มาถึงวันนี้หลายคนอาจรู้สึกกันอยู่ลึกๆ ว่าบริษัทไอทียักษ์ใหญ่แห่งยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Amazon, Apple ฯลฯ นั้นมีอิทธิพลมากเกินไปหรือไม่ ทั้งในแง่อิทธิพลต่อชีวิตของเราเอง และอิทธิพลต่อธุรกิจอื่นๆ ที่บริษัทเหล่านี้เข้าไป disrupt และเปลี่ยนแปลงวงการจนปั่นป่วนกันไปหมด
ความเห็นจาก Jonathan Taplin นักวิชาการด้านสื่อจากมหาวิทยาลัย University of Southern California ผู้เขียนหนังสือ Move Fast and Break Things: How Facebook, Google, and Amazon Cornered Culture and Undermined Democracy มองว่าบริษัทไฮเทคเหล่านี้เข้าข่าย “ผูกขาด” แล้ว
บริษัทไอทียักษ์ใหญ่ มีอำนาจเหนือตลาด ใช้ขนาดบี้คู่แข่ง
Taplin เทียบกรณีของ Google กับบริษัทโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ Bell หรือที่ภายหลังใช้ชื่อว่า American Telephone & Telegraph Company (AT&T) ในอดีต ที่มีขนาดใหญ่มากจนดูดกลืนคู่แข่งรายอื่นๆ เพื่อครองตลาดเพียงลำพัง และสุดท้ายต้องถูกทางการสหรัฐจับแยกส่วนเป็นบริษัทขนาดเล็กลงจำนวน 7 บริษัทในปี 1978
ปัจจุบัน Google ครองส่วนแบ่งตลาดโฆษณาจากการค้นหา (search advertising) ในสหรัฐถึง 77% ในขณะที่ Google และ Facebook ครองส่วนแบ่งโฆษณาบนมือถือรวมกัน 56% ส่วน Facebook ก็ใช้แทคติกไล่ซื้อแอพแชทและโซเชียลอย่าง Instagram กับ WhatsApp จนครองตลาดโซเชียลในสหรัฐ 75%
ส่วน Amazon ก็ครองตลาดอีคอมเมิร์ซในสัดส่วนมหาศาล ส่งผลสะเทือนต่อธุรกิจค้าปลีกเดิมๆ ทั่วโลก (ครองสัดส่วนอีคอมเมิร์ซในสหรัฐที่ 43%) อีกทั้งมีส่วนแบ่งตลาดคลาวด์เป็นอันดับหนึ่ง และกำลังเริ่มขยับมาลุยตลาดออฟไลน์ด้วยการซื้อ Whole Foods
ภาวะมีอิทธิพลเหนือตลาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมนั้นๆ เกิดการแข่งขันน้อยลง เพราะผู้เล่นรายเล็กอยู่ไม่ได้ และเมื่อเหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ผู้บริโภคก็จะมีปากเสียงและอำนาจต่อรองน้อยลง
เมื่อบริษัทเหล่านี้มีกำไรมหาศาล ก็จะใช้วิธีเอาเงินทุ่มเพื่อซื้อกิจการคู่แข่งหรือไม่ก็ตัดหนทางเติบโต ดังจะเห็นได้จากการซื้อกิจการบริษัทนับร้อยรายภายในเวลาไม่กี่ปี หรือไม่อย่างนั้นก็อาจใช้กลยุทธกลั่นแกล้งหรือเลียนแบบคู่แข่งแทน ดังจะเห็นได้จากกรณีที่ Facebook พยายามซื้อ Snapchat แต่ไม่สำเร็จ ภายหลัง Facebook จึงลอกฟีเจอร์ของ Snapchat มาใส่ไว้ในแอพทุกตัวของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Instagram, Messenger, WhatsApp จนส่งผลสะเทือนต่อยอดโฆษณาของ Snapchat เพราะฐานลูกค้าของ Facebook มีเยอะกว่ามาก
เอาผิดด้วยกฎหมายผูกขาดแบบเดิมได้ยาก เพราะโมเดลธุรกิจแจกฟรี
ในอดีต สหรัฐอเมริกาเคยเผชิญกับบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลอย่างสูงมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น Standard Oil (น้ำมัน) U.S. Steel (เหล็กกล้า) American Tobacco (บุหรี่) หรือแม้กระทั่ง Microsoft (ซอฟต์แวร์) ในยุคสมัยหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมา ทางการสหรัฐใช้กลไกด้านกฎหมายต่อต้านการผูกขาด ลดอิทธิพลของบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ด้วยการแยกบริษัทเป็นหลายส่วน
แต่ในโลกยุคไอที การทำแบบนั้นอาจไม่ง่าย เพราะรูปแบบการทำธุรกิจของบริษัทไอทีซับซ้อนกว่ายักษ์ใหญ่ในอดีตมาก เช่น ไม่ได้ใช้สงครามราคาไล่กดดันคู่แข่ง (ซึ่งผิดกฎหมายผูกขาดชัดเจน) แต่ใช้วิธีเปิดให้ทุกคนใช้งานฟรี แล้วทำรายได้จากโฆษณาโดยอาศัยจำนวนผู้ใช้งานมหาศาลเป็นเครื่องต่อรองแทน การเอาผิดด้วยกฎหมายผูกขาดแบบเดิมๆ จึงอาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทเหล่านี้ยังแข่งขันกันเอง เราไม่สามารถเอาผิด Google ว่าครอบครองตลาดมือถือด้วย Android ตราบที่คนจำนวนมากยังใช้ iPhone ของ Apple หรือในตลาดโฆษณาออนไลน์ Google กับ Facebook ก็ต่อสู้กันอย่างดุเดือดเพื่อแย่งชิงเม็ดเงินโฆษณาเหล่านี้
บริษัทไอที กำไรมาก แต่จ้างงานน้อย
แนวทางของบริษัทไอทียักษ์ใหญ่เหล่านี้ จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีที่เหนือกว่าคู่แข่ง สร้างแบรนด์ที่ผู้บริโภคจดจำ และใช้พลังของอินเทอร์เน็ตเข้าถึงลูกค้าจากทั่วโลกโดยไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ ผลคือบริษัทไอทีเหล่านี้ประสบความสำเร็จอย่างสูง มีกำไรมหาศาล และพนักงานที่ “โชคดี” ได้ทำงานในบริษัทเหล่านี้ก็ร่ำรวยตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม บริษัทไอทีที่มีรายได้มหาศาล กลับไม่ได้มีการจ้างงานเยอะเหมือนกับบริษัทยักษ์ใหญ่ในอดีต เช่น Amazon ยักษ์ใหญ่ของวงการอีคอมเมิร์ซ มีพนักงาน 3.4 แสนคนทั่วโลก ในขณะที่ Walmart ยักษ์ใหญ่ของวงการค้าปลีกออฟไลน์ มีพนักงานมากถึง 2.3 ล้านคน และถ้าเราดูตัวเลขพนักงานของ Google มีพนักงานเพียง 60,000 คน ส่วน Facebook มีประมาณ 20,000 คนเท่านั้นเอง
การจ้างงานจำนวนน้อย (แต่บริษัทมีกำไรมาก) ทำให้การกระจายความมั่งคั่งจากผลกำไรไปยังพนักงานผ่านค่าตอบแทนต่างๆ ไม่ทั่วถึงและครอบคลุมประชากรเยอะในระดับเดียวกับบริษัทขนาดใหญ่ในอดีต ภาพรวมของการจ้างงานและระบบเศรษฐกิจจึงบิดเบี้ยว เพราะพนักงานที่โชคดีได้เข้าทำงานกับบริษัทเหล่านี้จะมีแต่รวยขึ้น ในขณะที่แรงงานคนอื่นๆ ที่เหลือยากจนลง และมีปัญหาตกงานตามมาให้รัฐต้องคอยตามไปอุ้มซ้ำ
ตอนนี้ดูเหมือนว่ายังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนในการรับมือกับบริษัทเหล่านี้ แม้เป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐทั่วโลกให้ความสนใจ โดยความพยายามจากฝั่งยุโรป (EU) จะเน้นไปที่การเอาผิดและสั่งปรับเป็นประเด็นๆ ไป เช่น การสั่งปรับกูเกิลในแง่การกีดกันคู่แข่งในบางวงการ และปรับเงินหลักหลายพันล้านยูโร ซึ่งก็เป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา และคงไม่ใช่ “ยาแรง” เหมือนกับการใช้กฎหมายผูกขาดจับแยกบริษัทเป็นส่วนๆ
ข้อมูลจาก Bloomberg
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา