ทองคำ ถือเป็นการลงทุนที่คนไทยคุ้นเคย แม้ต้นปีนี้ราคาทองขึ้นมาอยู่ที่ 19,000 บาท/บาท แต่ทิศทางข้างหน้าจะเป็นอย่างไร?
ศูนย์วิจัยทองคำชี้สัปดาห์นี้ราคาทองจะขึ้น
ศูนย์วิจัยทองคำ สรุปรายงานของสัปดาห์นี้ (7-11 ม.ค.) ว่า จากการสำรวจความเห็นผู้เชี่ยวชาญในตลาดทองคำ (เช่น บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ฟิวเจอร์ส จำกัด บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยนแอนด์ฟิวเจอร์ส จำกัด ฯลฯ) กว่า 80% คาดว่าสัปดาห์นี้ราคาทองคำจะเพิ่มขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองได้แก่
- การเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน
- ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยสถาบันจัดการอุปทาน (ISM) จะเปิดเผยดัชนี PMI ภาคบริการ และ ดัชนีราคา ผู้ผลิต (PPI) รวมทั้งดัชนีผู้บริโภค (CPI) เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ของสหรัฐฯ ซึ่งจะสะท้อนถึงแนวโน้ม อัตราเงินเฟ้อ
- รายงานการประชุม FOMC Meeting Minutes ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะทำให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ
นอกจากนี้ต้องจับตามอง ร่างงบประมาณของสหรัฐฯ ซึ่งหากมีทิศทางที่ดีจะหยุดภาวะ Shut Down ของสหรัฐฯ แม้จะกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ แต่จะส่งผลดีให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้นในระยะสั้นอาจจะเห็นทิศทางบวกในสัปดาห์หน้า
อย่างไรก็ตามวันที่ 8 ม.ค. 2562 ราคารับซื้อทองคำแท่งอยู่ที่ 19,400 บาท/บาท ลดลงเล็กน้อยจากวันที่ 7 ม.ค. ที่อยู่ 19,450 บาท/บาท ในขณะที่ราคาทองรูปพรรณรับซื้ออยูที่ 19,056 บาท/บาท ลดลงจากเมื่อวานที่อยู่ 19,101 บาท/บาท
บล.โกลเบล็กมองราคาทองโลกชะลอตัวรับผล Fed ชะลอขึ้นดอกเบี้ย
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก (GBS) บอกว่า ราคาทองคำมีแนวโน้มชะลอตัว หลังจากประธาน Fed ประกาศชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมถึงปรับแผนเพื่อลดงบดุล เพื่อไม่ให้กระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้นักลงทุนในตลาดเทขายสินทรัพย์ปลอดภัย (เช่น ทองคำ ฯลฯ) และกลับเข้าเก็งกำไรในตลาดหุ้น
อย่างไรก็ตามต้องจับตามองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ของโลก ทั้งจีนที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะชะลอตัว ซึ่งฟื้นตัวยากเพราะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และสหรัฐฯ ที่มีความขัดแย้งด้านการเมืองจนกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ
คาดการณ์แนวโน้มราคาทองคำเริ่มเข้าสู่ภาวะพักตัว แต่มีโอกาสจะขึ้นไปแกว่งเหนือ 1,300 ดอลลาร์ โดยราคาในประเทศจะถูกกดดันมากขึ้นด้วยการแข็งค่าของเงินบาท คงคำแนะนำให้เล่น swing long และทยอยปิดทำกำไรเป็นระยะๆ ในกรอบ 1,270-1,300 ดอลลาร์
สรุป
ราคาทองคำไม่ได้ขึ้นอยู่กับดีมานส์ซัพพลายในประเทศเหมือนในอดีตแล้ว แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยระดับโลกตั้งแต่ดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ การเคลื่อนไหวของเงินทุนทั่วโลก จะลงทุนทองต้องลองอ่านข้อมูลหลายๆ ทางดู
ที่มา ศูนย์วิจัยทองคำ, บริษัทหลักทรัพย์โกลเบล็ก
ติดตามข่าวสารจาก Brand Inside ได้จาก Facebook ของเรา