ล้วงสถิติอีคอมเมิร์ซจากร้านค้าของกูเกิลเอง เมื่อช่องทางที่คนเข้าเยอะ ไม่ได้แปลว่าขายดีเสมอไป

Google Analytics หรือ เครื่องมือสำหรับช่วยวิเคราะห์ข้อมูลทราฟฟิกบนโลกออนไลน์ ได้เปิด Demo Account ให้ผู้สนใจทดลองใช้กันฟรี โดยข้อมูลนี้มาจาก Google Merchandise Store หรือเว็บขายของออนไลน์ เน้นขายสินค้าที่ระลึกจาก Google นั่นเอง

การเปิดเผยข้อมูลของกูเกิลครั้งนี้ ช่วยให้เรามีโอกาสเห็นสถิติของเว็บอีคอมเมิร์ซ ที่แม้จะไม่ใหญ่นัก แต่ก็เป็นของกูเกิลเอง ว่าพฤติกรรมของลูกค้าที่ซื้อของผ่านช่องทางนี้เป็นอย่างไรบ้าง และถ้านำมาเปรียบเทียบกับร้านค้าออนไลน์อื่นๆ แล้วจะเป็นอย่างไร

เว็บ Google Merchandise Store ร้านขายของที่ระลึกจาก Google

เราได้ลองหยิบสถิติที่น่าสนใจในเดือนสิงหาคม 2016 มาฝาก เผื่อนำไปใช้เป็น Case Study กันค่ะ

Google Analytics ของ Google Merchandise Store เมื่อดูจาก Source

คนเข้าเว็บมาจาก YouTube เยอะ แต่ซื้อของน้อยมาก

YouTube-Merchandise-deadlink

ผู้ชมหลักที่เข้าเว็บไซต์ Google Merchandise Store มาจาก YouTube เยอะที่สุด คิดเป็น 32.6% ของผู้ชมทั้งหมด แต่คนเยอะไม่ได้แปลว่าจะซื้อเยอะเสมอไป เพราะคนเข้าเป็นหลักหมื่น กลับมียอดขายจริงเพียง 1 transaction เท่านั้น (conversion ต่ำเรี่ยดิน น้อยกว่า 0.01%) ไม่ใช่ช่องทางที่สร้างรายได้เป็นตัวเงินเลย

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าเว็บไซต์ YouTube ที่มีคนเข้าเยอะอยู่แล้ว อีกส่วนเป็นเพราะลิงก์หน้า Merchandise (หน้าสินค้าที่ระลึกของแบรนด์ YouTube) เกิดเสียขึ้นมา จึงถูกเชื่อมไปยังหน้าแรกของ Google Merchandise Store ที่แสดงสินค้าที่ระลึกแบรนด์ Google ทั้งหมดแทน คนที่กดลิงก์เข้ามาเพื่อหาซื้อของเกี่ยวกับ YouTube เมื่อไม่เห็นสินค้าที่ตัวเองอยากได้ ก็เลยปิดเว็บนี้ทิ้งไป ถ้าคำนวณอัตรา bounce rate สูงถึง 75%

กรณีนี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่กูเกิลก็พลาดได้ ถือเป็นบทเรียนว่า ใครที่ทำ Online Marketing พึงระวังการสร้างลิงก์ หรือ Landing Page จากเว็บอื่นๆ ให้เข้ากันได้ด้วย!

คนที่ซื้อเยอะ กลับเป็นพนักงานของกูเกิลเอง

Googleplex สำนักงานใหญ่ของกูเกิลที่ Mountain View
Googleplex สำนักงานใหญ่ของกูเกิลที่ Mountain View

ช่องทางการขายที่ดีที่สุดของ Google Merchandise Store เมื่อดูจากค่า Ecommerce conversion rate พบว่ามาจาก mall.googleplex.com ซึ่งเป็นเว็บภายในที่มีแต่พนักงานของกูเกิลเข้าถึงได้เท่านั้น คนเข้าจากช่องทางนี้แม้จะมีเพียง 8.8% ของคนเข้าเว็บทั้งหมด แต่กลับสร้างรายได้มากถึง 44.6% ของยอดขายสินค้าทั้งหมด

ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้ากลุ่มเป้าหมายตรงกลุ่มจริงๆ อัตรา conversion ที่แปลงเป็นยอดขายจริงนั้นจะสูงมากทีเดียว อย่างกรณีนี้สูงถึง 8.76% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเว็บมาก

ความจริงที่น่าแปลกใจ เมื่อรายได้สูงสุดมาจากกลุ่มคนใช้ Macintosh

Google Analytics ของ Google Merchandise Store เมื่อดูจาก OS

ถึงแม้จะเป็น Merchandise Store ของ Google ก็จริง แต่กลุ่มผู้ซื้อสูงสุด 54.6% ใช้ระบบปฏิบัติการ Macintosh อาจจะดูแปลกไปบ้าง แต่เมื่ออ่านข้อมูลเชิงลึกก็พบว่าเป็นกลุ่มลูกค้าหลักจาก Googleplex ที่ใช้ Macintosh กันนั่นเอง

ส่วนกลุ่มสาวก Google ที่ใช้ Chrome OS แม้จะดูเป็นคนส่วนน้อย แต่มี conversion rate สูงถึง 4.6% เลยทีเดียว

ไม่ว่าจะมองมุมไหน กลุ่มลูกค้าที่ซื้อง่ายจ่ายคล่อง ก็ยังเป็นพนักงานหรือสาวกกูเกิลกันอยู่ดี

แม้เป็น Google Store แต่ก็ยังต้องลงโฆษณากับ AdWords นะ

หน้าโฆษณาของ Google Merchandise Store ใน AdWords

Google Merchandise Store เองก็ลงโฆษณาผ่าน AdWords กับเค้าด้วย (ถึงแม้จะเป็นบริษัทเดียวกันก็ไม่มีสิทธิพิเศษในหน้า search result นะ) ตรงนี้ช่วยให้เรามองเห็นได้ว่ากลยุทธ์การลง AdWords ของกูเกิลเองเป็นอย่างไรบ้าง

เราพบว่า Google Merchandise Store เน้นลงโฆษณาแบบ Dynamic Search Ads (แสดงคำในโฆษณาตามคีย์เวิร์ดที่ใช้ค้นหา) เพียงอย่างเดียว  

ตลอดเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา Google Merchandise Store จ่ายค่าโฆษณาในระบบ AdWords ไป $239.11 และมีรายได้กลับมาจากการขายสินค้าผ่านช่องทางนี้ $3,351.53 (ถือว่าเป็นรายได้ส่วนน้อย ถ้าเทียบกับรายได้ทั้งหมดแล้วไม่ถึง 2%) ส่วนค่า CPC หรือ ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย ตกคลิกละ $0.19

ส่วนตัวคิดว่า Google Merchandise Store ติด SEO ในตำแหน่งที่ดีอยู่แล้ว ไม่ต้องซื้อโฆษณาเพิ่มก็ได้ ดังนั้น ดูเหมือนว่าคนดูแล Merchandise Store เลยไม่คิดพึ่งพาการทำ SEM สักเท่าไหร่

สินค้าไหนที่ขายดีที่สุดบน Google Merchandise Store

ปากกา Maze Pen สินค้าที่ขายดีที่สุดประจำเดือนสิงหาคม 2016

ตลอดเดือนสิงหาคม 2016 ที่ผ่านมา มียอดขายสินค้าจำนวน 20,635 ชิ้น สินค้ายอดฮิตคือปากกา Maze Pen ที่มีลูกเล่นเป็นเกมกลิ้งลูกเหล็กภายในตัวปากกา มียอดขายสูง 1,400 แท่ง ค่าเฉลี่ยต่อหนึ่ง transaction ซื้อกันที่ 37.84 แท่ง ซื้อกันเยอะขนาดนี้ ขอเดาว่าซื้อเหมาไปแจกกันมากกว่าใช้เอง

หากดู transaction รายวัน จะพบว่าวันที่มียอดขายดีสุดคือวันพฤหัสบดี ส่วนวันที่ยอดขายตกต่ำสุดคือวันเสาร์ และเวลาที่ขายสินค้าดีที่สุดคือ 8.00, 12.00 น. ตามลำดับ ประมาณว่าซื้อกันตอนว่างงานระหว่างวัน

ใครอยากดูสถิติเพิ่มเติม หรือ ศึกษาค่าคอนฟิกต่างๆ จาก Google Analytics ของ Google Merchandise Store สามารถเข้าไปดูได้ที่ Demo account

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา