โดย สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด
ตั้งแต่เปิดปี 2020 จนตอนนี้เพียงแค่สองเดือนของปีหนูทอง ต้องถือว่าเป็นสองเดือนรับน้องที่มีเรื่องราวเข้ามากมายเลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นความร้อนแรงทางตะวันออกกลางระหว่างสหรัฐฯ–อิหร่าน ข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ–จีน ข้อตกลงทางการค้าสหรัฐฯ–ฝรั่งเศส การออกจากสหภาพยุโรปของอังกฤษ การระบาดของโรค COVID-19 และแถมด้วยไทยบ้านเราที่เผชิญกับภัยแล้ง ฝุ่น PM2.5 และปัญหาเรื่องงบของรัฐฯ
แน่นอนว่าฝั่งการลงทุนก็ได้รับผลกระทบจากปัจจัยที่ไม่แน่นอนต่างๆ แต่ดูเหมือนสินทรัพย์หนึ่งที่สามารถปรับตัวขึ้นได้ดีมากๆ ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมานั่นก็คือ ทองคำ สำหรับปีนี้ทองคำแท่ง (บาท) ปรับตัวขึ้นมาถึง 23,900 หรือ 10% และ ทองคำในตลาดโลกก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1609 USD/ounce หรือ 6%
หากเราลองตั้งคำถามว่าทำไมราคาทองคำไทยถึงปรับตัวขึ้นได้แรงกว่าราคาทองคำตลาดโลก คำตอบคือ เพราะราคาทองคำไทยนั้นประกอบด้วยสองปัจจัยหลักคือ ราคาทองคำในตลาดโลกและค่าเงินบาท เพราะช่วงที่ผ่านมาราคาทองคำตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างที่เกริ่นไป บวกกับเงินบาทที่อ่อนค่าลง (ยิ่งค่าเงินอ่อน ราคาทองไทยยิ่งขึ้น) จึงเป็นอีกแรงส่งทำให้ราคาทองคำในไทยปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น แต่ในทางกลับกันช่วงปี 2019 เป็นปีที่ราคาทองคำตลาดโลกปรับตัวขึ้นถึง 18% แต่ราคาทองคำไทยปรับขึ้นเพียง 9% เพราะทั้งปี 2019 เป็นปีที่เงินบาทไทยแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง
ส่วนราคาทองคำที่ปรับตัวขึ้นในช่วงนี้ก็คงเป็นเพราะปัจจัยที่ว่าราคาทองคำจะมีความสัมพันธ์ที่ผกผันกับอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง Real interest rate (อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯลบอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งในช่วงนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง ปรับตัวลงเพราะผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง จากสถิติย้อนหลังเราสามารถคาดได้ถึงความต้องการในการถือครองทองคำที่มากขึ้น
หรือถ้าจะให้เล่าอย่างง่ายๆ คือทั้งพันธบัตรและทองคำนั้นต่างถูกมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แต่สิ่งที่แตกต่างคือพันธบัตรมีการจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง แค่เราซื้อแล้วถืออยู่เฉยๆ ก็มีรายรับแล้ว แต่ในทางกลับกันถึงแม้ทองคำจะเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยแต่ทองคำไม่ได้จ่ายผลประโยชน์ใดๆ แก่ผู้ถือทั้งสิ้นจะได้ประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ซื้อมาแล้วขายออกไปในราคาที่สูงกว่า ดังนั้นในช่วงที่ดอกเบี้ยปรับตัวลดลงรวมถึงมุมมองในอนาคตที่ดอกเบี้ยอาจจะลดลงไปได้อีก ราคาทองคำจึงสามารถเฉิดฉายได้ในช่วงนี้
อีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาทองคำนั้นก็คืออุปสงค์และอุปทาน (demand /supply) ของทองคำ ซึ่งทองคำเป็นสินทรัพย์ที่สามารถผลิตออกมาได้จำกัด แต่ความต้องการทองคำของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาพบว่ามีการซื้อสะสมอย่างต่อเนื่อง ในปี 2019 ถึงแม้ด้านความต้องการทองคำเพื่อการบริโภคเช่น ทองคำแท่ง จิเวลลี่ จะลดลง แต่การเข้าถือครองหน่วยลงทุน ETF ที่ลงทุนในทองคำก็เติบโตสูงเช่นกัน สำหรับเหตุผลหลักในการสะสมทองก็มาจากว่าทองคำเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยกระจายความเสี่ยง มีความปลอดภัย และเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเช่นกัน
สำหรับความไม่แน่นอนด้านการเติบโตของเศรษฐกิจโลก อัตราเงินเฟ้อที่ไม่สูง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ และมีจำนวนเงินลงทุน 13.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ที่ลงทุนในตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนติดลบ เมื่อพิจารณาถึงแนวโน้มการถือครองทองคำของธนาคารกลางและรวมถึงนักลงทุนที่มีอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นปัจจัยที่ทำให้ทองคำดูมีความน่าสนใจ คำแนะนำคือควรมีการลงทุนทองคำให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสมจะช่วยให้พอร์ตโฟลิโอมีผลตอบแทนปรับด้วยความเสี่ยงที่ดีขึ้น
สำหรับผู้ลงทุนที่ประสงค์ที่จะเพิ่มการกระจายความเสี่ยงในพอร์ตโฟลิโออาจพิจารณาเพิ่มทองคำเป็นส่วนหนึ่งของการลงทุน โดยมีสัดส่วนที่เหมาะสมประมาณ 5%-10% ของพอร์ตโฟลิโอ
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา