ความสามารถ และความรู้ที่มี เป็นปัจจัยสำคัญอันดับต้นๆ ที่จะทำให้ใครคนใดคนหนึ่งได้รับความสนใจ และได้รับคัดเลือกให้เข้าไปทำงานในบริษัท หรือองค์กร แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ ถ้าบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลก คงมีแต่ผู้สมัครที่เก่ง และมีความสามารถให้เลือกจำนวนมาก บริษัทจะใช้อะไรในการตัดสินเลือกคนที่เก่งเหมือนๆ กันไปหมด
คำตอบคือ ลักษณะนิสัย และความเข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กร จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญในการคัดเลือกผู้สมัครที่มีความสามารถ และความเก่งๆ เหมือนๆ กันไปหมด เช่นเดียวกับ Google บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของโลก ที่แต่ละปีมักติดอยู่ในอันดับบริษัทที่คนทั่วโลกอยากเข้าไปทำงานด้วยมากที่สุดแห่งหนึ่ง ก็มีวิธีการคัดเลือกคนเก่งๆ เข้าไปทำงานเช่นกัน โดยมองหาคนที่มีลักษณะที่เรียกว่า Googleyness
Laszlo Block อดีต Head of People ของ Google เคยให้คำนิยามของคำว่า Googleyness ในคู่มือพนักงานเมื่อปี 2015 เอาไว้ว่า เป็นคนที่รู้จักกับความสนุกสนาน มีความอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักยอมรับในความผิดของตัวเอง มีความรอบคอบระมัดระวัง ไม่มีปัญหากับความกำกวม ไม่ชัดเจน และมีความกล้าหาญในการใช้ชีวิตของตัวเอง
นอกจากคำอธิบายความเป็น Googleyness ที่ Google มองหาในพนักงานใหม่ทุกคนแล้ว อดีตพนักงานของ Google ยังด้วยว่า Googleyness ยังหมายถึงลักษณะนิสัยอีก 10 ประการ ดังนี้
- ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- มุ่งมั่นสู่ความดีเยี่ยม
- มุ่งสู่เป้าหมาย
- มีความมั่นใจ
- ทำดีต่อผู้อื่น โดยไม่มีเงื่อนไข
- มีความเป็นมิตร และเข้าถึงง่าย
- ให้คุณค่าเพื่อนร่วมงาน
- มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ถืออัตตาของตัวเอง (ไม่มีอีโก)
- มีความโปร่งใส ซื่อสัตย์ และยุติธรรม
- มีอารมณ์ขัน
โดยรวมแล้ว Googleyness ไม่ได้ใช้เพื่อหาความเก่ง ที่เป็นทักษะ และความสามารถของแต่ละบุคคล แต่ใช้หาบุคคลที่มีลักษณะที่เข้ากันได้กับวัฒนธรรมองค์กรแบบ Google มากที่สุด นอกเหนือจากการตอบคำถามที่ผู้สัมภาษณ์ถามแล้ว การจะได้รับเข้าทำงานที่ Google ขึ้นอยู่กับผู้ที่มีหน้าที่สัมภาษณ์งานด้วยเช่นกัน
คนที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์งาน จะต้องตอบคำถามง่ายๆ เพียง 2-3 ข้อ ที่จะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะใช้ตัดสินเลือกคนเข้าทำงาน คำถามนั้นคือ “คุณอยากทำงานกับคนๆ นี้ ทุกวันหรือไม่?” “คุณจะมีความสุขหรือไม่ หากต้องนั่งทำงานข้างๆ คนๆ นี้?”
เพราะหลักการสำคัญของ Googleyness จะวัดความเข้ากันได้ของผู้สมัครแต่ละคน กับวัฒนธรรมองค์กรของ Google ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานขององค์กรในภาพรวม
ที่มา – Business Insider, Fastcompany
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา