ก่อนหน้านี้เป็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่า กสทช. มีอำนาจในการกำกับดูแลการแพร่ภาพและเสียงผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT (Over The Top) หรือไม่ เพราะดูเหมือนกฎหมายจะไม่ได้ให้อำนาจไว้ และการเรียกให้ผู้ให้บริการ OTT มาลงทะเบียนก็ดูจะมีปัญหา เพราะยังไม่มีความชัดเจนเรื่องหลักเกณฑ์ใดๆ เลย
จึงไม่น่าแปลกใจที่ Google และ Facebook จะไม่ยอมมาลงทะเบียน เพราะไม่รู้ว่าจะมีการกำกับอะไรรออยู่ข้างหน้า
กสทช. ยกเลิกเส้นตาย 22 ก.ค. ขอเวลายกร่างหลักเกณฑ์
ตามกระบวนการแล้วจะกำกับดูแลอะไรต้องมีการวางหลักเกณฑ์และรับฟังความคิดเห็นสาธารณะก่อน ดังนั้นในการประชุม กสทช. วันนี้ (5 ก.ค.) จึงมีวาระสำคัญเรื่องแนวทางการกำกับดูแล OTT (สำหรับคนที่ยังไม่เข้าใจ OTT คือ การให้บริการเสียงและภาพผ่านอินเทอร์เน็ต)
ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงว่า คณะกรรมการ มีมติให้คณะอนุกรรมการ OTT ยกร่างหลักเกณฑ์การกำกับดูแลกิจการ OTT ให้เสร็จภายใน 30 วัน มาเสนอบอร์ด กสทช. พิจารณา ก่อนนำออกทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก่อนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา มีกรอบเวลา 90 วัน
ดังนั้น เส้นตาย 22 ก.ค. ที่จะถึงนี้จึงถูกยกเลิกไป
นี่เป็นการยอมรับว่า กสทช. ไม่มีอำนาจ หรืออย่างน้อยไม่แน่ใจในอำนาจของตัวเองว่า สามารถกำกับดูแลกิจการ OTT ได้หรือไม่
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ ผู้ให้บริการ OTT ที่ลงทะเบียนกับ กสทช. ไปก่อนหน้านี้ ไม่สงสัยบ้างหรือว่า หลังจากนี้จะโดนกำกับดูแลอย่างไร มีหลักเกณฑ์อย่างไร
Google ออกจดหมายถามความชัดเจนเรื่องกฎหมาย
ตั้งแต่ช่วงเช้าวันนี้ (5 ก.ค.) โฆษกของ Google ได้แสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ Google ต้องการเป็นสิ่งแรกคือ ความชัดเจนของกฎหมายโดยเฉพาะกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หากลงทะเบียน OTT แล้วจะมีผลอย่างไร มีการกำกับดูแลอย่างไร กระบวนการต่อไปคืออะไร การดำเนินงานจะเป็นไปในรูปแบบไหน
ก่อนหน้านี้ที่มีจดหมายจาก Asia Internet Coalition หรือ AIC ไม่ใช่ล็อบบี้ยิสต์ แต่เป็นตัวแทนของแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ที่เป็นสมาชิก คือ Facebook, Google, LINE, Twitter, Yahoo และ Rakuten ซึ่งของ Google มีฝ่ายกฎหมายที่สิงคโปร์กำลังศึกษาอยู่
สุภิญญา ชี้ กสทช. บังคับ Google-Facebook ลงทะเบียน OTT ขัดกฎหมาย
สุภิญญา กลางณรงค์ กสทช. ได้ทวิตข้อความผ่าน ทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยชี้แจงตัวกฎหมายว่า กสทช. ยังไม่มีอำนาจกำกับดูแล OTT และการเหมารวมว่า OTT คือกิจการโทรทัศน์แบบไม่ใช้คลื่น ก็เป็นสิ่งที่ขัดกฎหมาย ดังนั้นการให้ Google – Facebook มาลงทะเบียนจะเท่ากับเป็นการขัดกฎหมาย และจะมีปัญหาตามมาอีกมาก
การที่ กสทช. จะกำกับดูแล OTT ถือเป็นเรื่องปกติที่ควรทำในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล แต่ก็ต้องทำให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย ดังนั้นมติบอร์ด ให้ชะลอเรื่องต่างๆ และจัดทำร่างหลักเกณฑ์ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เพื่อความเข้าใจ ด้านล่างคือ ข้อความทวีตของ สุภิญญา
ประเด็นข้อ กม.คือพรบ.ประกอบกิจการโทรทัศน์มีกฎสำคัญห้ามต่างชาติถือหุ้นในกิจการทีวีเกินร้อยละ25 ดังนั้นถ้าตีความสื่อออนไลน์OTTเป็นทีวีจะยุ่ง
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
กสทช. ยื่นคำขาดกับ Google และ Facebook ว่า ถ้าไม่มายื่นขอประกอบกิจการ จะขัด พรบ.โทรทัศน์ แต่ พรบ.โทรทัศน์ ห้ามบริษัทต่างชาติมาขอทำทีวี
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
สมมติว่าในที่สุดถ้าเขายอมมาลงทะเบียนกับ กสทช.นั่นหมายความว่า กสทช.จะรับรองว่าบรรษัทข้ามชาติสามารถประกอบกิจการโทรทัศน์ได้ตามกฎหมายไทยแล้วหรือ
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
ถ้าเขายอมมาลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการทีวีในไทย ดังนั้นต่อไป เขามาซื้อหุ้นช่องทีวีไทยก็สามารถทำได้แล้วใช่ไหม เพราะถือเป็นผู้ประกอบการทีวี
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
เพราะตาม พรบ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ กสทช.อ้างมาใช้ในการกำกับสื่อออนไลน์OTTข้ามชาตินั้น ห้ามต่างชาติไม่ให้มาประกอบกิจการทีวี มันย้อนแย้งกัน
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
อันนี้คือตัวบทของ พรบ.ประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่ห้ามต่างชาติถือหุ้นกิจการทีวีเกินร้อยละ 25 ดังนั้น กม.
ห้าม fb/google มาทำทีวีในไทยอยู่แล้ว pic.twitter.com/YPjjoUyrIH— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
ที่ผ่านมามีบริษัทในเกาหลีใต้อยากมาลงทุนทำเคเบิลทีวีในไทย ยังทำไ่ม่ได้เลย เพราะ กม.ไทยห้ามต่างชาติมาประกอบกิจการทีวี เป็นต้น
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
ตัวบท กม. ของ กสทช.ที่มีอยู่ ใช้ได้กับการประกอบการกิจการทีวีแบบดั้งเดิมเท่านั้น ถ้านำมาใช้กำกับสื่อออนไลน์ด้วย มันจะติดกับดัก หาทางออกยาก
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
กสทช.บอกว่า fb/google และ OTT เข้าข่ายเป็นทีวีแบบไม่ใช้คลื่นฯ ตาม พรบ.โทรทัศน์ ซึ่งต้องห้ามไม่ให้ต่างชาติมาขอ แล้วเขาจะมาขอได้อย่างไร pic.twitter.com/WLZOuDpZ9u
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
กรณีช่องต่างชาติพวก CNN/HBO ตาม กม. กสทช. ยังต้องขอผ่าน @TrueVisions เลย เพราะบริษัทต่างชาติมาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจทีวีเองไม่ได้
— Supinya Klangnarong (@supinya) 4 กรกฎาคม 2560
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา