Google vs. Huawei ผลกระทบจากสงครามการค้า ถึงตัวผู้ใช้งานอย่างพวกเรา

ผลจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกา และ จีน ตอนแรกดูไกลตัวคนไทย จนต้นปีนี้ถึงเริ่มเห็นผลชัดมากขึ้น เริ่มจากการส่งออกของไทยที่หดตัวอย่างชัดเจน และทำให้ GDP ไตรมาสแรกเติบโตเพียง 2.8% ต่ำสุดในรอบหลายปี

แต่นั่นคือผลกระทบในระดับมหภาคที่คนทั่วไปอาจยังไม่รู้สึก จนกระทั่งเกิดกรณี Google vs. Huawei ขึ้น

คำถามของคนไทยคือ สมาร์ทโฟนจาก Huawei จะใช้ Android ซึ่งมาจาก Google ได้หรือไม่ เพราะ Huawei P30 กำลังขายดิบขายดี ด้วยประสิทธิภาพของกล้องและราคาที่ไม่สูงนัก (เมื่อเทียบกับ iPhone)

Huawei ยังใช้ Android ได้อยู่ แต่ปัญหาคือ “บริการ”

Android เป็นระบบปฏิบัติการแบบเปิด (Open Source) ของ Google ที่แบรนด์ทั่วโลกนำไปใช้งานได้ฟรี เพราะ Google ต้องการสร้าง Ecosystem หรือพูดง่ายๆ ว่า อยากให้มีคนใช้งานเยอะๆ ดังนั้นทั้งสมาร์ทโฟน กล่องทีวี หรืออุปกรณ์ไอทีอะไร ก็ใช้ Android ได้

Huawei จึงสามารถใช้ Android ต่อไปได้

แต่ปัญหาหลักคือ แอพพลิเคชั่นและบริการต่างๆ ของ Google ข้างใน Android เช่น Map, Drive, Gmail ฯลฯ จะไม่สามารถใช้งานได้อย่างปกติ (อาจใช้ได้บางส่วน หรือใช้ไม่ได้เลย) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Google Play ซึ่งเป็นแหล่งรวมแอพฯ ที่พัฒนามาเพื่อทำงานบน Android ก็อาจใช้งานได้ไม่ปกติ หรืออาจใช้งานไม่ได้เลยด้วยเช่นกัน นั่นจะถือเป็นปัญหาใหญ่

นี่คือ สิ่งที่ผู้ใช้อย่างเราๆ กังวลมากที่สุด เพิ่งซื้อสมาร์ทโฟนมาใหม่ แล้วจะยังไงต่อล่ะทีนี้

Hongmeng ระบบปฏิบัติการที่ยังขาดความแน่นอน

บางคนอาจบอกว่า เรื่องนี้ จีน และ Huawei ได้คาดการณ์ไว้หมดแล้ว เพราะในจีนเอง ก็ใช้งาน Google, Facebook ไม่ได้ โดยจีนได้พัฒนาบริการของตัวเองขึ้นมา จากนั้นอาศัยความจีนนิยมและความเป็นคอมมิวนิสต์ ให้คนจีนใช้งานบริการในประเทศตัวเอง

ส่วนของระบบปฏิบัติการ ก็มี Hongmeng ซึ่งทาง Huawei ระบุว่า พัฒนามาตั้งแต่ปีประมาณปี 2012 แล้ว

แต่คำถามสำหรับผู้ใช้อย่างเราๆ จะใช้ Hongmeng จริงหรือ?

เมื่อแอพฯ ต่างๆ อยู่บน iOS และ Android เป็นล้านๆ แอพฯ โดยแอพฯ​ที่ใช้ประจำทุกวันอาจจะหลักสิบ แต่ก็อยู่บนระบบปฏิบัติการสองตัวนี้ ในอดีตเคยมีระบบปฏิบัติการยักษ์ใหญ่ที่พ่ายแพ้ไป เช่น Windows, Blackberry หรือ Symbian ซึ่งบอกให้รู้ว่า ตลาดนี้ไม่ง่าย

Hongmeng อาจมีการใช้งานในจีน แต่สำหรับทั่วโลก อาจต้องใช้เวลาอีกไม่น้อยในการทำตลาด

จีนไม่ได้เสียเปรียบ เพราะมีทั้ง “ตลาด” และ “ฐานการผลิต”

อย่างไรก็ตาม จีน ไม่ได้เสียเปรียบอย่างที่คิด ด้วยความที่มีตลาดขนาดใหญ่ที่สุด ประชากรกว่า 1,400 ล้านคน ทำให้แทบทุกธุรกิจของสหรัฐอเมริกาต่างอยากเข้าไปทำตลาดในจีน รู้หรือไม่ว่า คนจีนใช้งาน iPhone อยู่ไม่น้อย Coco-Cola หรือ โค้ก ก็อยากให้คนจีนดื่ม อย่างน้อยวันละกระป๋อง หรือแม้แต่ Mark Zuckerberg ก็ยังเรียนภาษาจีน (แม้ Facebook จะใช้งานในจีนไม่ได้ก็ตาม)

ตลาดจีน จึงเป็นที่ดึงดูดใจมากที่สุด ขอแค่ทำตลาดได้ มีคนซื้อนิดหน่อย ก็คุ้มมากแล้ว

ขณะที่ในด้านการผลิต จีน เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตขนาดใหญ่ที่สุดของโลก ทั่วโลกมีสินค้าต่างๆ ใช้งานได้ทันต่อความต้องการ เรียกว่า เป็นฐานการผลิตสำคัญของโลกนี้ ซึ่งถ้าสหรัฐ จะแบนจีนจริงๆ เราอาจได้เห็น iPhone ที่ Made in US มาพร้อมกับราคาที่แพงขึ้นกว่าเดิม

นี่ยังไม่นับสารพัดแบรนด์จีนที่ออกมาตีตลาดโลก เช่น Xiaomi, Alibaba, Tencent, Lenovo ฯลฯ

สรุป

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน เชื่อว่าจะไม่จบลงง่ายๆ และเร็วๆ นี้แน่นอน น่าจะยืดเวลาไปอีกไม่น้อย เป็นการเล่นเกมชิงไหวชิงพริบของสองผู้ย่ิงใหญ่ของโลก แต่เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายจะดูท่าทีกันและกันและจบที่การเจรจาหาทางออก เพราะการชนกันตรงๆ พังทั้งสองฝ่ายคงไม่ใช่ทางออก แต่สำหรับผู้ใช้งานแบบเราๆ ก็ต้องจับตาดูอย่างไม่กระพริบเช่นกัน

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา