ส่งผลบวกต่อการเติบโตของการบริโภค และการปรับตัวที่ดีขึ้นของภาคส่งออกในสินค้าบางกลุ่ม โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

ขณะที่ปัจจัยลบเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยก็ยังคงอยู่ มีทั้งเรื่องสังคมสูงอายุ หนี้ครัวเรือนระดับสูง การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมยังเผชิญปัญหาในการแข่งขัน และภาคการลงทุนชะลอตัวตามภาคการผลิตและภาคอสังหาริมทรัพย์

KKP Research ประเมินว่าเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเพียงชั่วคราวในช่วงไตรมาส 4 ถึงกลางปีหน้า หากไม่มีการผลักดันนโยบายแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างเป็นรูปธรรม เศรษฐกิจไทยจะกลับมามีแนวโน้มโตต่ำกว่า 2.5% ในระยะยาว

economy

การส่งออก

ปรับตัวดีขึ้นจาก 1.3% เป็น 2.3% การส่งออกขยายตัวดีขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวดีขึ้นจากสินค้าบางประเภทที่เปลี่ยนเส้นทางการค้าจากจีนไปสหรัฐฯ โดยตรง เป็นส่งสินค้าจากจีนผ่านไทยไปยังสหรัฐฯ และการส่งออกที่เป็นตัวเงิน ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินค้าบางตัวยังไม่ปรับตัวดีขึ้น

เงินบาทแข็งค่าเร็วขึ้นอาจกระทบปริมาณการส่งออกของสินค้าบางกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตร ส่วนเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงชะลอตัว โดยเฉพาะคู่ค้าสำคัญของไทย ส่วนวัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีแนวโน้มเติบโตช้าลง

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจส่งผลบวกระยะสั้น

การแจกเงินกลุ่มเปราะบาง 14.2 ล้านคน จำนวน 142,000 ล้านบาท หรือ 0.7% ของ GDP กลุ่มเปราะบางได้รับเงินไปใช้จ่ายต่อ ทำให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเท่ากับเงินที่แจกให้ประชาชน

ปีงบประมาณ 2024/25 มีการอนุมัติงบจำนวน 150,000-180,000 ล้านบาท คิดเป็น 0.8-0.9% ของ GDP สำหรับกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่การนำเงินก้อนนี้ไปใช้ยังไม่ชัดเจน รัฐบาลยืนยันจะใช้เงินก้อนนี้เพื่อทำนโยบาย Digital Wallet อีก 20 ล้านคนที่ลงทะเบียนก่อนหน้า ทำให้การแจกเงินก้อนสอง จะมีการใช้งานในช่วงไตรมาส 2 – 3 ในปี 2025 และช่วยให้เศรษฐกิจไทยได้ใกล้เคียง 3% ในปี 2025

การประกาศนโยบายของรัฐ ทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การส่งเสริมและปกป้องผู้ประกอบการจากการแข่งขันต่างประเทศ การให้ความช่วยเหลือด้านราคาพลังงานและสาธารณูปโภค การดึงเศรษฐกิจนอกระบบเข้าสู่ในระบบ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม KKP มองว่า ยังมีความกังวลในการดำเนินนโยบาย เพราะหลายนโยบายไม่มีแผนการดำเนินการชัดเจน

ปัจจุบันหนี้สาธารณะปรับสู่ระดับ 70% ของ GDP เป็นระดับสูงสุดตามกฎหมายกำหนดไว้ ต้องมีขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อเพิ่มระดับเพดานหนี้สาธารณะก่อนแผนการใช้นโยบายขาดดุลการคลังที่มากขึ้นในอนาคต

ท่องเที่ยวฟื้นตัวช้าลง ปีหน้าระดับนักท่องเที่ยวเริ่มชะลอลงเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ผลบวกต่อ GDP จากการท่องเที่ยวเริ่มปรับตัวลดลงตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป เศรษฐกิจไทยควรมีแรงขับเคลื่อนอื่นๆ เช่น ภาคการผลิตเพื่อให้เติบโตใกล้เคียง 3%

ปัญหาเชิงโครงสร้างยังเป็นปัญหาเดิมที่ทำให้เศรษฐกิจไทยโตต่ำ

ทั้งโครงสร้างประชากร ความสามารถในการแข่งขันต้องเผชิญกับความท้าทายในอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี ตลอดจนการหดตัวลงของการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี ขณะที่ภาคการผลิตและภาคเอกชนหดตัวรุนแรงที่ 5.7% ในไตรมาส 2 สูงกว่าที่คาดไว้ และสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่อ่อนแอ

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังต่ำกว่าก่อนโควิด การที่เงินบาทแข็งค่าเร็วมาจากปัจจัยระยะสั้น ดังนี้ การอ่อนค่าลงเร็วของดอลลาร์สหรัฐมาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่มากกว่าตลาดคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ และการปรับตัวดีขึ้นของสถานการณ์ทางการเมืองรวมทั้งการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ช่วยหนุนตลาดหุ้นได้ในระยะสั้น  ตลอดจนการปรับตัวสูงขึ้นของราคาทองคำ

ที่มา – KKP Research

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา