บริษัทไอที Google, Facebook, Amazon มีอิทธิพลมากเกินไปหรือไม่ เข้าข่ายผูกขาดหรือยัง

Facebook Google Amazon Apple Microsoft

มาถึงวันนี้หลายคนอาจรู้สึกกันอยู่ลึกๆ ว่าบริษัทไอทียักษ์ใหญ่แห่งยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon, Apple ฯลฯ นั้นมีอิทธิพลมากเกินไปหรือไม่ ทั้งในแง่อิทธิพลต่อชีวิตของเราเอง และอิทธิพลต่อธุรกิจอื่นๆ ที่บริษัทเหล่านี้เข้าไป disrupt และเปลี่ยนแปลงวงการจนปั่นป่วนกันไปหมด

ความเห็นจาก Jonathan Taplin นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัย University of Southern California ผู้เขียนหนังสือ Move Fast and Break Things: How Facebook, Google, and Amazon Cornered Culture and Undermined Democracy มองว่าบริษัทไฮเทคเหล่านี้เข้าข่าย “ผูกขาด” แล้ว

Top 5 บริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกตามแต่ยุคสมัย – ภาพจาก Visual Capitalist

บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ มีอำนาจเหนือตลาด ใช้ขนาดบี้คู่แข่ง

Taplin เทียบกรณีของ Google กับบริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ Bell หรือที่ภายหลังใช้ชื่อว่า American Telephone & Telegraph Company (AT&T) ในอดีต ที่มีขนาดใหญ่มากจนดูดกลืนคู่แข่งรายอื่นๆ เพื่อครองตลาดเพียงลำพัง และสุดท้ายต้องถูกทางการสหรัฐจับแยกส่วนเป็นบริษัทขนาดเล็กลงจำนวน 7 บริษัทในปี 1978

ปัจจุบัน Google ครองส่วนแบ่งตลาดโฆษณาจากการค้นหา (search advertising) ในสหรัฐถึง 77% ในขณะที่ Google และ Facebook ครองส่วนแบ่งโฆษณาบนมือถือรวมกัน 56% ส่วน Facebook ก็ใช้แทคติกไล่ซื้อแอพแชทและโซเชียลอย่าง Instagram กับ WhatsApp จนครองตลาดโซเชียลในสหรัฐ 75%

ส่วน Amazon ก็ครองตลาดอีคอมเมิร์ซในสัดส่วนมหาศาล ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจค้าปลีกเดิมๆ ทั่วโลก (ครองสัดส่วนอีคอมเมิร์ซในสหรัฐที่ 43%) อีกทั้งมีส่วนแบ่งตลาดคลาวด์เป็นอันดับหนึ่ง และกำลังเริ่มขยับมาลุยตลาดออฟไลน์ด้วยการซื้อ Whole Foods

ภาวะมีอิทธิพลเหนือตลาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมนั้นๆ เกิดการแข่งขันน้อยลง เพราะผู้เล่นรายเล็กอยู่ไม่ได้ และเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้บริโภคก็จะมีปากเสียงและอำนาจต่อรองน้อยลง

เมื่อบริษัทเหล่านี้มีกำไรมหาศาล ก็จะใช้วิธีเอาเงินทุ่มเพื่อซื้อกิจการคู่แข่งหรือไม่ก็ตัดหนทางเติบโต ดังจะเห็นได้จากการซื้อกิจการบริษัทนับร้อยรายภายในเวลาไม่กี่ปี หรือไม่อย่างนั้นก็อาจใช้กลยุทธกลั่นแกล้งหรือเลียนแบบคู่แข่งแทน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ Facebook พยายามซื้อ Snapchat แต่ไม่สำเร็จ ภายหลัง Facebook จึงลอกฟีเจอร์ของ Snapchat มาใส่ไว้ในแอพทุกตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Messenger, WhatsApp จนส่งผลสะเทือนต่อยอดโฆษณาของ Snapchat เพราะฐานลูกค้าของ Facebook มีเยอะกว่ามาก

Facebook ที่เดินตามรอยเท้า Snapchat ทุกอย่าง

เอาผิดด้วยกฎหมายผูกขาดแบบเดิมได้ยาก เพราะโมเดลธุรกิจแจกฟรี

 

ในอดีต สหรัฐอเมริกาเคยเผชิญกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างสูงมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Standard Oil (น้ำมัน) U.S. Steel (เหล็กกล้า) American Tobacco (บุหรี่) หรือแม้กระทั่ง Microsoft (ซอฟต์แวร์) ในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ทางการสหรัฐใช้กลไกด้านกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ลดอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ด้วยการแยกบริษัทเป็นหลายส่วน

แต่ในโลกยุคไอที การทำแบบนั้นอาจไม่ง่าย เพราะรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทไอทีซับซ้อนกว่ายักษ์ใหญ่ในอดีตมาก เช่น ไม่ได้ใช้สงครามราคาไล่กดดันคู่แข่ง (ซึ่งผิดกฎหมายผูกขาดชัดเจน) แต่ใช้วิธีเปิดให้ทุกคนใช้งานฟรี แล้วทำรายได้จากโฆษณาโดยอาศัยจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลเป็นเครื่องต่อรองแทน การเอาผิดด้วยกฎหมายผูกขาดแบบเดิมๆ จึงอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังแข่งขันกันเอง เราไม่สามารถเอาผิด Google ว่าครอบครองตลาดมือถือด้วย Android ตราบที่คนจำนวนมากยังใช้ iPhone ของ Apple หรือในตลาดโฆษณาออนไลน์ Google กับ Facebook ก็ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาเหล่านี้

Standard Oil บริษัทน้ำมันที่เคยใหญ่ที่สุดในโลก (ภาพ Pat Hawks / Wikipedia)

บริษัทไอที กำไรมาก แต่จ้างงานน้อย

แนวทางของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่เหล่านี้ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคู่แข่ง สร้างแบรนด์ที่ผู้บริโภคจดจำ และใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเข้าถึงลูกค้าจากทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ผลคือบริษัทไอทีเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีกำไรมหาศาล และพนักงานที่ “โชคดี” ได้ทำงานในบริษัทเหล่านี้ก็ร่ำรวยตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทไอทีที่มีรายได้มหาศาล กลับไม่ได้มีการจ้างงานเยอะเหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีต เช่น Amazon ยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ มีพนักงาน 3.4 แสนคนทั่วโลก ในขณะที่ Walmart ยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกออฟไลน์ มีพนักงานมากถึง 2.3 ล้านคน และถ้าเราดูตัวเลขพนักงานของ Google มีพนักงานเพียง 60,000 คน ส่วน Facebook มีประมาณ 20,000 คนเท่านั้นเอง

การจ้างงานจำนวนน้อย (แต่บริษัทมีกำไรมาก) ทำให้การกระจายความมั่งคั่งจากผลกำไรไปยังพนักงานผ่านค่าตอบแทนต่างๆ ไม่ทั่วถึงและครอบคลุมประชากรเยอะในระดับเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ในอดีต ภาพรวมของการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจจึงบิดเบี้ยว เพราะพนักงานที่โชคดีได้เข้าทำงานกับบริษัทเหล่านี้จะมีแต่รวยขึ้น ในขณะที่แรงงานคนอื่นๆ ที่เหลือยากจนลง และมีปัญหาตกงานตามมาให้รัฐต้องคอยตามไปอุ้มซ้ำ

ศูนย์กระจายสินค้าของ Amazon ในสหรัฐ (ภาพจาก Amazon)

ตอนนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับบริษัทเหล่านี้ แม้เป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกให้ความสนใจ โดยความพยายามจากฝั่งยุโรป (EU) จะเน้นไปที่การเอาผิดและสั่งปรับเป็นประเด็นๆ ไป เช่น การสั่งปรับกูเกิลในแง่การกีดกันคู่แข่งในบางวงการ และปรับเงินหลักหลายพันล้านยูโร ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และคงไม่ใช่ “ยาแรง” เหมือนกับการใช้กฎหมายผูกขาดจับแยกบริษัทเป็นส่วนๆ

ข้อมูลจาก Bloomberg

ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา